
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
เกาหลีเหนือ
กับสงครามต้านวัฒนธรรมต่างชาติ
ท่ามกลางวิกฤตเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทุกประเทศเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัว พลเมืองประสบกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต
และนั่นก็ไม่ยกเว้นประเทศอันโดดเดี่ยวอย่าง “เกาหลีเหนือ”
คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือระบุไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า ในช่วงเวลานี้เกาหลีเหนือกำลังเผชิญกับ “สถานการณ์เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมาที่เราจะต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้”
สำหรับประเทศที่เวลานี้กำลังล็อกดาวน์ตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ประเทศที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ มีเพียงสถานีโทรทัศน์ของรัฐไม่กี่ช่องที่ป้อนเนื้อหาที่รัฐบาลอยากให้ดูและอยากให้ฟังแล้ว “สถานการณ์เลวร้าย” ในมุมมองของรัฐบาลเกาหลีเหนือจึงไม่ใช่ปากท้องของประชาชน แต่เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ
ความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นสิ่งที่คิม จอง อึน ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ นั่นจึงทำให้ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือออกกฎหมายใหม่เพื่อกวาดล้างสื่อจากโลกภายนอกและวัฒนธรรมจากต่างชาติ พร้อมกับบทลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้น
รายงานจาก “เดอะเดลีเอ็นเค” สื่อที่รายงานข่าวเกี่ยวกับเกาหลีเหนือและมีสำนักงานอยู่ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า กฎหมายใหม่เพิ่มโทษกับชาวเกาหลีเหนือผู้มีสื่อจากเกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น เป็นจำนวนมากจะต้องรับโทษถึง “ประหารชีวิต” และสำหรับใครก็ตามที่ถูกจับได้ว่ากำลังดูสื่อจากต่างชาติ จะต้องถูกส่งไปยังค่ายกักกันแรงงานเป็นเวลาถึง “15 ปี”
รัฐบาลเกาหลีเหนือไม่ได้พยายามปิดหูปิดตาประชาชนจากสื่อต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเข้าไปควบคุมถึงชีวิตส่วนตัวด้วย
โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้ คิม จอง อึน ได้ส่งหนังสือถึงสื่อของรัฐเรียกร้องให้กลุ่ม “สันนิบาตเยาวชน” พรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ กวาดล้างพฤติกรรมน่ารังเกียจ ยึดถือความเป็นปัจเจกและต่อต้านสังคมนิยม ในหมู่เยาวชนของประเทศ มีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งการใช้ศัพท์แสงจากต่างชาติ ทรงผม รวมถึงการแต่งตัว ซึ่งผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือระบุว่าเป็น “ยาพิษอันตราย”
“เดอะเดลีเอ็นเค” สื่อที่มีแหล่งข่าวในเกาหลีเหนือ รายงานว่า มีวัยรุ่น 3 คนถูกส่งไปยังค่ายแรงงานปรับทัศนคติ ผลจากการตัดผมเหมือนศิลปินเค-ป๊อปเกาหลีใต้ และพับขากางเกงขึ้นมาเหนือข้อเท้า
นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดไว้ด้วยว่า กรณีแรงงานกระทำผิด หัวหน้าผู้คุมโรงงานจะต้องถูกลงโทษด้วย ขณะที่หากเด็กหรือลูก-หลานคนใดก็ตามในครอบครัวกระทำผิด ผู้ปกครองก็จะถูกลงโทษด้วยเช่นกัน
นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเกาหลีเหนือมองว่า การออกกฎหมายใหม่ครั้งนี้ เป็นความพยายามหยุดยั้งข้อมูลจากภายนอกไม่ให้เข้าถึงประชาชนชาวเกาหลีเหนือ ที่เวลานี้มีชีวิตยากลำบากสุดขั้ว
ในขณะที่ภาวะอดอยากที่กัดกินประชาชนหลายล้านคน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือมองว่าจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือสื่อสารโฆษณาชวนเชื่อไปถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ให้พวกเขาทำงานหล่อเลี้ยงบรรดาชนชั้นปกครอง แทนที่จะถูกเปิดมุมมองของชีวิตแบบใหม่ๆ ผ่านสื่อบันเทิงที่ข้ามชายแดนเข้ามา และอาจก่อให้เกิดความไม่พอใจที่นำไปสู่ “การต่อต้าน” ในที่สุด
และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นแม้ว่าเกาหลีเหนือจะถูกตัดจากโลกภายนอกมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ตาม
การกวาดล้างสื่อจากโลกภายนอกของเกาหลีเหนือในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่อย่างแพร่หลายของสื่อบันเทิงจากต่างประเทศที่ถูกแอบนำเข้ามาเสพกันในหมู่ประชาชน
ชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ให้ข้อมูลกับบีบีซีเอาไว้ว่า หลายปีมาแล้วที่ซีรีส์โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ถูกลักลอบนำเข้ามายังเกาหลีเหนือ ผ่านทางชายแดนประเทศจีน
สื่อบันเทิงต่างๆ เหล่านี้ถูกบันทึกและส่งต่อกันผ่านทาง “ธัมไดรฟ์” ที่มีใช้กันอย่างแพร่หลาย
โดยธัมไดรฟ์เหล่านี้จะถูกเข้ารหัสผ่านเอาไว้ โดยหากใส่รหัสผ่านผิด 3 ครั้ง เนื้อหาภายในก็จะถูกลบทันที
รวมไปถึงการเข้ารหัสให้สามารถเปิดรับชมได้ครั้งเดียวก่อนที่เนื้อหาจะถูกลบโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้มีการส่งต่อกัน เป็นต้น
ข้อมูลระบุว่า ละครเกาหลีใต้ที่แอบลักลอบชมกันในเกาหลีเหนือตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนคือเรื่อง “Stariway to Heaven” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ฝากรักไว้ที่ปลายฟ้า”
นอกจากสื่อที่ถูกส่งผ่านทางธัมไดรฟ์แล้ว ยังถูกแพร่กระจายผ่านทางแผ่นซีดีและดีวีดี ที่สามารถคัดลอก ทำซ้ำได้อย่างง่ายดาย
โดยเมื่อปี 2002 รัฐบาลเกาหลีเหนือบุกค้นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งและยึดแผ่นซีดีบันทึกสื่อบันเทิงเหล่านี้เอาไว้จำนวนมากกว่า 20,000 แผ่น
นั่นแสดงให้เห็นว่าสื่อบันเทิงที่ถูกลักลอบเข้ามาอยู่ในมือประชาชนมากแค่ไหน
ผู้ที่ถูกจับกุมว่าครอบครองหรือส่งต่อสื่อจากโลกภายนอกจะถูกนำตัวไปสอบสวน ซ้อมทรมานเพื่อสืบหาต้นตอการลักลอบ บางคนอาจรอดมาได้ด้วยฐานะทางสังคมด้วยการจ่ายสินบน ขณะที่บางคนอาจต้องถูกลงโทษถึงการประหารชีวิต
ชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ ระบุกับบีบีซีด้วยว่า แม้จะมีกฎหมายที่เข้มงวดรุนแรง ความสงสัยใคร่รู้ถึงสิ่งที่เป็นไปในโลกภายนอกก็ยังคงทำให้ “สื่อต้องห้าม” เหล่านี้ยังคงถูกส่งต่อกันในหมู่ประชาชนจนถึงทุกวันนี้
แน่นอนว่าสื่อเหล่านี้ก่อให้เกิดความคับข้องใจในหมู่ประชาชนชาวเกาหลีเหนือ แต่ที่น่าเศร้าก็คือ ความคับข้องใจที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้นำไปสู่สิ่งใดเลย
การลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลและกฎหมายอันกดขี่ เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการหนีออกมาจากประเทศผ่านทางชายแดน ยิ่งเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเวลานี้อาจต้องเผชิญกับห่ากระสุนที่พร้อมปลิดชีพผู้แปรพักตร์ได้ทุกเมื่อ
และนั่นก็คือความพยายามทำสงครามกับวัฒนธรรมต่างชาติจากโลกภายนอกของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ที่สะท้อนความกดขี่ที่ไม่มีวันจบสิ้น