เกษียร เตชะพีระ : วิธีลักจำจากครู (ตอนต้น)

เกษียร เตชะพีระ

ในชีวิตการเรียนรู้โดยสำนึกของผมซึ่งยาวนานหลายสิบปีถึงปัจจุบัน มีครู 4 คนผู้เปลี่ยนวิธีมองโลกของผมไป

ได้แก่ ครูเบ็น แอนเดอร์สัน, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์

นอกเหนือไปจากเนื้อหาความรู้และวิธีคิดวิธีเข้าใจโลกที่ผมได้จากครูทั้ง 4 ท่าน อีกเรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กันและไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก ทั้งที่มันสำคัญต่อการหัดศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างยิ่ง คือวิธีการที่นักเรียนอย่างผมใช้ในการเรียนรู้จากครูเหล่านี้

ซึ่งก็ไม่เหมือนกัน หากผิดแผกแตกต่างหลากหลายกันออกไป ตามบุคลิกการคิดและวิธีการสอนของครูแต่ละท่าน, บริบทของการเรียน, รวมทั้งประสบการณ์และวุฒิภาวะของตัวผมเองที่เป็นผู้เรียนในตอนนั้น

ผมเริ่มเรียนกับอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในวิชา มธ.111 อารยธรรมไทย เมื่อกลางปี พ.ศ.2518 ตอนนั้นท่านเพิ่งจบปริญญาเอกมาไม่นาน เป็นรองอธิการบดีฝ่ายหลักสูตรพื้นฐานและอาจารย์หลักประจำวิชานี้สืบต่อจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เลิกสอนไปเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งคนแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516

เนื้อหาวิชานี้แบ่งสอนกันไปในหมู่ปัญญาชนนักวิชาการชื่อดังสมัยนั้น เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (วัฒนธรรม), สุชาติ สวัสดิ์ศรี (วรรณกรรม), ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (การเมือง), บัณฑร อ่อนดำ (ศาสนา), นิตยา มาพึ่งพงศ์ (เศรษฐกิจ) ฯลฯ ส่วนอาจารย์ชาญวิทย์รับผิดชอบด้านประวัติศาสตร์

จำได้ว่าประเด็นแรกที่อาจารย์ชาญวิทย์บรรยายคือบรรพชนคนไทยมาจากไหน?

คำตอบโดยสรุปจากหลักฐานและเหตุผลคือคนไทยไม่ได้อพยพจากเทือกเขาอัลไตตรงรอยต่อชายแดนจีน-รัสเซีย เพื่อหนีการรุกรานของจีน ลงมายังดินแดนแหลมทองสุวรรณภูมิ อย่างที่รับเชื่อกันมาโดยตลอดและสอดคล้องกับแนวคิดชาตินิยมไทยต่อต้านจีนแดงยุคนั้น

หากแต่ชาวสยามเป็นชนหลายชาติพันธุ์ที่คงอยู่ในดินแดนแหลมทองนี้มาแต่เดิม หรือถ้าจะมีการขยับขยายเคลื่อนย้ายบ้างก็ช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปอยู่ในบริเวณใกล้เคียงแถบนี้เอง

ก็น่าตื่นเต้นล่ะครับ เพราะตรงข้ามกับสิ่งที่คนรุ่นผมเคยเรียนในโรงเรียนมาแต่ก่อน อันเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ทำให้ลูกเจ๊กเยาวราชหัวลำโพงอย่างผมรู้สึกว่าตัวเองเป็น “แนวที่ห้า” ที่ไม่ค่อยไทย (แท้) อย่างไรไม่ทราบ

ทว่า นัยการเมืองของมันจะเห็นชัดก็หลังการฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 แล้ว เมื่อผมได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่ามีผู้ลำเลิกหาเรื่องกล่าวโทษอาจารย์ชาญวิทย์ว่าสอนเข้าไปได้ยังไงว่าคนไทยไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไต มิน่าล่ะนักศึกษาธรรมศาสตร์ถึงได้หัวแข็งกระด้างกระเดื่องนัก ฯลฯ

นึกถึงเรื่องนี้แล้วก็ช่วยให้เข้าใจขึ้นบ้างว่าทำไมท่านนายกฯ ถึงได้ติดค้างคาใจในทางประวัติศาสตร์กับเทือกเขาอัลไตนัก…

เพราะท่วงทำนองการสอนของอาจารย์ชาญวิทย์ที่เสรีนิยม เปิดกว้าง ชวนให้ผู้เรียนคิดต่อเอง และเนื้อหาที่เป็นลัทธิแก้ทวนกระแสความเชื่อหลักทางประวัติศาสตร์ ทำให้วิธีที่ผมเรียนกับท่านคือขีดเส้นแบ่งหน้ากระดาษสมุดเล็กเชอร์เป็นสองส่วน

ส่วนหนึ่งจดเนื้อหาสำคัญที่ท่านบรรยาย

อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ข้างๆ ผมจะบันทึกข้อคิดเห็น สังเกต สงสัย วิเคราะห์วิจารณ์ โต้แย้งส่วนตัวที่คิดขึ้นได้สดๆ ร้อนๆ ขณะฟังคำบรรยายอยู่ด้วยหมึกสีแดง เพื่อไว้ขบคิดค้นคว้าหาอ่านเพิ่มเติมต่อไป

ผมได้เรียนกับ อาจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หลังตัวเองออกจากป่ากลับมาเป็นนักศึกษาคืนสภาพในวิชาการเมืองเรื่องความไม่รุนแรงที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อราว พ.ศ.2525

ชื่อและเนื้อหาวิชาที่อาจารย์ชัยวัฒน์สอนย่อมดึงดูดความสนใจของ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” อดีตทหารป่าอย่างผมเป็นธรรมดา

อีกทั้งท่วงทำนองการสอนที่ชวนคุยไปคิดไป ชักนำยั่วยุให้ลองล้วงแคะขุดคุ้ยสืบค้นข้างในตัวผู้เรียน/คู่สนทนาด้วยตนเองไป (Platonic dialogue) ของแกทำให้ผม

สรุปว่าวิธีเรียนกับชัยวัฒน์ ไม่ใช่แค่เรียกร้องให้ผู้เรียนมาเข้าชั้น-สดับตรับฟัง-ร่วมคิดตามคุยตามเท่านั้น หากต้องรู้สึกรู้สากับมันไปด้วย

เรียนกับแกแล้วคุณจะฉลาด สิ่งที่คุณเรียนรู้และนึกคิดขึ้นได้นั้นที่สำคัญที่สุดแกไม่ได้สอน แต่ตัวคุณถูกแกกระตุกกระตุ้นและเปิดปล่อยให้คิดวิเคราะห์ค้นคว้าเอง จินตนาการเอง และสรุปเอง แล้วค่อยบอกแกกลับอีกทีว่าคุณได้เรียนรู้อะไรโดยวิธีสอนของแก และคุณเห็นต่างจากแกตรงไหน

หรือถึงเป็นสิ่งที่แกสอน แต่คุณก็ได้มีโอกาสหัดคิดทบทวนมันขึ้นมาใหม่เองอีกทีจนกลายเป็นความคิดของคุณ

ในฐานะชาวไทยมุสลิมเชื้อสายอินเดีย ความเป็นแขกของชัยวัฒน์ปรากฏโดดเด่นต่อหน้าต่อตาคุณที่สุด

แต่เอาเข้าจริง เมื่อได้รู้จักและเรียนรู้จากแกแล้ว ความเป็นแขกของแกกลับเป็นสิ่งที่คุณจะมองข้ามและลืมไปสนิทที่สุดก่อนอื่นใด

เพราะมันถูกกลบทับบดบังโดยความเฉลียวฉลาด มิตรภาพและความเมตตาฉันเพื่อนมนุษย์ที่ฉายโชนออกมาของแก

จนเพื่อนไม่มุสลิมอย่างผมมักหลงเอ่ยปากชวนอาจารย์ทานข้าวเที่ยงในช่วงถือศีลอดบ่อยครั้ง

แม้ผมจะได้เคยอ่านคอลัมน์หนังสือพิมพ์และงานวิชาการของ อาจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาบ้างประปรายหลังออกจากป่าใหม่ๆ แต่กว่าผมจะได้เรียนรู้จากครูพักลักจำท่านนี้จริงๆ ก็เมื่อผมจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลกลับมาสอนที่เมืองไทยในปี พ.ศ.2535 แล้ว

เมื่อได้ร่วมงานพบปะสัมมนาอภิปรายและเคลื่อนไหวกิจกรรมภาคประชาชนกับอาจารย์นิธิรวมทั้งสมัครพรรคพวกสมัชชานักวิชาการเพื่อคนจนและมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบ่อยครั้งเข้า ผมก็พบว่าอาจารย์มีเมตตาและรู้วิธีที่จะให้เกียรติคุณในฐานะกัลยาณมิตรและเพื่อนฝูง

ทำให้ในทางกลับกัน คุณก็พร้อมที่จะสนใจและง่ายที่จะรับฟังท่านมากขึ้น

ยังไม่พักต้องพูดถึงข้อมูลความรู้ที่ชวนคิดน่าสนใจ วิธีมองปัญหาที่กว้างและลึก รวมทั้งอารมณ์ขันเสียดเยาะที่เหมือนน้ำจิ้มชูรสยั่วให้คุณอยากอ่านอยากฟังท่านต่อไปไม่รู้อิ่ม

วิธีที่ผมเรียนรู้จากท่านคือปฏิบัติต่อบทความคอลัมน์หนังสือพิมพ์รายวันรายสัปดาห์สั้นๆ ของท่านเยี่ยงงานวิชาการที่เคร่งเครียดจริงจัง อ่านละเอียด จับประเด็น ถอดเค้าโครงเรียบเรียงลำดับวิธีมอง วิธีคิด ข้อถกเถียงตอบโต้กับเหตุการณ์สถานการณ์ที่เป็นจริง

เหมือนดูหมอวินิจฉัยโรคของคนไข้สดๆ ว่าหมอดูตรงไหน ทำอย่างไร ลำดับเหตุผล อาการ สมุฏฐาน เอาไปเชื่อมโยงกับสิ่งใดเช่นไร? มันยังช่วยสะท้อนว่าหมอยืนตรงไหนในเรื่องนี้และรู้สึกต่อมันเช่นใด?

และในทางกลับกัน ถ้าเป็นเราต้องวินิจฉัยหรือรักษาโรคนี้บ้าง เราจะทำอย่างที่อาจารย์ทำบ้างได้ไหม? จะทำอย่างไร? หรือถ้าทำต่างออกไป ต่างตรงไหน? อย่างไร? และเพราะอะไร?

มันเป็นการออกกำลังบริหารสมอง (intellectual exercise) ที่สนุกเพลิดเพลินและประเทืองปัญญามาก แถมได้ทำทุกสัปดาห์ รวมทั้งสามารถเอาไปเป็นแบบเรียนบทอ่านส่งต่อให้นักศึกษาในชั้นทดลองทำดูได้ด้วย ว่าพวกเขาจะเห็นประเด็นตีความเหมือนหรือต่างกันไหมอย่างไร

ในฐานะที่แกเป็นปัญญาชนสาธารณะ (public intellectual) ผู้โดดเด่นที่สุดของสังคมไทยร่วมสมัย วิธีเรียนรู้จากนิธิที่ดีและตรงที่สุดในความเห็นของผมคือเพ่งดูลงไปตรงปฏิสัมพันธ์ของแกกับสาธารณชนและประเด็นปัญหาสาธารณะเฉพาะหน้าสดๆ ร้อนๆ วันต่อวันนั่นแหละ ไม่ใช่ที่อื่น

(อ่านตอนจบสัปดาห์หน้า)