โฟกัสพระเครื่อง : พระบูชา-เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเปลี่ยน กันตสีโล วัดชัยมงคล สมุทรสาคร

(ซ้าย) หลวงพ่อเปลี่ยน กันตสีโล (ขวาบน) เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน รุ่นแรก (ขวาล่าง) พระบูชาหลวงพ่อเปลี่ยน วัดชัยมงคล

โฟกัสพระเครื่อง–(เสรีภาพ อันมัย)

โคมคำ / [email protected]

 

พระบูชา-เหรียญรุ่นแรก

หลวงพ่อเปลี่ยน กันตสีโล

วัดชัยมงคล สมุทรสาคร

 

“หลวงพ่อเปลี่ยน กันตสีโล” หรือ “พระครูสาครศีลาจาร” อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล ต.ชัยมงคล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลไว้มากมายหลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมากคือเหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2494

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2494 จำนวนการสร้าง 1,000 เหรียญ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อครึ่งร่าง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เขียนว่า “อาจารย์เปลี่ยน วัดชัยมงคล”

ด้านหลัง มียันต์มอญ บนยันต์เขียนว่า “ของหลวงพ่อกายสิทธิ์” ด้านล่างของยันต์มีเลขไทย เขียนคำว่า “๒๔๙๔” ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

กล่าวกันว่า เหรียญรุ่นแรกหายากกว่าเหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เสียอีก

นอกจากเหรียญรุ่นแรกแล้ว ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ พระบูชารุ่นแรก

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2504 ลักษณะเป็นพระบูชาขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว เนื้อปูนทาสี จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนนั่งสมาธิ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “พระครูเปลี่ยน กนฺตสีโล”

ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ

เป็นวัตถุมงคลที่หายากของสมุทรสาคร

 

มีนามเดิมว่า เปลี่ยน คงถิ่น เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2433 ตรงกับวันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ที่บ้านตำบลบ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

บิดา-มารดาชื่อนายลอยและนางสี คงถิ่น ครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน

พ.ศ.2451 อายุ 18 ปี บรรพชาที่วัดเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านตามแบบสมัยนิยม

พ.ศ.2453 อายุได้ 20 ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดเกาะ โดยมีเจ้าอธิการนุต เจ้าอาวาสวัดบางปลา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการแก้ว เจ้าอาวาสวัดเกาะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์กล่ำ วัดบางปลา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่ากันตสีโล

อยู่จำพรรษาที่วัดเกาะเป็นเวลา 6 พรรษา ก่อนย้ายไปจำพรรษาที่วัดคลองครุอีก 7 พรรษา จากนั้นย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล (เดิมชื่อวัดหัวตะเข้) ต.ชัยมงคล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ.2466

 

ก่อนที่จะมาเป็นวัดชัยมงคลนี้ เดิมชื่อวัดหัวตะเข้มาก่อน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาว่า ได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจากมหาชัยได้เอาขวานทองฟันหัวจระเข้ตัวหนึ่งซึ่งเป็นจระเข้มีอาคม เพราะใครก็ฆ่าไม่ได้ทั้งที่ได้พยายามล่ามันอยู่นาน โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นจระเข้ของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด (หลวงปู่นุต วัดบางปลา) อย่างแน่นอน

เมื่อจระเข้ถูกขวานจามหัวแล้ว ตะเกียกตะกายเพื่อหนีตายไปจากคุ้งน้ำมหาชัย รอนแรมไปตามคลองเล็กคลองน้อย จนกระทั่งมาถึงทุ่งกว้างแห่งหนึ่งทางมาอำเภอบ้านแพ้ว ชาวบ้านจึงออกตามล่าเพื่อเอาขวานทองคืน แต่เมื่อถึงตัวจระเข้แล้วกลับไม่มีใครกล้าที่จะจัดการ ด้วยกลัวในฤทธิ์เดช

เนื่องจากเป็นจระเข้อาคมดังกล่าว ชาวบ้านจึงต้องไปนิมนต์หลวงพ่อเปลี่ยน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดมาปราบ

เมื่อมาถึง ท่านก็ได้ไปดูบริเวณที่จระเข้นอนกบดานอยู่ จึงทำพิธีสะกดจิตให้จระเข้ขึ้นมาจากน้ำด้วยการนั่งภาวนาบนริมคลอง

ทันใดนั้นจระเข้ได้โผล่ขึ้นมา ที่หัวของมันก็ยังมีขวานทองปักคาอยู่ จึงเรียกให้มันขึ้นมาบนบก ซึ่งมันก็ตะเกียกตะกายขึ้นมาอย่างเชื่องช้า ทำเอาชาวบ้านแตกตื่นหนีกันอลหม่าน

หลวงพ่อเปลี่ยนใช้อาคมทำให้หลับแล้วดึงขวานออกจากหัวจระเข้จนสำเร็จและได้ตรวจดูที่หัวของมัน พบกับรอยสักยันต์ 4 ทิศ อันเป็นยันต์ของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดที่ได้ลงไว้นั่นเอง ต่อมาจระเข้ตัวนั้นทนต่อพิษบาดแผลไม่ไหว ตายในที่สุด จึงสั่งให้ชาวบ้านนำไปฝังไว้ใกล้กับจุดที่พบจระเข้

หลังจากจระเข้ตายไม่นาน ชาวบ้านผู้ที่ปาขวานทองใส่หัวจระเข้ก็ตายตามไปอีกคน และคนอื่นที่ได้ร่วมขบวนในการไล่ล่า ต่างล้มป่วยกันเป็นทิวแถว เชื่อว่าด้วยแรงอาถรรพ์ของวิญญาณจระเข้

 

พอทราบเรื่องจึงได้ทำพิธีสะกดวิญญาณ และให้ตั้งศาลขึ้น เหตุการณ์ต่างๆ จึงสงบลงอย่างปาฏิหาริย์ ซึ่งศาลของจระเข้ตัวนั้นเคยตั้งอยู่ในบริเวณวัดหัวตะเข้ ต่อมาได้มีการสร้างศาลาเพื่อใช้ในการประกอบศาสนพิธี จึงได้ทำการย้ายศาลหัวจระเข้ไปไว้ยังท้ายวัดจวบจนถึงปัจจุบัน

ชาวบ้านกลุ่มแรกที่ตามล่าจระเข้กันมาได้พากันมาตั้งรกรากกันที่นั่นเลย โดยให้ชื่อว่าบ้านหัวตะเข้ และนิมนต์ให้หลวงพ่อเปลี่ยนตั้งชื่อวัดขึ้นในที่พบจระเข้และให้ชื่อว่าวัดหัวตะเข้เช่นกัน

ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดศีรษะตะเข้ ผ่านไปหลายปี เมื่อหลวงพ่อเปลี่ยนก่อสร้างเสนาสนะสงฆ์ จนมีความเจริญมากขึ้นแล้ว ท่านได้พิจารณาเพื่อให้ชื่อเป็นสิริมงคล จึงเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นวัดชัยมงคล และหมู่บ้านก็เปลี่ยนชื่อตามวัดว่าหมู่บ้านชัยมงคล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่คนรุ่นเก่าบางคนก็ยังคงเรียกติดปากกันว่าบ้านหัวตะเข้กันอยู่ถึงปัจจุบัน

มรณภาพลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2519 รวมสิริอายุ 86 ปี พรรษา 66 หลังจากมรณภาพ ทางวัดเก็บสรีระของท่านไว้นานถึง 6 ปี

ในปี พ.ศ.2525 จะทำการพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งปรากฏว่าศพของท่านไม่เน่าเปื่อย นับเป็นเรื่องที่อัศจรรย์