ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
เศรษฐกิจ
กรุงไทยยืนยันไม่มีลับๆ ล่อๆ
บิ๊กดาต้า แอพพ์เป๋าตัง…ฐานข้อมูลรัฐ
ใช้ต่อยอดโครงการตรงจุด…อุดกลโกง
จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สังคมได้พัฒนาเข้าสู่ระบบยุคดิจิตอล ภาครัฐก็ต้องพัฒนาระบบการทำงานต่างๆ ให้ทันกับสมัย และรองรับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยเฉพาะระบบออนไลน์ และการลดขั้นตอนการทำงานของระบบราชการให้สะดวกสบายมากขึ้น
รวมทั้งพัฒนาระบบการชำระเงิน โดยเรียกว่า ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐ หรือจี-วอลเล็ต บนแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อใช้อำนวยความสะดวกให้กับโครงการของรัฐบาล ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นดิจิตอลแพลตฟอร์ม ระบบเปิด ที่ทุกคนเข้ามาใช้งานได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้ากรุงไทย
และเมื่อเกิดสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ปี 2563 รัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 รวมทั้งพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ (นิวนอร์มอล ) ส่งผลกระต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โรงงานที่ต้องหยุดชั่วคราว หรือร้านค้า ตลาดเงียบเหงาลง
รัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วยเรื่อยมาข้ามมาอีกปี ในปี 2564 เพราะการระบาดโควิดยังไม่หยุด และทำท่าจะรุนแรงขึ้น
มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจล่าสุดที่จะเริ่มดำเนินการใช้ช่วงปลายปีนี้ มี 4 มาตรการ ได้แก่
1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ประมาณ 13.65 ล้านคน จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 6 เดือน รวมเป็นวงเงิน 16,300 ล้านบาท
2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทั้งผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่ไม่สามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง และไม่สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นเป๋าตังจากโครงการเราชนะ ประมาณ 2.5 ล้านคน จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 6 เดือน รวมวงเงิน 3,000 ล้านบาท
3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวน 31 ล้านคน รับวงเงิน 3,000 บาทต่อคน ใช้งบประมาณ 93,000 ล้านบาท
และ 4. โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ให้สิทธิ 4 ล้านคน ได้รับวงเงินสนับสนุนเป็นบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-วอยเชอร์ สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ใช้งบประมาณรวม 28,000 ล้านบาท
รวมทั้ง 4 โครงการคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จำนวน 473,300 ล้านบาท ช่วยขยายการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 ได้มากกว่า 1% จาก 2.3% ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ไว้
รัฐบาลได้นำแอพพ์เป๋าตังมาใช้เป็นช่องทางการโอนเงินในโครงการต่างๆ ตั้งแต่เริ่มโครงการคนละครึ่ง ระยะแรก (เฟสแรก) จนถึงปัจจุบัน เพื่อทำให้คนไทยคุ้นชินกับธุรกรรมการเงินยุคดิจิตอลที่ต่อไปจะกลายเป็นเรื่องนิวนอร์มอลในชีวิตประจำวัน ตอบสนองนโยบายรัฐผลักดันประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินคน และช่วยลดการสัมผัสที่เป็นต้นทางให้เกิดการระบาดของโควิด นอกเหนือจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยร้านค้าค้าขายได้ต่อไปในห้วงเวลาไม่ปกติเช่นนี้ และสุดท้ายช่วยให้เงินยังหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้
โครงการคนละครึ่งถือเป็นมาตรการรัฐที่ครองความนิยมสูงสุด ตั้งแต่เฟสแรก ต่อเฟส 2 มีผู้เข้าร่วมเกือบ 15 ล้านคน และกำลังจะเริ่มใช้เฟส 3 ที่มีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนแล้วกว่า 28 ล้านคน
ความสำเร็จนี้ รัฐบาลได้นำจี-วอลเล็ตในแอพพ์เป๋าตังไปใช้โครงการอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เพื่อบรรเทาคนไทยที่รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ทั้งโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน ที่ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้สิทธิเยียวยาด้วย
ขณะที่ผู้ประกันตนกำลังเพลิดเพลินกับการจับจ่ายเพื่อให้เงินหมุนไปในระบบ ก็เกิดกรณีแอพพ์เป๋าตังขึ้นข้อความให้อัพเดตระบบล่าสุด โดยกำหนดให้ผู้ใช้งานเลือกให้ความยินยอมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อใช้ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ผลิตภัณฑ์ และบริการของธนาคาร กลุ่มธุรกิจการเงินและพันธมิตร จึงจะสามารถดำเนินการใช้เงิน ม.33 ในแอพพ์เป๋าตังได้ต่อไป
กระทั่งเกิดกระแสบนโลกโซเชียลถึงความไม่สบายใจต่อการต้องกดยินยอม แลกกับการได้ใช้เงินในโครงการ ม.33 ในที่สุดธนาคารกรุงไทยได้ยินยอมให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยผู้ใช้แอพพ์เป๋าตังไม่จำเป็นต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลตามเงื่อนไขการอัพเดต รวมถึงได้ให้ระบบดำเนินการยกเลิกการยินยอมดังกล่าวของผู้ใช้แอพพ์เป๋าตังก่อนหน้านี้ทั้งหมด เพื่อความสบายใจของผู้ใช้แอพพ์
แต่ก็เกิดเรื่อง “ความไม่สบายใจ” ซ้ำขึ้นมาอีก เมื่อเปิดโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จ แต่ยังไม่เคยยืนยันตัวตนกับธนาคารกรุงไทยผ่านบัตรประชาชนในรูปแบบดิปชิพ (dip ship) ต้องทำการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนที่ตู้เอทีเอ็มของกรุงไทย หรือยืนยันตัวตนผ่านแอพพ์กรุงไทย Krungthai Next ปรากฏว่าพบข้อความการยินยอมให้ธนาคารเก็บข้อมูลของผู้ลงทะเบียน เช่นเดียวกับการอัพเดตแอพพ์เป๋าตัง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ธนาคารกรุงไทยได้ออกเอกสารชี้แจงและยืนยันว่าการเก็บข้อมูลของผู้ลงทะเบียนจะช่วยภาครัฐมีบิ๊กดาต้า (BIG DATA) ใช้ในการวิเคราะห์และออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นในอนาคต
ซึ่งระบบการตรวจสอบยืนยันตัวตนที่ชัดเจนจะช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงมาตรการของรัฐได้อย่างทั่วถึง ได้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมและป้องกันการทุจริต คอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการแอบอ้างสวมสิทธิในโครงการต่างๆ ตอกย้ำว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ยืนยันตัวตนกับกรุงไทยจะได้รับการดูแลอย่างดี
รวมทั้งนำไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแน่นอน!