“ออน ออฟ (On-Off)” : กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร

ผมเป็นมนุษย์ “คอนโดฯ” ครับ

อยู่แถวสาทร ติดสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์เลย

เพื่อนๆ แวะมาเยี่ยม ก็มักจะ “อิจฉา”

พวกมันคิดว่า คอนโดฯ ผมจะต้องแพงมากๆ แน่ๆ ทำเลดีขนาดนี้

เลยอยากจะอวดครับ

คอนโดฯ ผม สร้างเสร็จพร้อมอยู่ ก่อนรถไฟฟ้าจะเริ่มสร้างเสียอีก

คุณพ่อคุณแม่ผมซื้อไว้ กะว่าให้ผมมาอยู่เมื่อสมัย ม.ต้น เนื่องจากใกล้โรงเรียน

เกือบยี่สิบปีแล้วครับ ตอนนี้ผมมีลูกหนึ่งคนแล้ว

จำได้ว่า เมื่อตอนผมอยู่ ม.ปลาย อยู่ดีๆ ฟ้าฝนเป็นใจ เขามาสร้างสถานี ทางลงบันไดอยู่หน้าคอนโดฯ ผมซะงั้น

เป็นอีกเรื่องโชคดีของผม ที่อยากถือ “โอกาส” อวดซะ

เล่ามาซะยืดยาว พาออกทะเล

ที่จริงอยากจะเล่าถึงกิจวัตรอย่างหนึ่งของชาว “คอนโดฯ” ครับ

นั่นคือ การเช็กตู้ไปรษณีย์ที่ล็อบบี้ ว่าจะมีอะไรส่งมาถึงรึเปล่า

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มี “สิ่งหนึ่ง” ที่ผมสังเกตชัดเจนครับ

มี “พัสดุ” ส่งมามากขึ้นเรื่อยๆ ดูจากภายนอกรู้ว่าไม่ใช่จดหมาย

จ่าหน้าถึง “ภรรยา” ที่รัก

เอ๊ะ นี่มันยังไงกัน…

เมื่อต้นเดือน มีข่าวใหญ่วงการช้อปปิ้งออนไลน์

เมื่อ JD.Com อีคอมเมิร์ซเจ้ายักษ์อันดับสองของเมืองจีน

ประกาศว่ามีแผนจะเข้ามาแข่งขันในเมืองไทย ต่อจากพี่ใหญ่แดนมังกร อาลีบาบา ของ แจ๊ก หม่า ที่เข้ามาซื้อ Lazada เมื่อปีที่แล้ว

แน่นอนว่า การแข่งขันเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้น ผู้ได้ประโยชน์คือ “ผู้บริโภค” ที่จะมีตัวเลือกมากขึ้น

ทั้งความหลากหลายของสินค้า ราคา และบริการ ก็คงทยอยออกมา “เอาใจ” ลูกค้า

SME ไทยก็อาจจะได้ประโยชน์ไม่น้อย

เนื่องจากสามารถจะเอาของไปขายได้ง่ายๆ บน platform ที่มีคุณภาพ

มีของดี คนอยากได้ ที่เหลือบริษัทอีคอมเมิร์ซเหล่านี้ดูแลให้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจ่ายเงิน การส่งของต่างๆ

พี่ใหญ่ชาวไทยเราที่อาจจะ “เดือดร้อน” ก็เห็นจะเป็น “ห้าง” ทั้งหลาย

เซ็นทรัลเองก็เคยออกมาประกาศจะเอาจริงเอาจังกับ “เซ็นทรัลออนไลน์”

แต่ก็ยังไม่เห็น “ความคืบหน้า” ที่ชัดเจนเท่าไร

ล่าสุดมีประกาศจะสร้าง “แบรนด์” ใหม่ ชื่อว่า “LOOKSI”

ทั้งนี้ทั้งนั้น จะเห็นว่า เจ้าของธุรกิจต่างๆ มองไปที่ “ออนไลน์”

ช้าหรือเร็ว นี่คือ “อนาคต” ของการ “ช้อปปิ้ง”

ใช่หรือเปล่า

มาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

เจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซ อย่าง Amazon.com ของ เจฟ เบซอส ผู้ครองใจคนทั้งประเทศ

ทำให้การซื้อขายของออนไลน์เป็นทางเลือกแรกสำหรับคนซื้อของไปเสียแล้ว

ถ้าไม่ได้มีเวลามาก ถ้าไม่ได้อยากจะออกไปสูดอากาศ

คนที่ประเทศอเมริกาส่วนมาก ณ วันนี้ ซื้อสินค้าจาก Amazon.com เป็นนิสัยไปเสียแล้ว

ด้วยฟังก์ชั่นยอดฮิต อย่าง 1-click

ปุ่มที่กดครั้งเดียว ซื้อของได้เลย

ทำให้ผู้คนซื้อของกันได้แบบง่ายจริงๆ สะดวกสุดๆ

รวมทั้งการมี “ปัญญาประดิษฐ์” ในฟังก์ชั่นที่เรียกว่า “Recommend”

จากที่เข้าไปในเว็บเพื่อดูๆ ไม่ได้กะจะซื้ออะไรจริงจัง กลับออกมาด้วยของที่ “โดนใจ” หลายอย่าง

ซื้ออันนี้แล้ว คุณอาจจะชอบอันนั้นด้วยนะ

แนะนำกันไปให้ได้เสียสตางค์

อีคอมเมิร์ซ เรียกได้ว่ารุ่งเรืองสุดในประเทศสหรัฐอเมริกา

แต่รู้มั้ยครับว่า Amazon.com ที่ขายหนังสือออนไลน์ได้มากที่สุดในโลก

ทำให้ร้านค้าปลีกหนังสือเจ้าใหญ่อย่าง บาร์น แอนด์ โนเบิล (Barnes & Noble) ต้องหืดขึ้นคอ

เขากลับตัดสินใจเปิด “ร้านค้าปลีก” ขึ้นมาเมื่อปี 2015

ปัจจุบันมีร้านขายหนังสือชื่อว่า Amazon อยู่ถึงเจ็ดแห่ง ตามหัวเมืองหลักในอเมริกา

ไม่ได้ขายหนังสืออย่างเดียว แต่ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองด้วย

เข้าไปจะซื้อหนังสือ กลับออกมาพร้อม Kindle และ Alexa

อีกเรื่องที่ทาง Amazon ประกาศออกมาเมื่อต้นปี ทำให้ผู้คนตื่นตาตื่นใจกัน

ก็ร้าน Amazon Go ร้านค้าที่ “เดินเข้าหยิบของ แล้วออกเลย” ได้จริงๆ

เรื่องจ่ายเงินนั้น เทคโนโลยีต่างๆ ในร้านจะ “จัดการ” ให้เสร็จสรรพ

เขารู้หมดตั้งแต่เข้าร้าน คุณเป็นใคร หยิบอะไร เดินออกทางไหน จ่ายเงินหรือยัง

ทุกอย่างผ่าน “อากาศ” ไม่ต้องมีคน มีกระดาษ มีเงินสด มาทำให้วุ่นวาย

ร้าน Amazon Go อยู่ที่เมือง Seattle ให้ผู้สนใจเข้าไปทดลองประสบการณ์ช้อปปิ้งแห่งอนาคตนี้ได้

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Amazon ประกาศซื้อกิจการบริษัท Wholefoods

บริษัทซูเปอร์มาร์เก็ตสุดชิกขายอาหารเพื่อสุขภาพ หรือที่เรียกกันว่า ออร์แกนิก (Organic) เป็นที่ชื่นชอบของชาวอเมริกันรักสุขภาพกันถ้วนหน้า

Amazon ซื้อ Wholefood ด้วยตัวเงิน 13.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบห้าแสนล้านบาท

ลองนึกตามนะครับ

บริษัทที่เป็นเจ้าตลาดทางด้านช้อปปิ้งออนไลน์อย่าง Amazon ทำไมเขาถึงเริ่มมาสร้าง “ร้านค้า” กันเล่า

สินค้าราคาถูก มีตัวเลือกมากมาย ส่งถึงบ้าน ทุกอย่างดูจะลงตัวเรียบร้อย สำหรับ “ลูกค้า” ของ Amazon

ทำไม Amazon จึงตัดสินใจมาตั้ง “ร้านขายปลีก” ในขณะที่ร้านค้าปลีกอื่นๆ ทยอยปิดตัว เคลื่อนเข้าสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น

คำตอบที่แน่ชัด เราคงไม่อาจหยั่งรู้ได้

สุดท้ายแล้ว มนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์

การปฏิสัมพันธ์ ผ่านประสาทสัมผัสจริงๆ ประสบการณ์ในการซื้อของ ก็อาจจะยังเป็นส่วนสำคัญของการ “ช้อปปิ้ง” ในอนาคตก็เป็นได้

ในขณะที่ทุกคนพุ่งไปที่ออนไลน์ (online)

Amazon กลับเพิ่มร้านออฟไลน์ (offline) มากขึ้น

ออนไลน์ หรือออฟไลน์ อาจจะเป็นคำถามที่ผิด

หากเปลี่ยนจาก “หรือ” เป็น “และ”

แล้วทำให้ “ดี” ทั้งสองอย่าง อยู่ในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการเรา เมื่อเขาต้องการเรา

สิ่งนี้อาจจะเป็น “อนาคต” ของการช้อปปิ้งที่แท้จริงก็เป็นได้

“พัสดุ” ของภรรยาที่รัก ก็คือสินค้าออนไลน์ที่เธอซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หากแต่ว่าถามเธอ “วันอาทิตย์นี้ไปเที่ยวไหนกันดี”

“ไปห้างสิ” เธอตอบ

ออนไลน์และออฟไลน์ คู่กัน วนๆ ไป

นี่แหละคืออนาคตของการช้อปปิ้ง