วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (10)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ที่มาภาพ : https://chinahistorysg.files.wordpress.com

ขัณฑสีมาที่ขุ่นเคือง (ต่อ)

แน่นอนว่า ข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลางย่อมมีฐานะสูงกว่าข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น เช่นนี้แล้วหากบ้านเมืองเป็นปกติคงก็ไม่สู้กระไร แต่หากไม่ปกติก็ย่อมหมายความว่า ตำแหน่งทั้งสองอาจจะเผชิญหน้าเพื่อแข่งบารมีกันเอง หรือไม่ก็อาจมีการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนก็ย่อมได้

จากความเข้าใจข้างต้น โจวหรือมณฑลทั้ง 13 หน่วยในเวลานั้นจะมีข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นอยู่ 12 หน่วย และมีข้าหลวงผู้ตรวจการแผ่นดินส่วนกลางหนึ่งหน่วย

โดยในกรณีที่เป็นข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลางนี้จะไม่ระบุชื่อหน่วยปกครอง (โจวหรือมณฑล) แต่จะระบุเป็นชื่อตำแหน่งว่า ข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลาง (ซือลี่เสี้ยวเว่ย) แล้วจึงระบุอาณาบริเวณที่ข้าหลวงกลุ่มนี้มีอำนาจในการปกครอง

ที่สำคัญ โจวหรือมณฑล 13 หน่วย (สือซานโจว) นี้ล้วนมีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณกรรมสามก๊ก

ในที่นี้จึงนอกจากจะระบุชื่อหน่วยปกครองนี้เป็นเสียงจีนกลางแล้ว ก็จะได้ระบุชื่อเฉพาะ 12 หน่วยแรกที่เป็นสำเนียงจีนฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมไว้ด้วย โดยจะกำกับไว้ในวงเล็บหนึ่งครั้ง เพื่อให้ผู้ที่คุ้นเคยกับชื่อในวรรณกรรมได้เข้าใจ (ดังที่ก่อนหน้านี้ได้ระบุชื่อบุคคลบางคนตามเกณฑ์นี้ไปแล้วเช่นกัน)

ชื่อในเสียงจีนฮกเกี้ยนนี้มีบางหน่วยที่มีมากกว่าหนึ่งเสียง จนบ่อยครั้งได้ทำให้ผู้อ่านวรรณกรรมเข้าใจว่าเป็นคนละหน่วยปกครอง ทั้งที่จริงแล้วเป็นหน่วยปกครองเดียวกัน

ปัญหานี้ผู้รู้สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากวรรณกรรมสามก๊ก มีผู้แปลหลายคน แต่ละคนอาจออกเสียงต่างกันแล้วเขียนตัวสะกดตามสำเนียงที่ตนพูด เมื่อต่างคนต่างแปลแล้ว ชื่อหน่วยปกครองบางหน่วยจึงถูกระบุด้วยตัวสะกดที่ต่างกัน จนอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นคนละหน่วยปกครองไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หน่วยปกครองทั้ง 13 หน่วย มีดังนี้

 

1.โยวโจวหรือมณฑลโยว (อิวจิ๋ว) ตั้งอยู่ในบริเวณภาคเหนือของมณฑลเหอเป่ยและเหลียวหนิงรวมกัน นอกจากนี้ก็ยังรวมถึงอีกบางส่วนของเฉาเซียนทางภาคเหนือ ที่ในปัจจุบันนี้คือบริเวณภาคเหนือของคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งในสมัยราชวงศ์ฮั่นนับเป็นอำเภอหนึ่งของจีน

2. จี้โจวหรือมณฑลจี้ (กิจิ๋ว) ตั้งอยู่บริเวณภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยในปัจจุบัน

3. มณฑลปิ้ง (เป๊งจิ๋ว) ตั้งอยู่บริเวณส่วนใหญ่ของมณฑลซานซี และภาคเหนือบางส่วนของมณฑลส่านซี

4. เหลียงโจวหรือมณฑลเหลียง บางทีก็เรียกว่า ซีเหลียง (เลียงจิ๋ว, เสเหลียง) ตั้งอยู่บริเวณมณฑลกานซู่และหนิงเซี่ยในปัจจุบัน

5. ชิงโจวหรือมณฑลชิง (เชงจิ๋ว, เฉงจิ๋ว, เชียงจิ๋ว) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลซานตงในปัจจุบัน

6. เอี่ยนโจวหรือมณฑลเอี่ยน (กุนจิ๋ว, ยวนจิ๋ว, ขุนจิ๋ว) ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกของมณฑลซานตง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน

7. อี้ว์โจวหรือมณฑลอี้ว์ (อิจิ๋ว) ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลเหอหนาน และภาคเหนือของแม่น้ำหยางจื่อ (เจียงเป่ย) หรือแม่น้ำแยงซีของมณฑลอานฮุยในปัจจุบัน

8. สีว์โจวหรือมณฑลสีว์ (ชีจิ๋ว) ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลซานตง และภาคเหนือของแม่น้ำหยางจื่อในมณฑลเจียงซูในปัจจุบัน

9. หยางโจวหรือมณฑลหยาง (เอ๊งจิ๋ว, เอียงจิ๋ว, ยังจิ๋ว) ตั้งอยู่บริเวณภาคใต้ของแม่น้ำหยางจื่อที่ไหลผ่านมณฑลเจียงซูและอานฮุย กับอีกบางส่วนของมณฑลเจียงซี เจ้อเจียง และฝูเจี้ยนในปัจจุบัน

10. จิงโจวหรือมณฑลจิง (เกงจิ๋ว) ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเหอหนาน และอีกบางส่วนของมณฑลหูหนานและหูเป่ยในปัจจุบัน

11. อี้โจวหรือมณฑลอี้ (เอ๊กจิ๋ว) ตั้งอยู่บริเวณภาคใต้ของมณฑลส่านซี และอีกบางส่วนของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) กับอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ในปัจจุบัน

12. เจียวโจวหรือมณฑลเจียว (เกาจิ๋ว) ตั้งอยู่บริเวณมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) และกว่างซี (กวางสี) และยังรวมถึงเวียดนามในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยฮั่นถือเป็นอำเภอหนึ่งของจีน และ

13. เขตอำนาจของข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลางหรือซือลี่เซี่ยวเว่ย มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเหอหนาน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซานซี และภาคกลางของมณฑลส่านซี

 

ประเด็นสำคัญที่ควรกล่าวในที่นี้ก็คือว่า มณฑลหรือโจว 13 หน่วยดังกล่าวนี้มีเรื่องที่พึงคำนึงอยู่เสมอด้วยว่า ทั้งหมดนี้ยังมีหน่วยปกครองระดับรองลงมาและเป็นหน่วยที่ขึ้นต่อมณฑลเหล่านี้ ซึ่งอาจจะเป็นระดับอำเภอหรือเล็กกว่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือบ้านเล็กเมืองน้อยที่มีอยู่อีกมากมาย เมืองเหล่านี้มีความอุดมสมบูรณ์และจำนวนประชากรไม่เท่ากัน และต่างก็มีขุนนางปกครองอยู่เช่นกัน

เมื่อเข้าใจเกี่ยวกับหน่วยปกครองที่เรียกว่าโจวหรือมณฑลดังกล่าวแล้ว เรื่องราวที่จะได้กล่าวต่อไปนี้จะขอย้อนกลับไปที่เหตุการณ์การยึดอำนาจของต่งจว๋อเป็นจุดเริ่มต้น ที่ว่าเมื่อต่งจว๋อยึดอำนาจจากราชวงศ์ฮั่นไว้ในมือ และการปราบปรามกบฏโพกผ้าเหลืองและกบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋วยังคงดำเนินต่อไปอยู่นั้น ความไม่พอใจต่อพฤติกรรมของต่งจว๋อก็ได้เกิดแก่ขุนนางในมณฑลและเมืองต่างๆ ก็เกิดขึ้นโดยทั่ว

ความไม่พอใจที่มีต่อต่งจว๋อดังกล่าว ต่อมาได้นำมาซึ่งการแบ่งกลุ่มอำนาจทางการเมืองออกไปหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มต่างก็หมายมุ่งที่จะกำจัดต่งจว๋อให้ได้

เหตุผลเบื้องหน้าของกลุ่มอำนาจเหล่านี้ก็คือ เป็นเพราะต่งจว๋อกำลังใช้อำนาจแทนจักรพรรดิอย่างไม่ชอบธรรมและอย่างบิดเบือน ส่วนเหตุผลเบื้องหลังนั้นมีทั้งที่ต้องการกำจัดต่งจว๋อเพราะยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และทั้งที่อยากมีอำนาจเฉกเช่นที่ต่งจว๋อมี

จากเหตุนี้ กลุ่มอำนาจที่มีเหตุผลเบื้องหลังดังกล่าวจึงได้ขับตัวเองให้แสดงบทบาทออกมา และกลุ่มบุคคลเหล่านี้เองที่ต่อมาจะเป็นตัวละครสำคัญทั้งก่อน ระหว่าง และหลังยุคสามรัฐ

แน่นอนว่า บทบาทของตัวละครเหล่านี้ย่อมเป็นไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เพียงแต่เป็นความน่าตื่นตาตื่นใจในยามที่บ้านเมืองจีนกำลังเป็นทุรยุคเท่านั้น

จากสถานการณ์ที่กล่าวไปข้างต้น ในที่สุดก็ได้นำพาให้ต่งจว๋อกลายเป็นศูนย์กลางของความยุ่งยากที่จะได้เกิดขึ้นต่อไปในกาลข้างหน้า

 

ต่งจว๋อ (มรณะ ค.ศ.192) มีพื้นเพเดิมมาจากเมืองหลินเถาที่ปัจจุบันคืออำเภอหมิน (หมินเสี้ยน) ในมณฑลกานซู่ เมืองดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณชายแดนที่ติดกับถิ่นฐานของชนชาติเชียงแห่งทังกุต (Tangut Qiang) ต่งจว๋อเริ่มมีชื่อปรากฏก็ในตอนที่เขาเป็นผู้บัญชาการทหารรักษาการณ์ชายแดน

การปฏิบัติหน้าที่ของต่งจว๋อน่าจะเป็นที่พอใจของราชสำนักอยู่ไม่น้อย เพราะในสมัยจักรพรรดิฮั่นหวนตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.146-167) เขาเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายทหารรักษาวังหลวง

จากนั้นก็ก้าวขึ้นเป็นจางวางซึ่งรับใช้ใกล้ชิดองค์จักรพรรดิ และข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น (ชื่อสื่อ) ประจำมณฑลปิ้ง (ปิ้งโจว) และเป็นผู้บัญชาการทหารแห่งเหอตง อันเป็นดินแดนใจกลางของจักรวรรดิ

ช่วงที่เกิดกบฏโพกผ้าเหลือง ต่งจว๋อไม่เพียงจะปราบกบฏขบวนการนี้ได้เท่านั้น หากแต่ยังปราบกบฏมณฑลเหลียง (Liang Province Rebellion) ได้อีกด้วย

กบฏมณฑลเหลียงนี้อยู่ภายใต้การนำของขุนนางสองคนที่ประจำท้องถิ่นนี้ และเป็นกบฏที่ยืนหยัดต่อสู้กับราชวงศ์ฮั่นในระหว่าง ค.ศ.184-189 หรือประมาณห้าปี ซึ่งหากดูจากปีที่เกิดกบฏนี้แล้วจะเห็นได้ว่าอยู่ในช่วงเดียวกับที่เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองและกบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต่ว

ที่สำคัญคือ พลพรรคของกบฏนี้มิใช่ชนชาติฮั่น (จีน) แต่เป็นชนชาติเชียงและหู กบฏนี้จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการก่อกบฏจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นในสมัยฮั่นตะวันออก

 

ที่สำคัญในประการต่อมาคือ การปราบกบฏมณฑลเหลียงได้สำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ต่งจว๋อสามารถเข้าควบคุมมณฑลเหลียงกับพื้นที่ทางภาคเหนือของจีนได้อย่างเด็ดขาด พื้นที่นี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของราชวงศ์ฮั่นอย่างยิ่ง

ดังนั้น เมื่อต่งจว๋อควบคุมพื้นที่นี้ได้จึงทำให้อำนาจของเขาเพิ่มพูนยิ่งขึ้น ไม่ว่าเขาจะเจตนาเพื่อให้ได้ซึ่งสิ่งนี้หรือไม่ก็ตาม เช่นนี้แล้วต่งจว๋อจึงกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลขึ้นมาโดยปริยาย

อนึ่ง มณฑลเหลียงนี้ในบันทึกก็ดี วรรณกรรมก็ดี หรือการเรียกขานของนักวิชาการก็ดี นิยมเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ซีเหลียง (เหลียงตะวันตก) ดินแดนนี้ในสมัยนั้นเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะชนชาติเชียง

จากเหตุนี้ เมื่อต่งจว๋อเข้าควบคุมมณฑลนี้และพื้นที่ทางตอนเหนือได้แล้วนั้น ก็ยังหมายความถึงการควบคุมกองกำลังทหารที่เป็นชนชาติเชียงและชนชาติอื่นได้ด้วย

ดังนั้น ตอนที่ต่งจว๋อยกกำลังบุกเข้าเมืองลว่อหยางนั้น กองกำลังส่วนหนึ่งของเขาจึงมาจากชนชาติดังกล่าวอยู่ด้วย