ในประเทศ/ลง-ไม่ลงเลือกตั้ง “มันเรื่องของผม” จบข่าว-ข่าวไม่จบ สะกดรอย “คนนอก”

ในประเทศ

ลง-ไม่ลงเลือกตั้ง “มันเรื่องของผม”

จบข่าว-ข่าวไม่จบ สะกดรอย “คนนอก”

หลังจาก “นิด้าโพล” สำรวจพบประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.52 “เห็นด้วย” หากมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันทำงานต่อไป

รวมถึงการที่มีสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวนหนึ่งลาออก เพื่อเตรียมตัวลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ประกาศเจตนารมณ์พร้อมร่วมเป็นพันธมิตรกับ “พรรคทหาร”

การเมืองไทยที่คลุมเครือ ก็เริ่มปรากฏเค้าลางชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

โดยเฉพาะอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.

เริ่มจากการให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม. วันที่ 27 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงผลสำรวจนิด้าโพล ที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยหากมีการจัดตั้งพรรคเมืองสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า “ยังไม่คิดถึงตรงนั้น”

“อย่ามากังวลกับผมว่าจะอยู่ต่อหรือเปล่า หรือตั้งพรรคหรือเปล่า แต่จะทำวันนี้ให้ผ่านไปก่อน สถานการณ์จะเป็นตัวชี้ชัดต่อไปเอง ว่าเราควรจะทำอย่างไรในอนาคต”

สิ้นเสียงคำให้สัมภาษณ์ ก็เกิดการตีความกันขนานใหญ่ ว่ามีความเป็นได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองและลงเลือกตั้ง เพื่อกลับเข้าสู่อำนาจตามครรลองประชาธิปไตย

ฝ่ายการเมืองไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ ต่างก็สนับสนุน หาก พล.อ.ประยุทธ์จะเสนอตัวให้ประชาชนพิจารณาว่า จะเลือกกลับเข้ามาบริหารประเทศต่ออีกสมัยหรือไม่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวสนับสนุนหาก พล.อ.ประยุทธ์จะลงเลือกตั้ง เพราะสิ่งดีที่ทุกคนอยากเห็นก็คือ “ผู้นำ” ที่มาจากการเลือกตั้ง หากประชาชนไว้วางใจก็จะเลือกมาเป็นนายกฯ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชี้ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เพื่อเป็น “ทางเลือก” ให้กับประชาชน ก็เป็นสิทธิที่ทำได้

สิ่งสำคัญคือต้องให้ความมั่นใจด้วยว่า จะแข่งขันอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน

เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาการใช้อำนาจรัฐ สร้างความได้เปรียบให้กับพรรคของตนเอง

อย่างไรก็ตาม กระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะในเชิงลบหรือเชิงบวก หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจลงสนามเลือกตั้ง ได้ยุติลงในเวลาอันรวดเร็ว

เมื่อ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ออกมาฟันธงว่า “เป็นไปไม่ได้”

เนื่องจากในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับปัจจุบัน มีเงื่อนไขว่า

หากสมาชิกแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สปท.

ถ้าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งครบกำหนดเส้นตายวันที่ 4 กรกฎาคม

“นายกฯ ก็คือ ครม. ถ้าจะลง ส.ส. ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้” นายเสรีระบุ

ขณะที่ในส่วนของ สปท. มียอดสมาชิกลาออกเพื่อเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้ง ส.ส. หลังครบกำหนดเส้นตาย 90 วัน รวมทั้งสิ้น 25 คน

อาทิ นายนิกร จำนง นายวิทยา แก้วภราดัย นายสมพงษ์ สระกวี นายสุชน ชาลีเครือ นายดำรงค์ พิเดช นายชัย ชิดชอบ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ฯลฯ เป็นต้น

ถึงกระนั้น แม้หลายคนคาดหวังจะได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์กลับเข้าสู่อำนาจอย่าง “สง่างาม” และ “สมศักดิ์ศรี” ผู้นำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคนหนึ่ง

จะกลายเป็นประตูถูกปิดตาย

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “ช่องทาง” อื่นที่ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาครองอำนาจสืบต่อ ถูกปิดตายไปเสียทั้งหมด

โดยเฉพาะประตูที่ยังเปิดกว้างสำหรับ “คนนอก” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ด้วยการสนับสนุนจาก ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง และ ส.ส. อีก 126 เสียงในรัฐสภา

ซึ่งเป็นกฎกติกาที่ออกแบบไว้ตั้งแต่แรกในรัฐธรรมนูญ

เพื่อรองรับ “บางคน” ใช้เป็นเส้นทางกลับสู่อำนาจ ชนิดเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด

พลันที่เส้นทางสู่นายกฯ คนนอก ถูก “แบไต๋”

กลับกลายเป็นประเด็นสร้างความหงุดหงิดใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ถึงขั้นต้องระบายเอากับสื่อมวลชน ระหว่างปาฐกถาในงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ตอนหนึ่ง

“หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทีวีทุกช่อง วุ่นวายอยู่กับเรื่องของผมว่าจะเลือกตั้งหรือไม่ บ้าบอคอแตกกันอยู่นั่น วันนี้จะเป็นจะตาย เพราะฉะนั้น อย่าไปสนใจ ใครอยากพูดอะไรก็พูดไป มันเรื่องของผม ตอบชัดเจนแบบนี้แล้ว อย่ามาถามผมอีก ถามกันอยู่ได้”

แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล

สื่อมวลชนยังคงเกาะติดด้วยความสงสัยว่าหากมีพรรคการเมืองสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ต่อจะตัดสินใจอย่างไร คำตอบก็คือ “ก็แล้วแต่เขาสิ เกี่ยวอะไรกับผม”

และเมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ หลังจากนี้จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองอีก

“ผมไม่นั่งยัน ยืนยัน นอนยันอะไรทั้งนั้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบ

มีการอธิบายถึงสาเหตุที่สื่อมวลชน “บ้าบอคอแตก” พยายามคาดคั้นคำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์จะเอาอย่างไรกับอนาคตทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 1 ปีเศษ

นอกจากเห็นว่า ถึง พล.อ.ประยุทธ์จะเข้าสู่อำนาจโดยการทำรัฐประหาร แต่เมื่อเป็นนายกฯ ย่อมถือเป็น “บุคคลสาธารณะ”

ยังเป็นเพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยให้คำตอบเรื่องนี้ชัดเจน บางครั้งเหมือนจะชัด แต่ก็ยังมีสัดส่วนความคลุมเครือให้ต้องตีความอยู่มาก

ถึงสื่อจะมองว่าเป็นการตอบแบบ “แทงกั๊ก” แต่ในสายตานักนักการเมืองกลับอ่านท่วงท่า พล.อ.ประยุทธ์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ว่ามีความตั้งใจเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอกตั้งแต่แรก

ไม่เคยคิดลงเลือกตั้งแต่อย่างใด

ท่าทีจากฝ่ายการเมืองเป็นเสมือน “ไก่เห็นตีนงู”

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ตั้งใจจะกลับมาเป็นนายกฯ คนนอก

เนื่องจากในเชิงระบบ แม่น้ำ 5 สายได้ออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก เพื่อให้มีนายกฯ คนนอก ไม่ใช่นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนการตั้งพรรคการเมือง เป็นการรวบรวคนที่เป็น “ลิ่วล้อ” เพื่อที่จะมีพรรคการเมืองไว้สนับสนุนให้กลับมาเป็นนายกฯ และเป็นเชื้อเริ่มต้นในการตั้งรัฐบาล

“เขาคงหาพรรคการเมืองอื่น หรือพรรคการเมืองที่ใหญ่กว่าเข้าไปร่วม ไม่ว่า คสช. จะอยู่ต่อไป หรือยืดวันเลือกตั้งออกไป หรือจะมีการเลือกตั้ง ก็หนีไม่พ้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ยังคงมีอำนาจต่อไป” นายจาตุรนต์ระบุ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การเป็นนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. ไม่ผิดกติกา เนื่องจากรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้

“ในแนวทางนี้ถ้าเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ คนนอก ก็ไปว่าไม่ได้ ต้องไปว่า ส.ส. ด้วยกันเองว่าเพราะอะไรจึงทำให้ระบบรัฐสภาสิ้นไร้ไม้ตอก จนต้องเอาคนไม่ได้เป็น ส.ส. มาเป็นนายกฯ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

อดีต ส.ส. ซึ่งมีประสบการณ์การเมืองโชกโชน มั่นใจตรงกัน โฉมหน้าการเมืองหลังการเลือกตั้งจะได้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

โดยการสนับสนุนของ ส.ว. 250 คนที่ คสช.ลากตั้งเข้ามา ผนึกกับพรรค “ขนาดเล็ก” และ “ขนาดกลาง” จำนวนหนึ่ง รวมให้ได้เกิน 376 เสียง และอาจรวมถึง “พรรคเก่าแก่” บางพรรค

แต่ปัญหาคือ หากพรรคเพื่อไทยยังคงได้รับเลือกตั้ง ส.ส. จำนวนมาก รัฐบาลชุดต่อไปภายใต้นายกฯ คนนอก ก็จะทำงานได้ยากลำบาก โดยเฉพาะการผ่านกฎหมายสำคัญ ไปจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่อาจนำไปสู่การยุบสภา เกิดความวุ่นวายรอบใหม่

ตรงนี้เองที่ระบบเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม” และ “ไพรมารีโหวต” ถูกออกแบบให้นำมาใช้ตัดกำลังพรรคการเมือง

ขณะเดียวกันก็หนุนเสริมให้นายกฯ คนนอก มีความแข็งแกร่ง จนยากจะสั่นคลอน