E-DUANG : จาก แหวน ฐิติมา ถึง “ศิลปินแห่งชาติ”

 

การจากไปของ แหวน ฐิติมา นักร้องสาวขาร็อก ได้ก่อให้เกิดวิวาทะทางการเมืองร้อนแรง

ร้อนแรงไม่แพ้กรณี”3 ศิลปินแห่งชาติ”

เพราะปรากฏว่า แหวน ฐิติมา เคยคล้องนกหวีดเข้าร่วมเป่าตอน “ชัตดาวน์” กทม.ของ “กปปส.”

พลอยทำให้หลายคนปฏิเสธเพลงของ แหวน ฐิติมา

บางคนที่เคยชื่นชอบตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เมื่อมาแสดงความชื่นชอบก็ถูก “เหล่” จากเพื่อนฝูง

เป็นปฏิกิริยาที่คึกคักอย่างมาก

พลอยทำให้บรรยากาศในแบบ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” โชยกรุ่นมาอย่างมากด้วยสีสัน

เพียงแต่มิใช่ใน “จีน” หากเป็น “ไทย”

 

ท่าทีต่อบทเพลงของ แหวน ฐิติมา ก็เหมือนกับท่าทีต่อบทเพลงของ หงา คาราวาน

จะรังเกียจ “นกสีเหลือง” หรือ

จะรังเกียจ “ถั่งโถมโหมแรงไฟ” หรือจะรังเกียจต่อคำเพราะๆที่ว่า “เป็นสายธารที่ชุ่มป่า”

หรือแม้กระทั่งกวีอันเปี่ยมด้วยพลังอย่าง

ประวัติศาสตร์อาจมีในหลายด้าน แต่คนที่ทำงานไม่เคยจะเอ่ยออกนาม

จะมีชะตากรรมอย่างไร

นี่จะมิเป็นการประเมินผลงานในลักษณะ “ตัดตอน” ประวัติศาสตร์และความเป็นจริงในแต่ละห้วงเวลาไปหรือ

ยิ่งหากคิดถึง “ลิลิตพระลอ” ยิ่งต้องคิดอย่างหนัก

 

ระหว่าง “ตัวคน” กับ “ผลงาน” สมควรจะมีท่าทีอย่างไรจึงไม่เสียคุณค่า เสียประโยชน์

ตัวคนมีการ”แปรเปลี่ยน”แน่นอน

แต่ในแต่ละ “ผลงาน” ล้วนดำเนินไปอย่างมีลักษณะประวัติ ศาสตร์ที่แน่นอน

“รับใช้” ในแต่ละ “สถานการณ์”

การพิจารณาและประเมินผลงานจึงต้องคำนึงถึงบริบทอันเป็นสภาพความเป็นจริงในแต่ละห้วง และที่สำคัญยังควรให้โอกาส

โอกาสต่อ “ผลงาน” โอกาสต่อ “คน”