“ฮินดู” กิน “วัว” การเมืองเรื่องอาหารในอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ภาพจาก http://solidcrystal.blogspot.com/2015/09/blog-post_55.html

ใครก็รู้ว่า ฮินดูมีข้อห้ามรับประทานเนื้อวัว ซึ่งรวมถึงไม่ให้ฆ่าวัวด้วย การฆ่า (และกิน) วัวถือกันว่าเป็นบาปหนัก (ปาตกะ) แต่ก็ไม่ใช่บาปที่สุดแบบอนันตริยกรรม ที่เรียกว่า “มหาปาตกะ” เท่าฆ่าพราหมณ์ (เรียกว่า พราหมณะทหัน)

แม้จะไม่ใช่บาปที่สุด แต่ก็ถือเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างมากในปัจจุบัน

ชาวฮินดูในประเทศอินเดียกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นมังสวิรัติ โดยเฉพาะวรรณะสูง กินแต่ถั่วงานมเนย ที่ทานเนื้อสัตว์ก็ทานปลา ไก่และแกะ แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก

เนื้อหมูเขาก็ไม่ค่อยกินกันครับ การไม่กินหมูเป็นคติเดิมของฮินดูเอง เพราะในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ระบุว่าไม่ควรกินหมูบ้าน แต่ไม่ห้ามกิน “หมูป่า” ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ เพราะเห็นว่าหมูบ้านนั้นสกปรกกว่าหมูป่า

ต่อเมื่ออิสลามเข้ามาในดินแดนอินเดีย การกินหมูยิ่งกลายเป็นสิ่งต้องห้ามขึ้นไปอีก

แต่ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายและหลักปฏิบัติของฮินดูโบราณ กล่าวว่า “น มางฺสภกฺษเณ โทโษ น มทฺเย น จ ไมถุเน, ปฺรวฤติเรษา ภูตานำ นิวฤติสฺตุ มหาผลา” แปลว่า การกินเนื้อสัตว์ ดื่มสุราและเสพเมถุนไม่เป็นโทษ เพราะเป็นปกติของสัตว์ทั้งหลาย แต่การละเว้นย่อมเป็นผลบุญใหญ่

มีหลักฐานจากคัมภีร์และวัฒนธรรมหลายกลุ่ม แสดงให้เห็นว่าคนฮินดูแต่เดิมจึงไม่ใช่นักมังสวิรัติ และกินเนื้อสัตว์กันโดยทั่วไปไม่ว่าวรรณะไหน

การกลายเป็นนักมังสวิรัติ มาจากสองสาเหตุ เรื่องแรก คืออิทธิพลของพุทธศาสนา ซึ่งเน้นหลักอหิงสาและเมตตาธรรม เช่นเดียวกับศาสนาไชนะ และทำให้พราหมณ์ต้องปรับตัวอย่างมากจนเริ่มคติการถือมังสวิรัติกันแพร่หลาย

อีกส่วนคือ เรื่องความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสภาพทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากการกินมังสวิรัติเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและทรัพยากรที่มีจำกัดในอินเดีย โดยเฉพาะภาคเหนือ

ปัจจุบันพราหมณ์พังคลีและพราหมณ์ภาคใต้บางพวกยังกินปลาบางชนิด เช่น ปลาตะเพียน โดยไม่ถือว่าผิดบาปอะไร เพราะเขาว่ามันเป็นของบริสุทธิ์ (ศัพท์พราหมณ์ว่า ปวิตระ) และบรรพบุรุษก็กระทำสืบมาแบบนี้

ที่จริง ผมสมควรจะบอกด้วยว่ามีรัฐเดียวในอินเดียปัจจุบันที่ชาวฮินดูเขากินวัวกันเป็นเรื่องปกติครับ และยังเป็นรัฐที่อนุญาตให้ฆ่าวัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือรัฐ เกรละ ในภาคใต้ของอินเดีย

ชาวเกรละ บอกว่าการกินเนื้อวัวเป็นประเพณีของเขามายาวนานแล้ว ซึ่งโดยวัฒนธรรมก็เป็นรัฐที่รักษาขนบดั้งเดิมแบบก่อนฮินดูไว้มาก

อีกทั้งรัฐเกรละมีการปกครองระบบสังคมนิยมและเป็น ฆราวาสนิยม (secularism) เข้มข้น รัฐจึงไม่เข้ามายุ่มย่ามกับเรื่องความเชื่อของประชาชน

นอกนั้นเกือบทุกรัฐมีกฎหมายเกี่ยวกับการฆ่าวัว เข้มงวดมากน้อยแตกต่างกันไป บางรัฐห้ามการฆ่าวัวเด็ดขาด บางรัฐผ่อนปรนให้มีการจำกัดการฆ่า โดยเฉพาะในส่วนชุมชนมุสลิม บางรัฐอนุญาตแค่การนำเข้า

แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า คนฮินดูกินเนื้อวัวกันมาก่อนอยู่แล้ว และยังฆ่าวัวเพื่อบูชายัญต่อเทพเจ้า ในคัมภีร์ฤคเวทมีหลายแห่งที่แสดงว่าชาวอารยันฆ่าและกินวัว และมีเทพบางองค์ที่โปรดปรานเนื้อวัว อย่างพระอินทร์ (ในพระเวท)

นอกจากคัมภีร์พระเวท คัมภีร์อื่นๆ เช่น อปัสตัมพคฤหยสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์แสดงพิธีกรรมสำหรับคฤหัสถ์ ยังกล่าวว่าให้เจ้าบ้าน “ล้มวัว” เมื่อมีแขกมาเยือน เมื่อมีพิธีศราทธ และมีพิธีการแต่งงาน หรือในคัมภีร์แพทยศาสตร์ยังแนะนำให้มีการปรุงเนื้อวัวเพื่อรักษาโรคบางอย่าง

แม้แต่พิธีกรรมบูชาเทพเจ้าของชาวฮินดูในปัจจุบัน เมื่อถึงขั้นตอนที่จะถวายอาหาร (ไนเวทยํ) ซึ่งล้วนเป็นขนมมังสวิรัติและผลไม้ ในสายที่ครูบาอาจารย์ของผมเรียนมา พราหมณ์จะทำ “มุทรา” หรือ “ท่ามือ” สองท่าเบื้องหน้าเทพ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมถวายอาหาร ได้แก่ มัสยมุทรา และ เธนุมุทรา

“มัสยะ” แปลว่า “ปลา” ส่วน “เธนุ” หมายถึง “โค”

อันนี้ชัดเลยครับว่าทุกวันนี้ชาวฮินดูส่วนมากไม่ได้ถวาย “เนื้อและปลา” จริงๆ ต่อเทพแล้ว จึงใช้การทำมุทราถวายสองสิ่งนี้โดยจินตภาพแทน แต่เพราะเป็นธรรมเนียมโบราณ จะทิ้งก็ไม่ได้ จะถวายจริงก็ไม่ได้อีก เลยมีทางออกแบบนี้

จึงเป็นหลักฐานอีกอย่าง ว่าสมัยก่อนนั้นทั้งเนื้อและปลาเป็นของในพิธีกรรมและกินกันโดยทั่วไป

วัวสำหรับชาวอารยัน มีสถานะเป็น “ปศุสัตว์” คือสัตว์เลี้ยงในระบบครัวเรือน และถือเป็นทรัพย์สมบัติที่แสดงเศรษฐสถานะได้

แม้จะมีบางแห่งในพระเวท เขียนว่าแม่วัวเป็นสิ่งไม่ควรถูกฆ่า แต่ก็มิใช่เป็นห้ามการกินเนื้อวัวอย่างเด็ดขาด เพียงแต่เป็นการปรามไว้ในเชิงประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ใช้ในการกสิกรรม แรงงานและในแง่ผลผลิตมากกว่า

แม่โคให้ผลผลิตที่สำคัญต่อครัวเรือนอินเดีย ให้นมซึ่งนำมาทำเนยและโยเกิร์ต ฉี่ (โคมูตร) ซึ่งใช้รักษาโรค และมูล (โคมัย) ใช้เป็นเชื้อเพลิงและสมุนไพร

พราหมณ์มีชื่อเรียกของทั้งห้าอย่างนี้ว่า “ปัญจคัภย์” หรือของจากโคห้าอย่าง นอกจากมีประโยชน์สารพัดนับถือกันว่าบริสุทธิ์สะอาดชำระบาปได้

แล้วเหตุใดวัวจึงกลายมาเป็น “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” กลายเป็น “โคมาตา” ของฮินดู อีกทั้งการฆ่าการกินกลายเป็นเรื่องร้ายแรง

มีความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วนในสังคมไทยว่า ที่ชาวฮินดูถือว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่กินไม่ฆ่า เพราะวัวเป็นสัตว์พาหนะของพระศิวะ และเป็นเทพนนทิ

ถ้าใช้เหตุผลเดียวกันนี้ จะมีของที่ชาวฮินดูกินใช้ไม่ได้อีกมาก ไม่ว่าจะหมูป่า (วราหาวตาร) ปลากราย (มัสยาวตาร) แพะ (พระทักษะมีหัวเป็นแพะ) ไก่ (พาหนะของพหุชละเทวี) ต้นกะเพรา (พระแม่ตุลสี) ต้นไม้อีกมากมายหลายชนิด น้ำจากแม่น้ำ (ล้วนแต่เทวี) ฯลฯ

แต่เขาก็กินใช้สิ่งเหล่านี้กันเป็นปกติ ดังนั้น ลำพังแค่เทวตำนานอาจไม่ใช่เหตุผลมากพอที่จะทำให้วัวศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้

เพราะเป็นเพียงแต่ตัวช่วยส่งเสริมและสร้างพื้นฐานรองรับความสำคัญของวัวในทางศาสนามากกว่า

เหตุที่วัวกลายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่จริงเป็นการเมืองเรื่องศาสนาด้วย

ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2558) มีการฆาตกรรมชายมุสลิมคนหนึ่งที่ฆ่าและกินเนื้อวัวในเดลี มีการทำร้ายผู้หญิงมุสลิมคนหนึ่งขณะที่เธอหิ้วถุงที่คนเข้าใจว่าเป็นเนื้อวัวบนรถไฟ ยังไม่นับม็อบประท้วงกฎหมายและการอนุญาตให้มีการฆ่าวัว ที่เกิดขึ้นเสมอในอินเดีย

ความรุนแรงเช่นที่ว่านี้ค่อยๆ บ่มเพาะขึ้นด้วยปัจจัยทางประวัติศาสตร์และการเมืองอินเดีย

ดร.DN Jha นักประวัติศาสตร์เห็นว่าหลังราชวงศ์เมายะและสมัยคุปตะ พราหมณ์เริ่มไม่ค่อยเห็นด้วยกับการฆ่าวัว เหตุผลหนึ่งคือต้องการแข่งขันกันกับพุทธศาสนา จึงต้องแสดงให้เห็นว่าพราหมณ์เองมีท่าทีเมตตาธรรมเช่นเดียวกัน

อีกทั้งการส่งเสริมอำนาจของพราหมณ์และความแตกต่างระหว่างวรรณะ ทำให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับความบริสุทธิ์มีความสำคัญยิ่งขึ้น การฆ่าและการกินวัวกลายเป็นเรื่องของคนวรรณะต่ำ (และเป็นมาจนบัดนี้) ในขณะที่พราหมณ์ละเลิกเนื้อสัตว์บนโต๊ะอาหาร เพื่อแสดงถึงความสูงส่งของตน

ช่วงยุคกลางของอินเดียซึ่งมีการเข้ามาของผู้ปกครองชาวมุสลิม การกินและไม่กินวัวกลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แยกชาวฮินดูกับมุสลิมออกจากกัน และการฆ่าวัวได้กลายเป็นเรื่องร้ายแรงที่ผู้ปกครองรัฐเองยังต้องระมัดระวัง

ต่อมาในช่วงรุ่งเรืองของอาณาจักรฮินดูมาราฐา นำโดยฉัตรปติศิวาจีผู้ต่อต้านจักรพรรดิโมกุล ศิวาจีได้ชื่อว่า “ผู้รับใช้พราหมณ์และวัว” วัวก็ยิ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนามากขึ้น

ครั้นถึงช่วงอังกฤษปกครองอินเดียในปลายศตวรรษที่ 19 ชาวสิกข์นามธารีและฮินดูใช้วัวเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันในการต่อต้านอังกฤษ ซึ่งออกกฎหมายอนุญาตให้มีการฆ่าวัวในรัฐปัญจาบ

หลังได้รับเอกราชจนถึงทุกวันนี้ กลุ่มศาสนานิยมและชาตินิยมฮินดู เช่น RSS หรือ VHP ยังคงใช้วัวเป็นสัญลักษณ์ในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการส่งเสริม “ฮินดุสฺตวะ” (Hindustva) หรือการปกครองแบบฮินดู และใช้เป็นข้ออ้างในการจัดการกลุ่มความเชื่ออื่นๆ เช่น มุสลิม

การผลิตซ้ำเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของวัวจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งแง่มุมทางอารมณ์ เช่น ความสงสารและโกรธแค้นเมื่อมีการทำร้ายวัว (แบบเดียวกับที่สังคมไทยมักมีต่อกรณีการทารุณสุนัข)

ผมมิได้ปฏิเสธว่าวัวนั้นมีความสำคัญต่อสังคมอินเดียจริงๆ และมิได้จะชวนเชื่อใครให้กินเนื้อวัวทั้งนั้น ทว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของวัวแม้จะมีรากเหง้าอยู่บ้างในโลกโบราณ แต่ที่จริงแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ดังที่เชื่อกันนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ค่อยๆ สร้างโดยเป้าหมายทางการเมือง หรืออย่างน้อยๆ ก็มีนัยทางการเมืองอยู่

เรื่องนี้มีอุทาหรณ์เล็กๆ ว่า เราจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างไร

ก็การเมืองยังตามลงไปถึงในหม้อข้าวของเรา