คุยกับทูต ” ฮาเซ็ม เอล ดาห์รี ” จากดินแดนฟาโรห์ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ : ความมั่นคง ศาสนา เศรษฐกิจ

คุยกับทูต ฮาเซ็ม เอล ดาห์รี จากดินแดนฟาโรห์ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ (3)

ย้อนอ่านตอน  1  2

“ประเทศไทยและอียิปต์มีความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีในหลายด้าน และเรายังมีสายการบินอียิปต์แอร์ (EgyptAir) บินตรงระหว่างกรุงไคโรและกรุงเทพฯ หลายเที่ยวบิน ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งคนและสินค้า”

ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย นายฮาเซ็ม เอล ดาห์รี (His Excellency Hazem El Tahry) กล่าวว่า

“ชาวอียิปต์มาเปิดกิจการในประเทศไทยไม่มากนัก ส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและร้านอาหารอียิปต์ เราทำงานร่วมกับหอการค้าไทย-อียิปต์ (Thai-Egypt Chamber of Commerce) โดยจัดให้มีการประชุมกันเมื่อนักธุรกิจอียิปต์ต้องการความช่วยเหลือจากเรา เพื่อช่วยประสานงานกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ”

เนื่องจากประเทศอียิปต์เป็นตลาดใหญ่ มีประชากร 95 ล้านคน ขณะที่มีทรัพยากรน้อยไม่เพียงพอต่อการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ขณะที่แนวโน้มของประชากรอียิปต์ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราสูง

ชาวอียิปต์ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสายกลาง มีความยืดหยุ่นในเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ยอมรับสิ่งใหม่ๆ จึงมีนักธุรกิจอียิปต์หันมาให้ความสนใจทำการค้ากับประเทศแถบเอเชียเพิ่มมากขึ้น

จากรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การค้าไทย-อียิปต์ในปี ค.ศ.2015 มีมูลค่ารวม 1,056.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอียิปต์นำเข้าสินค้าจากไทยปี ค.ศ.2015 มูลค่า 1,012.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.59 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของอียิปต์

สินค้าไทยนับว่าเป็นที่ยอมรับในตลาดอียิปต์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เป็นต้น

ฝ่ายอียิปต์ส่งออกสินค้ามาไทยปี ค.ศ.2015 มูลค่า 42.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.08 ของมูลค่าการส่งออกรวมของอียิปต์

สินค้าที่อียิปต์ส่งออกมาไทยได้แก่ อาหารทะเล เช่น ปลาทูน่า เหล็ก ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย ของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และยา ซึ่งอียิปต์มีชื่อเสียงในด้านผลิตยามาเป็นเวลายาวนาน

แหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศที่สำคัญของอียิปต์ ได้แก่ การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว การลงทุน ค่าธรรมเนียมการเดินเรือผ่านคลองสุเอซ และเงินจากแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ

ในด้านความสัมพันธ์กับอาเซียน (ASEAN) อียิปต์ต้องการเสริมสร้างความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างแอฟริกาเหนือกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายอับเดล ฟัตตาห์ เอล ซีซี (Abdel Fattah el-Sisi) ประธานาธิบดีอียิปต์ได้ไปเยือนคณะเลขาธิการอาเซียนและพบปะกับ นายเลเลืองมิงห์ (Le Luong Minh) เลขาธิการอาเซียน เมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ.2015

อียิปต์มุ่งมั่นขยายความสัมพันธ์กับอาเซียนด้านการค้า-การลงทุน ออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อปกป้องและให้ความช่วยเหลือนักลงทุนต่างประเทศ ขยายความสัมพันธ์ด้านการศึกษา การท่องเที่ยว การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและความมั่นคง รวมทั้งการต่อต้านผู้ก่อการร้ายและความรุนแรง

ขณะเดียวกัน อาเซียนกำลังพยายามขยายความสัมพันธ์การต่างประเทศกับประเทศหุ้นส่วนใหม่ๆ และเพิ่งเกิดใหม่ในแอฟริกา ตลอดจนตะวันออกกลาง

อียิปต์และอาเซียนจะร่วมกันผลักดันกิจกรรมการพบปะสังสรรค์ ผลักดันความเข้าใจระหว่างกันผ่านเครือข่ายการประกอบธุรกิจและการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน

เมื่อปีที่แล้วอียิปต์และโมร็อกโก เป็นประเทศแอฟริกาเหนือสองประเทศแรกที่เข้าร่วมสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperation) ซึ่งมีผู้ลงนาม 35 คนจากทั่วโลก

ถามถึงความคิดเห็น ในประเด็นปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

“เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะอียิปต์และไทยเป็นเพื่อนกันและมีหลายสิ่งที่คล้ายกัน ในอียิปต์มีชาวมุสลิมและชาวคริสเตียน เราอยู่ด้วยกัน มีสัญชาติและสิทธิเช่นเดียวกัน” ท่านทูตชี้แจง

“เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางการไทยได้เชิญผมและคณะไปที่จังหวัดยะลา ผมยังได้ยินเสียงระเบิดภายนอกโรงแรมที่เราพักด้วย แต่มั่นใจว่า ทุกอย่างอยู่ในความควบคุมเพราะไทยมีกองทัพที่เข้มแข็ง”

“หลังการพูดคุยปรึกษาหารือกัน มีนายทหารไทยระดับสูงถามว่า อียิปต์จะสามารถให้ความช่วยเหลือด้านนี้ได้อย่างไร ผมตอบว่า อียิปต์เป็นมิตรของไทย แต่โดยส่วนตัวแล้ว ขอแนะนำว่า คนไทยต้องหาทางแก้ปัญหากันเอง อย่าให้เราเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย”

“เราแนะนำบางเรื่องที่เกี่ยวกับมุสลิม ซึ่งมีสองเรื่องที่ควรเริ่มดำเนินการก่อน”

“เรื่องแรก เราทุกคนต้องยอมรับซึ่งกันและกัน ชาวมุสลิมต้องยอมรับในชาวพุทธและชาวพุทธต้องยอมรับในชาวมุสลิม อันเป็นการเคารพและยอมรับซึ่งความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเทศเดียวกัน”

“เรื่องที่สอง ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นปัญหาดังกล่าว ประชาชนทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่เป็นมุสลิมส่วนใหญ่ยังคงยากจน จึงควรที่จะกำหนดให้มีโครงการขนาดใหญ่ อย่างน้อยที่สุดคนในท้องถิ่นก็จะมีงานทำ มีครอบครัว มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นตามมา มิฉะนั้น จะเหมือนกับคุณทอดทิ้งพวกเขาไว้เบื้องหลังโดยปราศจากความหวังใดๆ ในอนาคต”

“ผมมีความเชื่อว่า รูปแบบของศาสนาอิสลามในอียิปต์เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์ เราคุ้นเคยในการปฏิบัติต่อชาวคริสเตียนและชาวยิวในอียิปต์มาหลายปีแล้ว นี่คือวัฒนธรรม ที่เราสามารถช่วยได้หากคุณต้องการความช่วยเหลือจากเรา เราไม่ได้พูดถึงการแบ่งแยกออกจากประเทศไทย หากแต่เราพูดถึงประเทศเดียวกันและทุกคนต่างต้องมีความเป็นส่วนตัวไม่อาจให้ใครเข้ามาแทรกแซงได้”

“บรรพบุรุษและลูกหลานไทยหลายคนศึกษาอยู่ในอียิปต์จวบจนทุกวันนี้ เราจึงหวังว่า ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ชาวมุสลิม ชาวพุทธ และทุกคน”

การถือศีลอดเดือนรอมฎอน อันเป็นช่วงที่มีการสนทนากับท่านทูต

“สาระสำคัญของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้น ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการลงโทษผู้คน แต่มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสและรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบาก ได้เรียนรู้ถึงอุปสรรคต่างๆ ของการดำเนินชีวิต และเมื่อได้สัมผัส ได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากแล้ว การถือศีลอดจึงส่งผลสืบเนื่องให้ผู้ถือศีลนั้นรู้จักอดกลั้นอดทนต่อความทุกข์ยากต่างๆ ด้วยความพากเพียรและสติปัญญา กล่าวคือ ฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมทุกคนให้เป็นผู้มีสติ หนักแน่น มีจิตใจอดทนอดกลั้นทั้งต่อความหิวโหย ต่อความโกรธ ความปรารถนาแห่งอารมณ์ และสิ่งยั่วยวนนานัปการ ซึ่งผลที่ได้จากความเพียร คือการพัฒนาตนเองไปในทางที่ดี มีความใฝ่สูงด้านจิตใจอยู่ตลอดเวลา จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่านและพร้อมที่จะเผชิญและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา มุ่งสู่ความสำเร็จ” ท่านทูตกล่าว

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนถือว่าเป็นช่วงเวลาอันประเสริฐ และเดือนของชาวมุสลิมทั่วโลก จึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม

นอกเหนือไปจากความยำเกรง และศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า

สําหรับประเทศไทย งานเลี้ยงละศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้น ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาจัดให้มีเป็นประจำต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพในนามของรัฐบาลจัดเลี้ยงที่ทำเนียบรัฐบาล และประธานรัฐสภาเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงที่อาคารรัฐสภา

ผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานหลักๆ ได้แก่ จุฬาราชมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนเอกอัครราชทูตมุสลิมประจำประเทศไทย คณะทูตานุทูตมุสลิมประจำประเทศไทย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์กรมุสลิมแห่งประเทศไทย บุคคลสำคัญทางศาสนาอิสลาม สื่อมวลชนมุสลิม และแขกผู้มีเกียรติอื่นๆ

การจัดเลี้ยงนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติและร่วมแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศ ที่ได้มีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน

ทั้งนี้ นอกจากรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลแล้ว ยังมีสถานทูตของประเทศต่างๆ ทั้งประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมจัดเลี้ยงละศีลอดแก่พี่น้องมุสลิมเช่นนี้ด้วย การจัดเลี้ยงแต่ละครั้งของทุกองค์กรที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความราบรื่น มีบุคคลสำคัญของมุสลิมไทยต่างได้ให้เกียรติเข้าร่วมงานมาโดยตลอด ท่านทูตฮาเซ็ม เอล ดาห์รี กล่าวว่า

“ในเดือนรอมฎอน เราพยายามปฏิบัติตนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เราเป็นมนุษย์ แน่นอนว่าอาจทำผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตาม ผมขอส่งความปรารถนาดีมายังพี่น้องชาวมุสลิมทุกคนในประเทศไทย ขอให้มีความสุขโดยทั่วกัน ประเทศไทยซึ่งมีวัฒนธรรมอันหลากหลาย ถือว่ามีไมตรีจิตต่อชาวมุสลิม ผมหวังว่างานเลี้ยงละศีลอดในเดือนรอมฎอนโดยนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทย จะมีการดำเนินต่อไปเป็นประจำทุกปี”