ทฤษฎีสมคบคิด ถึงโควิด-19 และค้างคาววิทยา/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ทฤษฎีสมคบคิด

ถึงโควิด-19 และค้างคาววิทยา

 

แม้ทางการอู่ฮั่นของจีนจะไม่ให้ความร่วมมือนักสืบถึงรหัสดีเอ็นเอของไวรัสโคโรนา 2019 แต่อย่างใด แต่นักวิจัยฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งซึ่งซุ่มศึกษาค้างคาวกว่า 8 ชนิดทางจังหวัดตอนเหนือกัมพูชา (สตึงแตร็ง-พระวิเหียร์) มาร่วม 10 ปีแล้ว ก่อนสรุปว่า สัตว์สายพันธุ์นี้มีเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

แต่ที่สะกดฉันไปอีกคือไม่นานมานี้ เมื่อสถาบัน (หลุยส์) ปลาสเตอร์กัมพูชาได้ส่งต้นแบบสัตว์ที่ว่าไปถอดรหัสพันธุกรรมที่ปารีสก็พบว่า มีค้างคาวเขมรถึง 2 ชนิดจากสตึงแตร็งมีเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชนิด “สายพันธุ์ใหม่”

ไม่ผิด! นี่เป็นการค้นพบที่จะให้ประโยชน์ทางการจีนที่อ้างว่าพบไวรัสชนิดนี้จากตลาดค้าสัตว์ซึ่งเป็นต้นทางการระบาดครั้งนั้น

สมมุติฐานของฉันที่สงสัยตามมาคือ ไวรัสโคโรนา หรือ “โควิด-19” ชนิด “สายพันธุ์ใหม่” ที่แพร่ระบาดและรุนแรงในคนทั่วโลกเวลานี้ คือความปกติเดียวกันหรือไม่? เมื่อเทียบกับการฟักเชื้อในค้างคาวที่กลับใช้เวลานาน

หรือว่า “ทฤษฎีสมคบคิด” ในโลกนี้ “มีอยู่จริง”

 

ไม่ได้ตื่นตูมตอบรับกับผู้นำสหรัฐที่ตั้งหน่วยข่าวกรองสืบสวนทางลับกับเรื่องนี้หรอกนะ แต่ข่าวก้าวหน้าโควิด-19 กัมพูชากับเล็ดลือออกมาราวสมประโยชน์ต่อฝ่ายใด กรณีที่ค้างค้าวคือรหัสพันธุกรรมต้านทานของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ทำลายมนุษย์เวลานี้

อีกยังเชื่อว่า กลุ่มคนที่ประชากรสัตว์ชนิดนี้ถือกำเนิด (ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา) น่าจะมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 ไม่มากก็น้อย และนั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไมในการระบาดรอบแรกและยังไม่กลายพันธุ์ จึงไม่รุนแรงในภูมิภาคนี้!

เล่นเอาตกใจแทบเป็นรูปหน้าอิโมจิคอล!

จริงหรือที่ภูมิคุ้มกันไวรัสโคโรนาในค้างคาวช่วยป้องกันโควิด-19 ในมนุษย์ ซึ่งจะปัดตกทฤษฎีก่อนหน้านี้ (อ้างโดยสัม รังสี) ที่ฉันเคยตีพิมพ์ว่า ชาวอุษาคเนย์ อินเดียบางรัฐต่างมีภูมิคุ้มโควิด-19 จากวัคซีนป้องกันโรควัณโรค (ทีบี) และมาลาเรีย โดยเฉพาะชาวเขมรด้วยแล้ว พวกเขามีดีเอ็นเอที่แตกต่างจากความเป็นชนชาติพันธุ์อันพิเศษ

ข้อสันนิษฐานของสัม รังสี ที่เจือไปด้วย “ความภาคภูมิใจในชนชาติ” และออกจะพิเศษอย่างไรไม่ทราบ เมื่อตอนนี้ โควิด-19 กำลังเป็นหายนะครั้งใหญ่ในกัมพูชาหลังยุคเขมรแดง โดยเฉพาะการระบาดระลอกใหม่ที่เกิดจากสายพันธุ์อังกฤษและอินเดียที่ยากต่อการรับมือและตกแต่งตัวเลข

ขณะเดียวกัน เพื่อนบ้านสองด้านทั้งไทย-เวียดนามก็เผชิญหน้าไม่ต่างจากเรื่องเล่าต่อๆ มาของชาวเขมรโบราณที่กลายเป็นวลีความอันจดจำถึง 3 เมืองใหญ่ที่ถูกกระทำคือโฮจิมินห์ซิตี้ หรือไพรนคร-พนมเปญและบางกอก

ตามรำพันพิลาส 3 เมืองนั้นอันถูกตรวนไว้ในความไม่ปกติกรรม

แต่มันไม่อย่างงั้นสิ สำหรับ “ทฤษฎีสมคบคิด” ที่ถูกขุดมาอีกครั้งเพียงข้ามปี พลัน การค้นพบที่หักล้างของนักวิจัยกลุ่มต่างๆ ก็ตามมา อาทิ นักวิจัยภารตะที่พบหลักฐานว่า “โครงสร้างพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา 2019 มีโครงสร้างกายภาพที่เชื่อมโยงกับ “ไวรัส HIV ที่ตำแหน่ง GP120” ซึ่งนั่นมีความเป็นไปได้ว่า “ไวรัสโควิด-19” ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือจากสัตว์ป่าดังที่อ้างไว้

นั่นเท่ากับว่า จะเป็นข้อหักล้างทฤษฎีสมคบคิดที่โยนความผิดให้ค้างคาวเขมรและสายพันธุ์ไทย (รวมทั้งตัวนิ่ม) ดังที่จีนเคยอ้างไว้ตอนที่ไวรัสโคโรนา 2019 ได้ระบาดเป็นครั้งแรกที่อู่ฮั่น มลฑลหูเป่ย

อย่างไรก็ตาม ข้อพิสูจน์ซากรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่อยู่ในผู้ป่วยชุดแรกที่อ้างว่าติดมาจากตลาดค้าสัตว์นั้นยังถูกปกปิดไว้จนบัดนี้ ซึ่งทำให้เชื่อว่าทฤษฎีสมคบคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ผลิตคิดค้นเชื้อโรคชีวภาพนั้น-อาจมีส่วนจริง

ต่อกรณีที่เชื้อไวรัสสามารถกลายพันธุ์ในมนุษย์อย่างรุนแรงและรวดเร็ว ขณะที่สัตว์ปรอเจียวนั้น กลับมีพัฒนาการแบบธรรมชาติคือฟักตัวช้าจนไม่มีผลต่อร่างกาย

 

มีวันหนึ่งล่วงลับมานานมากแต่ยังจดจำได้ ฉันออกจากพนมเปญไปแถบเคียนสวายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมแม่โขง โดยมีนักข่าวอิสระจากลอนดอนไทม์-คนชักชวน

นับเป็นยามสายบ่ายดีที่การนั่งแพชมแม่น้ำโขงสีขุ่นคลั่กมีเพลงลูกทุ่งเขมรกล่อมชวนเคลิ้ม และอาหารบางเมนูที่คาดว่าน่าจะเป็นต้มเปรี้ยวปลาแม่น้ำ ไม่มีอะไรพิสดาร แต่ไม่ ฤดูร้อนที่มาเยือนปีนั้น ผลไม้กำลังสุกงอมคาต้นและสัตว์เฉพาะของหมู่บ้านแห่งนี้กำลังชุกชุมออกหากิน

เป็นภารกิจแก้ร้อนใน ฉันได้รับการเชิญชวนให้มาเปิบพิสดารของหมู่บ้านแห่งนี้ซึ่งได้ชื่อนักว่ามีอาหารสดใหม่ ดั้งเดิมและจะออกมาเฉพาะฤดูกาลของมัน

มันคือสัตว์ปรอเจียวประจำหมู่บ้านที่จะถูกนำมาปรุงแบบสดๆ ทั้งแบบซำลอซุปร้อนและแบบดื่มเลือดสด

สีหน้าฉันคงสยอง ลำพังเรื่องเล่าหมู่บ้านพรหมจารีที่เคยได้ยินมาก่อน ชนบทที่ลึกลับ มันคือกับดักที่พัดพาเราไปสู่ความสนใจในปีนั้น

ในความคิดฉัน ค้างคาวและสาวพรหมจรรย์ต่างเป็นสปีชีส์เดียวกัน กล่าวคือ เลือดของพวกเธอต่างถูกนำมาบริการ

เท่าที่จำได้ในปีนั้น เอดส์ (HIV) เป็นโรคระบาดในเขมรที่สร้างความหวาดกลัวในผู้คน แต่แรกก็จำกัดอยู่ในกลุ่มคนร่ำรวยและเป็นเพศชาย แต่ต่อมาโรคนี้ก็กระจายไปในหมู่เพศหญิงที่ทำให้งานสายเอ็นจีโอของฉัน วนเวียนอยู่กับแคมเปญการป้องกันและคำแนะนำ รณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยที่หญิง-ชายชาวเขมรมักเบือนหน้าหนี พวกเขาอายที่จะฟังสิ่งนี้

หลายคนที่ฉันไม่รู้จัก พยายามกระเสือกกระสนมาพบฉัน เพียงเชื่อว่าฉันจะช่วยเธอได้ แต่ส่วนใหญ่คือความสิ้นหวัง

และนี่เป็นสิ่งเดียวที่ฉันไม่เคยทำในเขมร คือการไปเยือนหมู่บ้านพรหมจารีนั่น

 

อย่างไรก็ตาม ฉันก็จำไม่ได้ว่าบ่ายวันนั้น ฉันคงจะล่อเข้าไปสักคำสองคำกว่าจะสำรากว่า นี่มันซำลอปรอเจียว-เมนูเปิบพิสดารหรือเปล่าหนอ? หรือโชคดีมีมาและว่า…

ให้ตายเถอะ ถ้าอย่างนั้น ฉันคงฉีดวัคซีนล่วงหน้ามานมนานแล้วล่ะสิ?

เป็นวัคซีนท้องถิ่นที่เกิดจากการตกกระไดพลอยโจนจากความไม่รู้ แถมเป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อตายอย่างเป็นกรณีพิเศษมิต้องลงทะเบียนไทยพร้อมหรือเสียเงินผ่านหน่วยงานอย่างบางยี่ห้อหนึ่ง

หลังจากผูกติดกับความเชื่อ พฤติกรรมและชีวภาพท้องถิ่น การดำรงชีพมานานระยะนาน ฉันก็เริ่มไม่แน่ใจว่า ตนเองจะไปในทาง “ทฤษฎีสมคบคิด” ว่าด้วยพันธุกรรมพิเศษในภูมิภาคอุษาคเนย์ตามฉบับสัม รังสี ซึ่งออกไปทาวชาตินิยมมากหน่อย

แต่เมื่อรวมความเห็นนักวิจัยฝรั่งกรณีภูมิไวรัสโคโรนาจากค้างคาวเขมรนั่น ก็พอจะสรุปว่า มีหลักการอยู่บ้าง ถึงจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์ตรรกะ แต่มันก็อยู่ในสายเลือดชาวภูมิภาคนี้โดยมาก เมื่อทบทวนดูแล้ว ซึ่งทำให้ฉันเริ่มเห็นลางๆ ว่ามีเค้าอยู่บ้างทฤษฎีสัม รังสี ที่ฉันเคยเห็นแย้ง

แต่ด้วยภูมิคุ้มกันไวรัสแบบทิพย์ๆ ในโควิด-19 จากค้างคาวตัวนั้นหรือไม่ที่เป็นจุดผกผันสู่พันธุกรรมพิสดารที่ติดมากับตัวฉัน

จนกลายเป็นทฤษฎีนี้-ที่ไม่สมคบคิด