โลกมุมเดียว : หน้า 8

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของปัญหาที่เกิดจาก “ความเคยชิน”

อาจเป็นเพราะการบริหารงานในกองทัพต้องใช้ความเด็ดขาด

ใช้ “อำนาจ” สั่งการเป็นหลัก

“ความเคยชิน” ดังกล่าวจึงสืบเนื่องต่อเมื่อคนในกองทัพมาเป็นรัฐบาล

อยากได้อะไรแบบไหนก็สั่งการอย่างเฉียบพลัน

เด็ดขาด เด็ดเดี่ยว

มุ่ง “เป้าหมาย” แต่ลืม “ผลกระทบ”

ไม่เข้าใจการใช้ชีวิตและความรู้สึกของ “ประชาชน”

ตัวอย่างที่ชัดเจนในอดีตก็คือ เรื่องห้ามนั่งท้ายรถกระบะสาดน้ำในวันสงกรานต์

เพราะคิดในมุมเดียว คือ เรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง

แต่ลืมนึกถึงชีวิตจริงของชาวบ้านในต่างจังหวัดที่ใช้รถกระบะในการเดินทางเป็นหลัก

สุดท้าย คำสั่งเรื่องรถกระบะในวันสงกรานต์

ก็หายไปกับ “สายน้ำ”

เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจ

ถ้าจำได้ในช่วงแรกๆ ของรัฐบาลชุดนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เคยประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2558

จะทำให้ราคายางสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 80 บาทภายใน 1 เดือน

“ถ้าไม่มั่นใจจะมาแถลงข่าวได้อย่างไร”

แต่สุดท้ายก็เป็นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

เพราะเศรษฐกิจในโลกของการค้าเสรีนั้นสั่ง “ซ้ายหัน-ขวาหัน” ไม่ได้

เช่นเดียวกับเรื่อง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ที่ใช้ความเด็ดขาดจัดการแบบถอนรากถอนโคนแทนที่จะค่อยเป็นค่อยไป

ลืมผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา

การท่องเที่ยวที่เคยเป็น “เครื่องยนต์” สำคัญของเศรษฐกิจไทยจึงปักหัวลงหลายเดือน

กว่าจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องแรงงานต่างด้าวก็เช่นกัน

รัฐบาลออก พ.ร.ก. ที่เล่นงานทั้งนายจ้างและลูกจ้างอย่างหนัก

มองมุมเดียว คือ เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานเถื่อนไม่ให้ไทยถูกตอบโต้ทางการค้า

พ.ร.ก. นี้จึงเล่นหนัก

ลูกจ้างโดนปรับ 2-3 แสนบาท

นายจ้าง 4-8 แสนบาท

เด็ดขาดเหมือนเดิม ออก พ.ร.ก. ปั๊บ ให้มีผลทันที

มองโลกในมุมเดียว ลืมผลกระทบที่ตามมา

สุดท้ายก็เรียบร้อย ปั่นป่วนไปทั่วประเทศ

รัฐบาลลืมไปว่าแรงงานต่างด้าวนั้นเป็น “เส้นเลือด” ของเศรษฐกิจไทย

ตั้งแต่ธุรกิจระดับล่างจนถึงระดับชาติ

ในที่สุดก็ต้องรีบเหยียบเบรกด้วยการใช้มาตรา 44 ชะลอการใช้ พ.ร.ก. นี้ไปอีก 6 เดือน

ที่น่าสนใจก็คือ “นายกรัฐมนตรี” ที่ออก พ.ร.ก. ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์”

และคนที่ใช้มาตรา 44 ชะลอ พ.ร.ก. คือ ประธาน คสช.

ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เหมือนกัน