สิ่งแวดล้อม : ภาวะฉุกเฉิน ‘แคลิฟอร์เนีย’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

 

ภาวะฉุกเฉิน ‘แคลิฟอร์เนีย’

 

การประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อรับมือกับคลื่นความร้อนระลอกแรกของปีนี้ เป็นสัญญาณบอกให้ชาวอเมริกันได้รู้ว่า “คลื่นความร้อน” ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะไม่เพียงทำให้ระบบพลังงานของรัฐปั่นป่วนเท่านั้น หากยังเป็นภัยร้ายคุกคามสุขภาพของผู้คนอีกด้วย

“เกวิน นิวซัม” ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้หลังจากคลื่นความร้อนแผ่ซ่านในพื้นที่ของรัฐแคลิฟอร์เนียและบางส่วนของรัฐต่างๆ ทางฝั่งตะวันตก

อุณหภูมิพุ่งกระฉูดจากเลข 2 หลักเป็น 3 หลัก คือจาก 99 องศาฟาเรนไฮต์ (37 องศาเซลเซียส) เป็น 118 ํF (47 ํC)

ที่อุทยานแห่งชาติเดธวัลเลย์หรือหุบเขามรณะ แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย อุณหภูมิพุ่งกระฉูดถึง 130 ํF หรือ 54 ํC นักท่องเที่ยวต่างพากันถ่ายเซลฟี่กับตัวเลขที่โชว์หน้าจอเทอร์โมมิเตอร์ซึ่งติดตั้งอยู่หน้าศูนย์ท่องเที่ยว “เฟอนิซ ครีก” ของอุทยานฯ

ผู้ว่าการรัฐ “นิวซัม” เรียกร้องให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดที่สุด เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากๆ อย่างเครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน ควรงดใช้ในช่วงนี้ ส่วนเครื่องปรับอากาศให้ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 78 ํF (25 ํC) หรือสูงกว่านั้น

เมื่อปีที่แล้ว “นิวซัม” เจอชาวแคลิฟอร์เนียกว่า 4 แสนคนรุมสวดยับเพราะระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าขัดข้อง ไม่มีไฟฟ้าใช้ระหว่างเกิดคลื่นความร้อน คราวนี้เลยต้องรีบออกประกาศภาวะฉุกเฉิน

 

ในเมืองอื่นๆ เช่น ฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมเมืองทำให้อุณหภูมิสูงถึง 48 ํC ที่ลาสเวกัส อุณภูมิอยู่ที่ 46 ํC หรือที่เมืองเดนเวอร์ อากาศร้อนอุณหภูมิ 38 ํC

บรรดาหมอๆ ในแคลิฟอร์เนียและแอริโซนา ออกคำเตือนไม่ควรไปอยู่ในที่โล่งแจ้งกลางแดดร้อนจัดมีอันตรายต่อสุขภาพ ผิวหนังไหม้ได้

ประเมินกันว่า ชาวอเมริกันราว 50 ล้านคนได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนซึ่งมาจากระบบความกดอากาศสูงที่แผ่คลุมเหนือชั้นบรรยากาศบริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ

นักวิทยาศาสตร์มองว่า ความกดอากาศสูงที่จู่ๆ มาหยุดตรงบริเวณดังกล่าวทำให้เกิดสภาพเหมือนเอาโดมความร้อน (heat dome) มาคลุมไว้

ที่น่าสังเกต คลื่นความร้อนของสหรัฐปีนี้มาเร็วขึ้น ก่อนฤดูร้อนจะมาถึง 1 สัปดาห์ คาดกันว่า ฝั่งตะวันตกของสหรัฐจะเจอคลื่นความร้อนอีกหลายระลอกก่อนสิ้นสุดฤดูร้อน ส่งผลให้เกิดภัยแล้งซ้ำและเกิดไฟป่าตามมา

ในรัฐมอนตานาและรัฐไวโอมิง อุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 100 ํF ทำให้เกิดไฟป่าหลายสิบแห่งต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปอพยพประชาชนออกจากจุดเสี่ยงภัย

 

“แดเนียล สเวน” ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งลอสเองเจลิส ทำนายว่า คลื่นความร้อนที่มาเร็วกว่าปกติ เป็นสัญญาณเตือนภัย เพราะอุณหภูมิจะพุ่งสูงจนถึงเดือนสิงหาคม และสภาวะเช่นนี้อาจกลายเป็นภาวะปกติ

อุณหภูมิพุ่งสูงหลายพื้นที่ในฝั่งแคลิฟอร์เนียและบริเวณที่ราบใหญ่ในภาคตะวันตกของสหรัฐทำลายสถิติเก่าๆ ในรอบ 100-150 ปี อย่างเช่น ที่ปาล์มสปริงส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ปรอทวัดได้ 123 ํF ทำลายสถิติเก่าที่บันทึกไว้ หรือเมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา วัดได้ 105 ํF ลบสถิติที่บันทึกเมื่อปี 2461

คลื่นความร้อนที่แผ่ซ่าน อุณหภูมิที่พุ่งสูงและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากในภาคตะวันตกของสหรัฐ มีผลต่อระบบหมุนเวียนของสภาวะภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์ดูจากข้อมูลเก่าๆ ย้อนหลัง วิเคราะห์ได้ว่า เป็นเพราะฝีมือมนุษย์

การปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกตลอดช่วงกว่า 100 ปี ทำให้ระบบหมุนเวียนของภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง

“การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกทำให้เกิดมหันตภัยอย่างที่เห็น” สเวนซึ่งเชื่อมั่นในข้อมูลนี้บอกกับสื่ออเมริกัน

ส่วนสื่อของประเทศแคนาดาเพื่อนบ้านเรือนเคียงสหรัฐ ก็ไปสอบถาม “เดฟ ฟิลิปส์” ผู้เชี่ยวชาญสภาวะภูมิอากาศถึงปรากฏการณ์คลื่นความร้อนระลอกแรกของปีนี้

“ฟิลิปส์” บอกให้ชาวแคนาเดียนรับมือกับ “ฤดูร้อน” ที่ร้อนและแล้งกว่าฤดูร้อนปีที่ผ่านๆ มาในอนาคตข้างหน้า ฤดูร้อนที่ร้อนสุดๆ อย่างนี้คือภาวะปกติ

พื้นที่อย่างเช่นในเมืองแวนคูเวอร์ บริติชโคลัมเบีย ปรากฏว่าเจอคลื่นความร้อนอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยฤดูร้อนปีก่อนๆ ถึง 10 ํC

“ฟิลิปส์” วิเคราะห์เหมือนกับ “สเวน” นั่นคือสาเหตุอุณหภูมิพุ่งสูงมาจากปรากฏการณ์โลกร้อน