Digital Legacy : ทิ้งไว้ให้คนข้างหลัง/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

See you soon. Adult pretty woman in warm red coat have walk in the city at her weekends time.

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

Digital Legacy

: ทิ้งไว้ให้คนข้างหลัง

 

“ถ้าหากคนรักหรือคนในครอบครัวของฉันจากไป ฉันจะเข้าถึงข้อมูลสำคัญๆ ที่อยู่ในมือถือของพวกเขาได้ยังไงโดยที่ไม่มีรหัสผ่าน แต่ถ้าจะขอรหัสผ่านกันไว้ตั้งแต่ตอนนี้จะถือเป็นการไม่เคารพความเป็นส่วนตัวหรือเปล่า”

คำถามนี้น่าจะเคยเกิดขึ้นกับหลายๆ คนเวลาที่เรานึกไปถึงอนาคตที่ไม่มีใครอยากให้มาถึง เวลาใครสักคนที่ใกล้ชิดเราจากไป เราไม่ได้อยากให้ข้อมูลทางดิจิตอลของคนคนนั้นต้องสูญสลายหายไปพร้อมร่างกายของพวกเขาด้วย

ข้อมูลหลายอย่างเป็นข้อมูลสำคัญที่จะต้องได้รับการดำเนินการต่อ

และข้อมูลอีกหลายอย่างก็เป็นความทรงจำที่เราอยากเก็บไว้เพื่อระลึกถึงได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นชีวิตของเราเองด้วยเหมือนกัน

แต่การแลกรหัสผ่านให้กันและกันเก็บไว้ก็ไม่ใช่วิธีที่จะเหมาะสมสำหรับทุกคน หรือทุกคู่

ถ้าอย่างนั้นอะไรคือทางออกล่ะ

 

ในงาน WWDC ประจำปี 2021 ซึ่งเป็นงานที่ Apple จัดให้สำหรับนักพัฒนาทั่วโลกที่ตามปกติแล้วจะต้องบินไปรวมตัวกันที่แคลิฟอร์เนีย แต่ปีสองปีมานี้ย้ายมาจัดในรูปแบบออนไลน์และเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปชมได้

Apple ได้เปิดตัวสิ่งที่เรียกว่า Digital Legacy สำหรับคนใช้ iOS โดยเฉพาะ

Digital Legacy ที่ว่านี้ก็คือการส่งต่อข้อมูลทางดิจิตอลของเราให้กับคนที่เราคัดเลือกให้เป็นผู้สืบทอด ซึ่งผู้สืบทอดเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้เมื่อไหร่ก็ตามที่เราลาโลกใบนี้ไป

เมื่อผู้ใช้งานอัพเดตระบบปฏิบัติการเป็น iOS 15 ก็จะสามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครเข้าถึงข้อมูลอะไรในเครื่องของเราบ้าง

อย่างเช่น ภาพถ่าย รายชื่อคนติดต่อ หรือไฟล์ต่างๆ ที่อัพโหลดขึ้นไปเก็บไว้บน iCloud ยกเว้นข้อมูลที่ส่วนตัวสุดๆ อย่างบัตรเครดิตที่บันทึกเอาไว้หรือรหัสผ่านสำหรับใช้บริการต่างๆ

Apple ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งานมากๆ มากชนิดที่ว่าต่อตำรวจติดต่อขอให้ Apple ช่วยเปิดข้อมูลของโทรศัพท์ iPhone ของผู้ก่อการร้ายให้หน่อย Apple ยังปฏิเสธไม่ทำให้ เพราะถือว่าเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีสถานะเป็นอะไรก็ตาม

ดังนั้น จึงหมายความว่าถ้าหากไม่มีรหัสผ่านแล้วก็ไม่มีทางเลยที่เราจะสามารถเข้าไปใช้งานอุปกรณ์ที่ล็อกอินด้วยไอดีของคนอื่นได้

 

การเพิ่มฟีเจอร์อย่าง Digital Legacy เข้าไปก็ทำให้อุ่นใจได้ว่าเราสามารถจัดการข้อมูลดิจิตอลของเราไว้ได้ตั้งแต่เรายังมีชีวิตอยู่ ตายไปเมื่อไหร่คนใกล้ตัวจะได้ไม่ต้องวุ่นวายจากการเข้าถึงข้อมูลสำคัญที่เราถือครองไว้ไม่ได้

นอกจากการส่งต่อข้อมูลที่อยู่ในดีไวซ์ของเราแล้ว การส่งต่อข้อมูลที่ถูกเก็บเอาไว้ในรูปแบบออนไลน์ อย่างเช่น ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่บนโซเชียลมีเดียของเราก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องคิดเอาไว้แต่เนิ่นๆ เหมือนกัน แพลตฟอร์มต่างๆ ก็จะมีฟีเจอร์นี้ให้เราเลือกตั้งค่าได้ตามความเหมาะสม

อย่างเช่น Facebook เอง ถ้าใครเคยลองเข้าไปสำรวจการตั้งค่าดูอย่างละเอียด ก็จะพบว่ามีเมนูที่ทำขึ้นมาสำหรับเตรียมความพร้อมเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ผู้ใช้ Facebook ถ้าหากกดเข้าไปในการตั้งค่าก็จะพบว่ามีเมนูที่ชื่อว่า “การตั้งค่าการเก็บไว้เป็นอนุสรณ์” เพื่อให้เราเลือกได้ว่าจะแต่งตั้งให้ใครเป็น Legacy Contact หรือ ผู้สืบทอดบัญชี ของเรา

สิ่งที่ผู้สืบทอดบัญชีจะทำได้ก็อย่างเช่น เข้าไปโพสต์รำลึกถึง ลบบัญชี อัพเดตรูปโปรไฟล์ต่างๆ หลังจากที่เราเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งอันนี้แนะนำมากๆ ว่าเราควรจะตั้งค่าเอาไว้ตั้งแต่ตอนนี้

หรือถ้าเราไม่ได้อยากส่งมอบบัญชีให้ใครดูแลต่อเลยก็เลือกเอาไว้ได้เลยว่าอยากให้ Facebook ลบบัญชีเราทิ้งเป็นการถาวรไปเลย ไม่ต้องส่งต่ออะไรทั้งนั้น ให้มันจบไปพร้อมๆ กับชีวิตเรานี่แหละ

 

สําหรับใครที่สงสัยว่าแล้ว Apple จะรู้ได้ยังไงว่าผู้ใช้คนไหนเสียชีวิตไปแล้วบ้าง และจะรู้ได้ยังไงว่าเสียชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ใครมาแกล้งกัน อันนี้ก็จะต้องอาศัยการแจ้งจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด โดยที่อาจจะต้องทำเรื่องกรอกแบบฟอร์ม และส่งหลักฐานอย่างใบมรณบัตร ก็จะมีทีมงานที่จะคอยตรวจสอบและดำเนินเรื่องต่อให้ค่ะ

รายละเอียดอื่นๆ ที่พอจะรู้มาบ้างเกี่ยวกับการใช้งานฟีเจอร์นี้ก็อย่างเช่นคนที่จะมาสืบทอดบัญชีต่อจากเราจะต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป (อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ) คนที่จะส่งคำขอไปให้ผู้สืบทอดบัญชีจะต้องทำบนอุปกรณ์ที่รันระบบปฏิบัติการ iOS15 หรือเครื่องแมคที่ใช้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นล่าสุดอย่าง macOS Monterey ที่เปิดตัวไปพร้อมๆ กัน

ส่วนในฟากของผู้รับคำขอ หรือคนที่จะต้องสืบทอดบัญชีต่อก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใช้งาน Apple เท่านั้น ผู้ใช้งานจะเลือกใครที่ใช้ระบบใดก็ได้แต่หากอยู่กันคนละระบบ ก็จะต้องใช้วิธีส่งต่อในรูปแบบของการปรินต์รหัสให้นำไปใช้แทน

กระบวนการวิธีเปิดใช้งานอย่างละเอียดจะเป็นยังไงก็จะได้เห็นกันถ้วนหน้าตอนระบบปฏิบัติการ iOS 15 เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้งานกันในช่วงปลายปีนี้นี่แหละค่ะ

อย่างไรก็ตาม Apple ก็ไม่ใช่รายแรกที่ให้บริการฟีเจอร์นี้ เพราะอย่างที่บอก แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ก็ทำไปก่อนหน้าแล้ว รวมถึง Twitter และอีกค่ายเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง Google ก็บุกเบิกกันไปก่อนแล้ว

แต่ยิ่งมีแพลตฟอร์มที่เปิดให้เราสามารถส่งต่อมรดกทางดิจิตอลแบบนี้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นเรื่องดีมากเท่านั้น

เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชีวิตเราทุกวันนี้ตัวตนในโลกดิจิตอลกับโลกแห่งความเป็นจริงได้กลืนกันเสียจนแทบจะแยกไม่ออกแล้ว ถ้าหากการทำพินัยกรรมแบบที่ทำกันมาตลอดถือเป็นเรื่องสำคัญ

พินัยกรรมทางดิจิตอลก็สำคัญยิ่งหย่อนไม่แพ้กัน และการแต่งตั้งผู้สืบทอดบัญชีก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราต้องทำเพื่อทำให้ชีวิตของคนที่อยู่ข้างหลังง่ายขึ้น

ในวันที่เราไม่อยู่ข้างๆ พวกเขาแล้ว