คุยกับทูต ฮาเซ็ม เอล ดาห์รี จากดินแดนฟาโรห์ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ (2)

“ก่อนอื่น ผมขอแสดงความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้งและอาลัยอาวรณ์ร่วมกับประชาชนชาวไทยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมความปรารถนาดีอย่างจริงใจต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์”

นายฮาเซ็ม เอล ดาห์รี (His Excellency Hazem El Tahry) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทยกล่าว

“ผมอยู่ที่นี่เป็นเวลาสองปีแล้ว รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากที่ประชาชนในวัยที่แตกต่างกัน แสดงความโศกเศร้าอาลัยหลังการสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการพัฒนาประเทศชาติ และอุทิศพระองค์เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนตลอดมา จึงเป็นที่รักยิ่งของประชาชนคนไทย และทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจเสมือนบิดาของคนไทยทั้งชาติ”

“ในท่ามกลางความโศกเศร้าที่ปกคลุมไปทั่วประเทศ และเสียงร่ำไห้อบอวลไปทั่วบริเวณ ผมได้เห็นประชาชนจำนวนมหาศาลมารวมตัวกันอย่างใกล้ชิดโดยไม่คำนึงถึงสถานะหรือศาสนา ได้เห็นทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมร่วมกันร่ำไห้ต่อการสูญเสียพระมหากษัตริย์ของพวกเขา”

“ขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นแง่มุมดีๆ ในบรรยากาศแห่งความวิปโยคอาลัย โดยทุกคนต่างมีน้ำใจให้แก่กัน เห็นภาพแห่งความรักความสามัคคีของคนไทยปรากฏขึ้นชัดเจน แสดงถึงความเป็นปึกแผ่นของชุมชน และความมั่นคงของประเทศชาติ”

ท่านทูตเอล ดาห์รี กล่าวว่า

“ไทยกับอียิปต์มีความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 จนบัดนี้ 63 ปีแล้ว เรามีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า การศึกษา และวัฒนธรรม สถานทูตอียิปต์ในกรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 20 คน โดยครึ่งหนึ่งเป็นคนไทย หลายคนอยู่กับเรามานาน เช่น คนขับรถ ซึ่งทำงานที่สถานทูตเป็นเวลาถึง 16 ปีกับเอกอัครราชทูต 6 คน”

“ผมเป็นเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทยโดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา ทำให้ผมต้องมีภารกิจไปที่นั่น และเมื่อปี ค.ศ.2016 กัมพูชาได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นที่กรุงไคโร ซึ่งเป็นเพียงแห่งเดียวในทวีปแอฟริกา นี่เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีมาก อันเป็นผลมาจากความพยายามของทีมงานของเราและเอกอัครราชทูตก่อนหน้า”

สำหรับความร่วมมือด้านการศึกษา เนื่องจากนักศึกษาไทยมุสลิมมักนิยมไปศึกษาที่อียิปต์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาอิสลาม

ปัจจุบันจึงมีนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร (Al-Azhar University) จำนวน 2,600 คน

โดยในแต่ละปีมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมประมาณปีละ 60-80 ทุน

และทุนจากรัฐบาลอียิปต์ (กระทรวงอุดมศึกษา) ซึ่งให้แก่นักเรียนไทยทั่วไป ปีละ 2 ทุน

ไทยได้ร่วมมือกับอียิปต์สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาโดยมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร เป็นฝ่ายจัดส่งครูมาร่วมในการสอนที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส รวมทั้งส่งครูไปสอนที่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่งในไทยนานกว่า 20 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ในปี ค.ศ.2006-2014 ไทยได้บริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของนักเรียนไทยขณะเดียวกัน และไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่อียิปต์ในหลายสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ การจัดอบรมหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว หลักสูตรด้านการบริหารธุรกิจการส่งออก

หลักสูตรด้านการบริหารจัดการลุ่มน้ำและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ท่านทูตเอล ดาห์รี กล่าวว่า

“สาธารณรัฐอียิปต์มีแนวทางในการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาไทย สาขาแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากสาขาศาสนาอิสลาม ภาษาอาหรับ และกฎหมายอิสลาม”

และเนื่องจากมีการใช้ภาษาอาหรับในประเทศไทยมากขึ้นในปัจจุบัน เพื่อการติดต่อสื่อสารด้านธุรกิจการค้า และด้านสุขภาพ อีกทั้งมีชาวอาหรับเดินทางเข้ามารับการรักษาในสถานพยาบาลของไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

“นั่นเป็นเหตุที่ผมกำลังผลักดันให้มีสถาบันภาษาอาหรับในประเทศไทย นักเรียนไทยที่เดินทางไปศึกษาที่อียิปต์ใช้เวลาประมาณหนึ่งปีเพื่อเรียนภาษาอาหรับ ผมเชื่อว่าถ้านักเรียนได้เรียนภาษาที่ประเทศไทยก่อนที่จะไปศึกษาต่อในประเทศอียิปต์ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก สถาบันภาษาอาหรับจะไม่เฉพาะสำหรับชาวมุสลิมเท่านั้น หากสำหรับทุกคนที่ต้องการเรียนรู้ภาษาอาหรับ รวมทั้งชาวไทยพุทธและพลเมืองของประเทศอื่นๆ ด้วย”

“ผมได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงการที่นักเรียนไทยนิยมไปศึกษาต่อที่อียิปต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนไทยอยู่ในอียิปต์กว่า 4,000 คน แต่นักเรียนเหล่านี้มักประสบปัญหาเกี่ยวกับการเทียบวุฒิการศึกษา เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาของไทยกับอียิปต์ไม่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอียิปต์ได้ให้การรับรองหลักสูตรของมาเลเซีย ดังนั้น หากนักเรียนไทยที่จบการศึกษาจากมาเลเซียจะไปศึกษาต่อที่อียิปต์ก็จะไม่ประสบปัญหาเรื่องการเทียบวุฒิ”

ซึ่งในเรื่องนี้ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นว่า ขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาไปในทิศทางเดียวกันแล้ว (ASEAN Curriculum Sourcebook)

และฝ่ายไทยรับจะพิจารณาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในข้อคิดเห็นของเอกอัครราชทูตในประเด็นดังกล่าว โดยในชั้นต้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานจัดส่งข้อมูลหลักสูตรการศึกษาของไทยให้แก่สถานเอกอัครราชทูตอียิปต์

ท่านทูตเอล ดาห์รี ได้หยิบยกประเด็นแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์ภาษาอาหรับในประเทศไทย ซึ่งได้เคยมีการหยิบยกขึ้นหารือในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนาย Abbass Shouman รองผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลาม (Deputy Grand Imam Sheikh of Al Azhar) กับอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.2014

โดยศูนย์แห่งนี้จะมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนภาษาอาหรับให้แก่บุคคลทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน แต่ต้องการนำความรู้ไปใช้ในการทำงาน หรือการดำเนินธุรกิจ การท่องเที่ยว หรือการรักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างจากศูนย์ภาษาอาหรับที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยในจังหวัดภาคใต้ของไทย ที่มุ่งเน้นความเข้มข้นทางวิชาการ และการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่จะไปศึกษาต่อในประเทศตะวันออกกลางมากกว่า

สำหรับศูนย์ภาษาอาหรับที่จะจัดตั้งขึ้นมาครั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องการให้ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพราะจะดูแลได้อย่างสะดวก และในโอกาสต่อไปก็อาจขยายสาขาไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้

“เราได้ให้คำแนะนำเพื่อให้ไทยส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันภาษาอาหรับในกรุงเทพฯ อันเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนไทยมุสลิม และคนทั่วไปที่สนใจศึกษาภาษาอาหรับ โดยอาจจะดำเนินการในลักษณะคล้ายกับ บริติช เคาน์ซิล (British Council) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร และสถานสอนภาษาของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา (AUA) อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาไทยที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่อียิปต์ด้วย”

ในฐานะเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย ท่านทูต เอล ดาห์รี จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยจัดหาครูอียิปต์ให้แก่โรงเรียนศาสนาในไทย

“อียิปต์เป็นประเทศอิสลามที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ดังนั้น เราจึงมีหน้าที่ในการสอนชาวมุสลิมทุกแห่งรวมทั้งในประเทศไทย แต่เราดำเนินความรับผิดชอบนี้ด้วยการประสานงานกับรัฐบาลไทย” ท่านทูตกล่าว

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ได้เคยไปเยี่ยมชมการสอนภาษาอาหรับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการจัดทำความตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านภาษาอาหรับแล้ว จึงยินดีที่จะดำเนินการสานต่อความร่วมมือกันต่อไป

รวมทั้งการสนับสนุนครูและผู้เชี่ยวชาญภาษาอาหรับด้วย