การศึกษา / ทปอ.ยกเครื่องระบบทีแคส 2565 โละ ‘โอเน็ต’ – คัด 4 รอบ 4 รูปแบบ

การศึกษา

ทปอ.ยกเครื่องระบบทีแคส 2565

โละ ‘โอเน็ต’ – คัด 4 รอบ 4 รูปแบบ

เรียบร้อยโรงเรียน ทปอ.ไปแล้ว หลังที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติ “เห็นชอบ” แนวทางการคัดเลือกในระบบในการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2565

โดยปรับการสอบให้มีปริมาณที่ลดน้อยลง และลดการสอบคัดเลือกให้เหลือเพียง 4 รอบ 4 รูปแบบ จากเดิม 4 รอบ 5 รูปแบบ…

ซึ่งการคัดเลือกทั้ง 4 รอบ และ 4 รูปแบบ มีดังนี้

รอบที่ 1 พอร์ตโฟลิโอ

รอบที่ 2 โควต้า

รอบที่ 3 แอดมิสชั่นส์

และรอบที่ 4 รับตรงอิสระ

โดยยกเลิกแอดมิสชั่นส์ 2 ในรอบที่ 3

นอกจากนี้ การคัดเลือกนิสิต-นักศึกษา ทั้ง 4 รอบ จะ “ยกเลิก” การใช้คะแนน “โอเน็ต” หรือคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกอีกด้วย

เนื่องจากคะแนนโอเน็ตยังไม่มีความแน่นอน ภายหลังจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการปรับรูปแบบการวัดผล โดยได้มอบหมายให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ไปพัฒนารูปแบบการวัดผลให้ใหม่

นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการ ทปอ.ระบุว่า การปรับรูปแบบทีแคสที่จะใช้ปีการศึกษา 2565 จะ “ยกเลิก” การรับผ่าน “แอดมิสชั่นส์ 2” ในรอบที่ 3 และยกเลิกการใช้คะแนน “โอเน็ต” มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก โดย “มหาวิทยาลัย” จะเป็นผู้กำหนด “องค์ประกอบ” ในการรับนิสิต-นักศึกษาเอง ซึ่งจะต้องมีการปรับในส่วนขององค์ประกอบใหม่

โดย ทปอ.พยายามประสานให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนดจำนวนวิชาสอบให้น้อยลง คาดว่าแต่ละแห่งจะประกาศองค์ประกอบ และปฏิทินการรับสมัครในแต่ละรอบได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้…

อย่างไรก็ตาม ทปอ.ยังคงหลักการให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา ดังนั้น การสอบเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการเข้าเรียนต่อ จะเริ่มหลังนักเรียนจบชั้น ม.6 ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

ขณะเดียวกันจะ “ปรับ” เนื้อหาข้อสอบ เน้นการนำไปใช้มากขึ้น เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียนในห้องเรียน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเด็กไม่จำเป็นต้องไปกวดวิชา!!

 

ทั้งนี้ การยกเลิกและไม่นำผลคะแนน “โอเน็ต” มาใช้เป็นองค์ประกอบ สืบเนื่องมาจากการบริหารงาน ศธ.ในยุคที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีนโยบายให้ สทศ.ไปวางแนวทางการจัดสอบโอเน็ตใหม่ โดยอาจใช้วิธีสุ่มสอบนักเรียนชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 จะทำให้นักเรียนชั้น ม.6 บางคนไม่มีคะแนนโอเน็ต

ซึ่ง ทปอ.ในขณะนั้น ยังคงยืนยันจะนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ในการคัดเลือกรอบแอดมิสชั่นส์ โดยจะให้น้ำหนัก 30% เพราะหากจะยกเลิก หรือปรับองค์ประกอบในการคัดเลือก ทปอ.จะต้องแจ้งล่วงหน้า 3 ปี ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังอยู่ระหว่างปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมาเป็นหลักสูตรสมรรถนะ เพิ่มทักษะการมีงานทำ ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา และยังตรงกับความต้องการของสถานประกอบการอีกด้วย

ฉะนั้น ทปอ.จึงมองว่าการคัดเลือกนักศึกษาด้วยระบบทีแคส จะต้องปรับเพิ่มข้อสอบ Thai General Aptitude Test (TGAT) ที่เป็นข้อสอบที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ไม่เน้นความรู้ทางวิชาการเชิงลึก แต่เน้นทักษะ การคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และมีเหตุผล

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงแพร่ระบาดในไทย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังเริ่มต้นการแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่นของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปลายปี 2562 และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง แต่กลับมีการแพร่ระบาดในระลอก 2 และระลอก 3 อย่างต่อเนื่อง

ทำให้สถานศึกษาทั่วประเทศต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนครั้งใหญ่ จากเดิมที่เรียนในห้องเรียนปกติ ต้องหันมาเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขณะที่การเรียนรู้ของนักเรียนก็ไม่เต็มร้อย และอุปกรณ์ที่ใช้ก็ไม่เท่าเทียมกัน

ดังนั้น นักเรียนกลุ่มต่างๆ จึงออกมาเคลื่อนไหวให้เลื่อนการสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.6 หรือยกเลิกการนำคะแนนโอเน็ต มาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกนิสิต-นักศึกษาในระบบทีแคส

หลังนายณัฐฏพลได้รับเสียงสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาการจัดการเรียนการสอนผ่านรูปแบบต่างๆ ในขณะนั้น ก็มีทีท่าโอนอ่อนผ่อนตามเสียงเรียกร้องของนักเรียน

แต่ติดตรงที่ “มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นผู้คัดเลือก และรับนิสิต-นักศึกษา ยังนั่งยัน ยืนยัน ถึงความจำเป็นในการใช้ผลคะแนนโอเน็ต เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกในระบบทีแคส!!

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ ทปอ.จะมีมติยกเลิกการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกในระบบทีแคส ปีการศึกษา 2565 อย่างเป็นทางการ ก่อนหน้านี้ ทปอ.ได้รับแจ้งจากนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ให้ ทปอ.ปรับปรุงระบบทีแคส ปีการศึกษา 2565 เนื่องจาก ศธ.มีนโยบายให้ยกเลิกการสอบโอเน็ตชั้น ม.6

เมื่อ ทปอ.มีมติให้ยกเลิกการใช้ผลคะแนนโอเน็ตชั้น ม.6 ในการคัดเลือกในระบบทีแคสแล้ว สิ่งที่ ทปอ.ต้องกังวลต่อไปคือ คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรชั้นมัธยมปลาย หรือ GPAX ที่ถูกนำมาใช้เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือก ก็มีแนวโน้มต้องถูกยกเลิกเช่นกัน เพราะ ทปอ.มองว่าไม่สามารถนำ GPAX มาใช้ในการคัดเลือกได้โดยตรง เนื่องจากสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศมีคุณภาพมาตรฐานไม่เท่ากัน และบางแห่งยังมีปัญหาปล่อยเกรด

อีกทั้งการคัดเลือกนิสิต-นักศึกษาที่ผ่านมา ทปอ.ต้องใช้คะแนนโอเน็ตในการถ่วงน้ำหนักของ GPAX เพื่อให้มาตรฐานของคะแนนใกล้เคียงกัน แต่เมื่อยกเลิกคะแนนโอเน็ต ทปอ.จึงจำเป็นต้องยกเลิกการใช้ GPAX ด้วย

ดังนั้น ระบบทีแคสในปีการศึกษา 2565 จะใช้องค์ประกอบไหนมาทดแทนผลคะแนนโอเน็ต และ GPAX เพื่อใช้ในการคัดเลือก ทปอ.จึงมอบให้คณะ/สาขาวิชาต่างๆ เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ และองค์ประกอบ ว่าจะใช้องค์ประกอบใดบ้าง ในสัดส่วนเท่าใด

ทั้งคะแนนจากการสอบ 9 วิชาสามัญ การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT!!

 

นอกจากนี้ ระบบทีแคสในปีการศึกษา 2566 ทปอ.ยังมีแนวโน้มที่จะปรับการสอบ และปรับเนื้อหาข้อสอบทั้งหมด เพราะเห็นว่าปัจจุบันข้อสอบยาก และออกเกินเนื้อหาที่เรียนในห้องเรียน ทำให้เด็กส่วนหนึ่งยังต้องไปเรียนกวดวิชา ที่เน้นรูปแบบการทำข้อสอบมากกว่าความเข้าใจ ทำให้ไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ได้จริง

โดยข้อสอบที่ปรับใหม่ จะเน้นการนำไปใช้ได้จริงๆ ในชีวิตประจำวัน

ต้องติดตามว่า การปรับรูปแบบการคัดเลือกของระบบทีแคส และองค์ประกอบในการคัดเลือก ในปีการศึกษา 2565 จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

สามารถคัดเลือกนิสิต-นักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมได้จริงหรือไม่!!