สงครามไซเบอร์ของจีน : 3) นักรบหมาป่าไซเบอร์/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

สงครามไซเบอร์ของจีน

: 3) นักรบหมาป่าไซเบอร์

 

หากยึดตามยุทธศาสตร์ยุทธวิธีสงครามไซเบอร์ที่สีจิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนบรรยายไว้เมื่อปี 2013 พื้นที่อุดมการณ์และมติมหาชนในโลกไซเบอร์แบ่งได้เป็น 3 เขตด้วยกันคือ :

เขตแดงหมายถึงสื่อกระแสหลักและกำลังออนไลน์เชิงบวกอันเป็นที่มั่นหลักของรัฐ-พรรคจีน ซึ่งต้องปกปักรักษาไว้ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ส่วนเขตดำหมายถึงชุดวาทกรรมเชิงลบออนไลน์และในสังคม รวมทั้งมติมหาชนทุกประเภทที่ปั้นแต่งขึ้นโดยฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ-พรรคจีน แม้ไม่ใช่กระแสหลัก แต่ต้องไม่ประเมินมันต่ำไป

และเขตเทาตั้งอยู่ระหว่างเขตแดงกับเขตดำ

ในนัยนี้ สื่อสังคมออนไลน์ตะวันตก เช่น Facebook, Twitter, YouTube, etc. ก็น่าจะจัดเป็นเขตเทาซึ่งสีจิ้นผิงถือเป็น “สมรภูมิหลัก” ในการที่รัฐ-พรรคจีนจะเข้าต่อสู้ช่วงชิงเพื่อกำหนดมติมหาชนทั่วโลกให้เป็นคุณกับความมั่นคงทางอุดมการณ์และการเมืองของตน

มุขใหม่ที่รัฐ-พรรคจีนค้นพบก็คืออาศัยพื้นที่เขตเทาของสื่อสังคมออนไลน์ตะวันตก ซึ่งเอาเข้าจริงส่วนใหญ่ถูกปิดกั้นด้วยมหากำแพงไฟเมืองจีน ห้ามเข้าจีนอยู่แล้ว มาเป็นช่องทางสื่อเรื่องเล่าต่างๆ ของจีนสู่โลกภายนอกแบบตีโต้รุกรบเอาข้างเดียวบ้างโดยไม่ต้องพะวงตั้งรับ

และในการเปิดศึกบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ตะวันตกนี้อดีตเอกอัครรัฐทูต หลิวเสี่ยวหมิง ถือเป็นแบบอย่างนักรบหมาป่าไซเบอร์ของจีนโดยแท้

หลิวเสี่ยงหมิง แบบอย่างนักรบหมาป่าไซเบอร์ของจีน

หลิวเสี่ยวหมิงเกิดปี 1956 ที่เมืองเจียหยาง มณฑลกวางตุ้ง เขาเรียนจบปริญญาตรีวิชาเอกภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศต้าเหลียนเมื่อปี 1974 แล้วไปเรียนต่ออเมริกาจนจบปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากวิทยาลัยกฎหมายและกิจการต่างประเทศเฟลตเชอร์แห่งมหาวิทยาลัยทัฟต์สเมื่อปี 1983

หลังเรียนจบเขาเข้าทำงานเป็นนักการทูตสังกัดกระทรวงต่างประเทศจีน และได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครรัฐทูตจีนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปประจำอียิปต์ (2001-2003) เกาหลีเหนือ (2006- 2009) และสหราชอาณาจักร (2009-2021) จนขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ครองตำแหน่งเอกอัครรัฐทูตจีนในต่างประเทศยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา ปัจจุบันเขารับแต่งตั้งเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลจีนด้านกิจการคาบสมุทรเกาหลี (https://www.globaltimes.cn/page/202101/1213630.shtml)

และในช่วงยาวกว่าทศวรรษที่เขาเป็นเอกอัครรัฐทูตจีนประจำอังกฤษนี่เองที่หลิวฝากฝีไม้ลายมือในฐานะ “นักรบหมาป่า” ด้านการทูตผู้แถลงข่าวและเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ปะฉะดะผู้บังอาจวิจารณ์จีนอย่างไม่ไว้หน้า จนขึ้นชื่ออื้อฉาว ตั้งแต่ :-

– 2014 เปรียบญี่ปุ่นเป็นลอร์ดวอลเดอมอร์ต วายร้ายในนิยายและภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์

– 2018 วิจารณ์สหรัฐอเมริกาที่เปิดฉากสงครามการค้ากับจีนข้างเดียวก่อน

– 2019 ตอบโต้ผู้สื่อข่าว BBC ที่สอบถามเรื่องค่ายกักกันอบรมชาวมุสลิมในมณฑลซินเจียงว่าเป็น “ข่าวปลอม” & ตอกกลับรายงานของคณะกรรมการกิจการต่างประเทศเฉพาะกิจแห่งสภาสามัญอังกฤษที่กล่าวหาว่าจีนแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของอังกฤษ

– 2019-2020 หลิวเป็นปากเสียงหลักซัดกลับไม่ว่ารัฐบาล รมว.ต่างประเทศและ ส.ส.อังกฤษที่วิจารณ์โจมตีรัฐ-พรรคจีนเรื่องการปราบปรามกระแสคลื่นประท้วงใหญ่เพื่อประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง, การที่อเมริกา-อังกฤษกล่าวหากีดกันบริษัทอุปกรณ์โทรคมนาคมหัวเว่ยของจีน และกรณีต้นตอและการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ระบาดในจีน ฯลฯ ว่าเป็นการเผยแพร่คำโกหกตราหน้าจีน, แทรกแซงกิจการภายในของจีน, ล่าแม่มด และลัทธิเชื้อชาตินิยมต่อต้านจีน เป็นต้น (https://en.wikipedia.org/wiki/Liu_Xiaoming)

และเมื่อเดือนตุลาคม 2019 นี้เองที่เอกอัครรัฐทูตหลิวเสี่ยวหมิงพร้อมกับนักการทูตจีนมากหลายสมัครเข้าร่วมสื่อสังคมออนไลน์ Twitter และเริ่มเปิดฉากทำสงครามไซเบอร์อย่างเป็นงานเป็นการ

หลิวเป็นแบบอย่างนำหน้าสู้รบกับนักวิจารณ์แอนตี้จีนผ่าน Twitter อย่างดุเดือดเลือดพล่าน ถึงปัจจุบันหลิวมีผู้ติดตามบน Twitter ราว 119,000 คน และโพสต์ไปแล้วกว่า 4,600 ทวีต จากเดือนมิถุนายน 2020 ถึงกุมภาพันธ์ 2021 โพสต์ของเขาถูกทวีตซ้ำกว่า 43,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม แรงสนับสนุนของมหาชนที่ดูเหมือนหลิวกับเพื่อนนักการทูตจีนมากหลายได้รับนั้น เอาเข้าจริงถูกผลิตสร้างขึ้น!

 

สํานักข่าว AP (Associated Press) กับมหาวิทยาลัย Oxford ของอังกฤษได้ทำการศึกษาสอบค้นบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของจีนนาน 7 เดือนและพบว่าความโดดเด่นของทรรศนะหนุนจีนบน Twitter นั้น เนื่องมาจากการทวีตซ้ำหลายหมื่นครั้งจากบัญชี “ปลอม” ซึ่งไม่ได้จดแจ้งขึ้นโดยผู้ใช้จริง

จากมิถุนายน 2020 ถึงมกราคม 2021 มีการแชร์ข้อความจากเหล่านักการทูตจีนโดยผู้ใช้ Twitter 150,000 ราย ทว่าเกือบครึ่งของการแชร์ทั้งหมดมาจากบัญชี Twitter เพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ 150,000 รายดังกล่าว

และเมื่อคิดสะระตะแล้ว บัญชีหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้แชร์ข้อความของนักการทูตจีนรวมกันถึง 360,000 ครั้ง ซึ่งบ่อยครั้งแชร์ติดต่อกันภายในชั่วไม่กี่วินาที

การสอบค้นของ AP กับ Oxford ยังพบว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ กว่าครึ่งของการทวีตซ้ำข้อความจากโพสต์ของหลิวเสี่ยวหมิงมาจากบรรดาบัญชีที่ Twitter ได้ระงับการใช้ในที่สุดเนื่องจากพบว่าบัญชีเหล่านี้ส่งอิทธิพลต่อไซต์ของ Twitter อย่างไม่เป็นธรรม

แต่การระงับใช้บัญชีจะเกิดจริงก็ต้องใช้เวลาสอบสวนพิสูจน์ทราบนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ดังนั้น กว่าบัญชี Twitter 26,879 บัญชีจะถูกระงับการใช้ มันก็ทวีตซ้ำไปแล้วเกือบ 2 แสนครั้ง ระหว่างนี้ Twitter กำลังสอบสวนต่อว่าบัญชีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ IO ที่มีรัฐหนุนหลัง (state-sponsored information operation) หรือไม่ และจะเปิดเผยให้ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถึงบัญชี IO จะถูกระงับ รัฐ-พรรคจีนก็เพียงแค่สร้างบัญชีปลอมใหม่ขึ้นทดแทนเท่านั้นเอง โดยบัญชีปลอมจำนวนมากอาศัยสวมรอยเอกลักษณ์ของพลเมืองอังกฤษที่ถูกขโมยมา

การทวีตซ้ำเหล่านี้แชร์โฆษณาชวนเชื่อของรัฐ-พรรคจีนไปให้ผู้คนหลายร้อยล้านคน โดยบ่อยครั้งไม่บอกกล่าวว่าเนื้อหาข้อความที่แชร์ได้การสนับสนุนจากรัฐ-พรรคจีน อนึ่ง Twitter เองก็แชร์โพสต์ยอดนิยม ซ้ำต่อไปให้บุคคลอื่นเองอีกด้วย ซึ่งยิ่งขยายโอกาสเพิ่มยอดวิวโฆษณาชวนเชื่อนั้นขึ้นไปอีก

สืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวเหล่านี้ ปีที่แล้ว Twitter เริ่มติดหมายแจ้งว่าบัญชีใดบ้างเป็นของ “เจ้าหน้าที่รัฐบาลคนสำคัญ” และสื่อมวลชนของรัฐ อย่างไรก็ตาม ถึงต้นเดือนมีนาคมศกนี้ บัญชี Twitter ของนักการทูตจีนเพิ่งถูกติดหมายแจ้งไปแค่ 14% เท่านั้น

(ดู https://apnews.com/article/asia-pacificchina-europe-middle-east-government-and-politics-62b13895aa6665ae4d887dcc8d196dfc & https://www.ox.ac.uk/news/2021-05-11-fanatic-fans-or-fake-followers-chinese-diplomatsand-their-social-media-networks)