112 วัน ‘ทนายอานนท์’ ก่อนได้คืนอิสรภาพ แกนนำราษฎรพ้นคุก ยืนหยัด 3 เป้าหมายเดิม

บทความในประเทศ

 

112 วัน ‘ทนายอานนท์’

ก่อนได้คืนอิสรภาพ

แกนนำราษฎรพ้นคุก

ยืนหยัด 3 เป้าหมายเดิม

 

นับจาก 9 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึง 1 มิถุนายน 2564 เป็นเวลา 112 วันที่อิสรภาพของนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร หายไป

หลังอัยการสั่งฟ้องคดีร่วมชุมนุมทางการเมืองท้องสนามหลวงวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ฐานยุยงปลุกปั่น

ทั้งนี้ เป็นการนำกฎหมายมาตรา 112 กลับมาใช้แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีครั้งแรก หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์วันที่ 19 กันยายน 2563 ว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมและประชาชน

นายอานนท์ถูกสั่งฟ้องเอาผิดพร้อมนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงก์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

จากนั้นตามมาด้วยแกนนำคนอื่นๆ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ถูกสั่งฟ้องในคดีเดียวกัน วันที่ 8 มีนาคม 2564

ทั้งหมดศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ส่งฝากขังเรือนจำทันที

ตลอดระยะเวลาการคุมขัง ครอบครัวและทนายความพยายามยื่นขอประกันตัวหลายรอบ แต่ก็ถูกปฏิเสธจากปลายทางกระบวนการยุติธรรม

ก่อเกิดบรรยากาศคุกรุ่น ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรและอีกหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มรีเด็ม กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องปล่อยตัวแกนนำราษฎร และแนวร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด

กระแสเรียกร้องที่ขยายออกไปเหมือนไฟลามทุ่ง ได้รับการประเมินภายหลังว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำราษฎรแบบมีเงื่อนไข

คือการแถลงต่อศาลด้วยความสมัครใจ หากได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว จะไม่กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง รวมถึงการกระทำใดๆ ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เฉพาะที่ตนดูแล และไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

เป็น 4 เงื่อนไขแลกกับอิสรภาพจากการถูกจองจำ อันเป็นผลให้แกนนำราษฎร อาทิ ไผ่ ดาวดิน รุ้ง ปนัสยา เพนกวิน พริษฐ์ ทยอยได้รับการประกันปล่อยตัวชั่วคราว เหลือเพียงทนายอานนท์ และไมค์ ภาณุพงศ์

โดยเฉพาะทนายอานนท์ เป็นแกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุด ท่ามกลางโรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักในคุก

จนทนายอานนท์ ไมค์ รวมถึงนายชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือนุ๊ก จัสติน ต้องรับเคราะห์ติดเชื้อไปด้วยกันทั้งหมด

ทนายอานนท์กับไมค์ถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ส่วนนุ๊ก จัสติน ถูกส่งไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์

 

นายอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์ มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มราษฎร

ที่ผ่านมายังทำหน้าที่ช่วยเหลือคดีด้านสิทธิมนุษยชนให้กับนักกิจกรรมประชาธิปไตย

ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจากจากประเทศเกาหลีใต้

มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก จัดพิธีมอบรางวัลให้นายอานนท์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยเชิญให้นายอานนท์ร่วมพิธีผ่านทางออนไลน์ แต่เนื่องจากนายอานนท์ยังรักษาอาการจากเชื้อโควิด-19 ที่ติดจากเรือนจำ อยู่ที่โรงพยาบาล และยังอยู่ในการควบคุมตัวเนื่องจากศาลไม่ให้ประกัน จึงไม่สามารถร่วมพิธีได้

จึงเป็นเรื่องทั้งน่ายินดีและสลดใจเมื่อเจ้าของรางวัลตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ถูกคุมขังในเรือนจำ ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสินว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหา

แถลงการณ์มูลนิธิ 18 พฤษภาฯ เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวนายอานนท์เพื่อเข้ารับการรักษาโควิด-19 ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และยังระบุด้วยว่า นายอานนท์ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตยที่ต้องการปฏิรูปให้เกิดความเสมอภาคในสังคมไทยผ่านการปฏิรูปการเมือง

มูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาฯ ขอสนับสนุนการกระทำของนายอานนท์ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อเข้ารับการรักษาที่ดีกว่านี้ในทันที รวมถึงหยุดคุกคามประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อปฏิรูปการเมือง

วันที่ 29 พฤษภาคม กลุ่มพลเมืองโต้กลับนัดหมายทำกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เรียกร้องปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีชุมนุมทางการเมืองที่เหลือ

คือทนายอานนท์ นำภา ไมค์ ภาณุพงศ์ จัสติน ชูเกียรติ รวมถึงแซม สาแมท บุคคลไร้สัญชาติที่ถูกออกหมายจับคดีร่วมชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

ยืนหยุดขังวันนั้น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ มาร่วมกิจกรรมด้วย ถือเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำวันที่ 11 พฤษภาคม ร่วมกับกลุ่มราษมัม แม่ทนายอานนท์ และแม่ไมค์ ภาณุพงศ์

“ผมจำเป็นต้องมาที่นี่เพื่อประกาศให้ทุกคนทราบโดยทั่วกันว่า ผมยังเป็นผมคนเดิม เพนกวินยังเป็นเพนกวินคนเดิม”

“ในเรือนจำทั้งพี่อานนท์ พี่ไมค์ และพี่นุ๊ก (ชูเกียรติ) ไม่เคยทอดทิ้งผม ในบรรดามหาวิทยาลัยลาดยาวที่เข้าไปด้วยกัน พี่ๆ ดูแลผมอย่างดี เมื่อผมออกมาแล้ว แต่พี่ๆ ยังอยู่ในนั้น เป็นครอบครัวประชาธิปไตย ไม่มีวันทอดทิ้งกัน” เพนกวินกล่าว และว่า

ตนเองหวังเป็นอย่างยิ่งวันที่ 1 มิถุนายน ศาลจะคืนอิสรภาพให้กับผู้เรียกร้องเสรีภาพ

 

1มิถุนายน 2564 วันชี้ชะตาอิสรภาพทนายอานนท์ นำภา ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และนุ๊ก จัสติน-ชูเกียรติ แสงวงศ์ หลังจากทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกครั้ง พร้อมหลักทรัพย์คนละ 2 แสนบาท

ศาลอาญาไต่สวนมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 3 คน เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมาพบพนักงานอัยการตามนัดหมายทุกครั้ง ไม่แสดงพฤติกรรมหลบหนี หลักฐานพยานในคดีถูกรวบรวมเรียบร้อยแล้ว

ที่สำคัญจำเลยสมัครใจปฏิบัติตามเงื่อนไข จะไม่กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง รวมถึงการกระทำใดๆ ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เฉพาะที่ตนดูแลด้วย และไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ทนายอานนท์เปิดใจหลังได้รับอิสรภาพว่า พร้อมก้าวเดินต่อไปตามภารกิจข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ที่ยังคงเดิม ความเข้มแข็งของการต่อสู้ในช่วงที่อยู่ในคุกและคนที่อยู่ข้างนอก เป็นแรงผลักดันให้ตระหนักว่าบ้านเมืองยังมีปัญหาจริง

“เราจะร่วมกันต่อสู้ เพื่อสู่เส้นชัย ให้มันจบที่รุ่นเรา”

ทนายอานนท์ยังโพสต์ข้อความขอบคุณทุกกำลังใจและความช่วยเหลือทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ผมได้รับอิสรภาพครั้งนี้เพราะพี่น้องทุกคน ยืนยันเป้าหมายทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความชัดเจน

ขณะที่ไมค์ ภาณุพงศ์ กล่าวว่า ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็เปลี่ยนเราไม่ได้ ยืนยันการเคลื่อนไหวมีแน่นอน เราจะรักษาความเป็นไปได้ของข้อเรียกร้องต่อไป

สำหรับนุ๊ก จัสติน-ชูเกียรติ มีคดีความผิดมาตรา 112 รออยู่อีก 2 สำนวน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอาญาธนบุรี ทำให้ไม่ได้รับการปล่อยตัวในทันที วันรุ่งขึ้นทนายความจึงยื่นขอประกันเพิ่มเติม

โดยศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอาญาธนบุรี มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 2 สำนวนคดี

 

หลังศาลให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำราษฎรทั้งไผ่ รุ้ง เพนกวิน และทนายอานนท์ เพื่อให้ออกมาต่อสู้คดีตามหลักกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะเป็น หลายคนมองว่าจะช่วยให้สถานการณ์กระเตื้องขึ้น

ถึงกระนั้นก็มีจุดน่าเป็นห่วง เมื่อฝ่ายผู้มีอำนาจยังคงมีความพยายามเดินหน้าเอาผิดฝ่ายคิดเห็นต่างด้วยกฎหมายมาตรา 112

ไม่ว่ากรณีนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี แจ้งความเอาผิดนายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือฮาร์ท นักร้องดัง กล่าวหาแชร์โพสต์ข้อความเข้าข่ายเจตนาทำให้คนเข้าใจผิด พาดพิงไปถึงสถาบัน

กระทั่งเด็กนักเรียนหญิงอายุ 14 ปี ยังถูกอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลแจ้งความเอาผิดด้วยกฎหมายนี้เช่นกัน

ทั้งหมดสะท้อนถึงการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายเห็นต่างทางความคิด ไม่เลิกรา ไม่ละเว้นกระทั่งเด็ก

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แกนนำและกลุ่มราษฎรจะประกาศยืนยันไม่ลดเพดาน 3 ข้อเรียกร้องเดิม

เพิ่มเติมคือให้ยกเลิกมาตรา 112 หรืออย่างน้อยก็ต้องแก้ไข ไม่ให้ฝ่ายอำนาจใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งเล่นงานฝ่ายคิดเห็นต่างอย่างอยุติธรรม จับกุม ส่งฝากขัง ติดคุก ไม่ให้ประกัน ตั้งเงื่อนไขแล้วปล่อยตัว เหมือนที่แกนนำราษฎรเคยโดน

ปัจจุบันถึงสถานการณ์การชุมนุมจะเบาลงไป

แต่การที่ฝ่ายอำนาจยังเพิกเฉย ไม่ตอบสนองใดๆ ต่อข้อเรียกร้องกลุ่มราษฎร และยังคงเดินหน้าใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือยัดเยียดคุกตะรางให้กับกลุ่มคนเห็นต่างอย่างไร้เหตุผล ไร้ความยุติธรรม

จึงเป็นสัญญาณพายุใหญ่การชุมนุมทางการเมือง เตรียมก่อตัวซัดกระหน่ำฝ่ายอำนาจอีกระลอก

ในทันทีที่สถานการณ์โควิดสงบลง