โลกหมุนเร็ว/วีรกรรมพลร่มเบเร่ต์แดง

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

วีรกรรมพลร่มเบเร่ต์แดง

ท่ามกลางหนังสือมากมายบนแผง มองไปปราดเดียวในเสี้ยววินาที ก็รู้ว่าเล่มไหนดึงดูดใจให้หยิบมันขึ้นมา ชื่อของคนแปล นพดล เวชสวัสดิ์ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับสงคราม นี่แหละใช่เลย

เรื่องราววีรกรรมของทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง มีคนเขียนถึงแล้วมากมาย ทำเป็นภาพยนตร์ก็มาก เรื่องราวของทหารสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ที่เรียกกันว่า วันดีเดย์ เป็นเรื่องดึงดูดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นมุมไหน ตัวละครที่เป็นวีรบุรุษคนใดก็เร้าความอยากอ่านไม่รู้จบ

และก็จากภาพยนตร์ จากหนังสือนี่เองที่ทำให้วีรกรรมในสงครามโลกครั้งที่สองในมุมต่างๆ ปรากฏแก่สายตาชาวโลก

หนังสือเล่มนี้ Pegasus Bridge หรือ “วีรกรรมพลร่มเบเร่ต์แดง” เจาะลึกเข้าไปที่จุดเล็กๆ แต่มีความสำคัญชี้เป็นชี้ตายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันดีเดย์ 6 มิถุนายน 1944 ที่มีกองพลพลร่มที่ 6 ของอังกฤษเป็นตัวเอก เป็นทหารสัมพันธมิตรหน่วยแรกที่เหยียบเท้าลงบนแผ่นดินผรั่งเศสที่เยอรมนียึดครอง ในเวลา 16 นาทีของวันใหม่ เพื่อกรุยทางให้แสนยานุภาพเกรียงไกรของสัมพันธมิตรบุกเข้าลุยกองทัพเยอรมนี

เรื่องราวในหนังสือนี้คือที่มาของภาพยนตร์เรื่อง The Longest Day ของฮอลลีวู้ด

คนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์สงคราม แต่เขียนเกี่ยวกับสงคราม ก็ทำได้โดยการสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ในที่นี้ผู้เขียนซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน คือ สตีเฟ่น อี แอมโบรส ได้พบกับตัวจริงของ พันตรีจอห์น โฮเวิร์ด ผู้บังคับกองพลพลร่มที่ได้รับมอบหมายให้นำทหารร่อนลงด้วยเครื่องร่อนใกล้กับสะพานเพกาซัสและรักษาสะพานไว้ไม่ให้ถูกระเบิดเพื่อเปิดทางให้กองทัพเรือยกพลขึ้นบกได้

ปัจจุบันมีรูปปั้น พันตรีจอห์น โฮเวิร์ด ที่สะพานเพกาซัส ซึ่งได้ถูกยกให้เป็นอนุสรณ์สถาน

แอมโบรสเกิดแรงบันดาลใจให้สัมภาษณ์ตัวละครที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเวลา 40 ปี หลังจากสงครามสิ้นสุดลง

สิ่งที่เรารู้สึกทึ่งจนขนลุกคือความมีระเบียบวินัยสุดยอดและความมีคุณภาพของทหารอังกฤษ โดยเฉพาะพันตรีโฮเวิร์ดที่กรำฝึกทหารอย่างไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย

สภาพภูมิประเทศที่จะต้องบุกไปรักษาไว้คือสะพานและพื้นที่ระหว่างสองสะพาน ซึ่งสะพานหนึ่งข้ามแม่น้ำ อีกสะพานข้ามคลอง

คำสั่งที่เปรียบเหมือนไบเบิลอันศักดิ์สิทธิ์คือ รักษาสะพานนั้นไว้ (ในสภาพไม่บุบสลาย) จนกว่าจะมีหน่วยอื่นมาเปลี่ยน

โฮเวิร์ดต้องฝึกทั้งร่างกายและฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลองล่วงหน้าถึงสองปี

สถานที่จริงอยู่นอร์มองดี สภาพภูมิประเทศเป็นอย่างไร สองผัวเมียกงแตรซึ่งเป็นเจ้าของคาเฟ่ในบริเวณนั้นส่งข่าวไปให้ทหารสัมพันธมิตรรู้จนหมดสิ้น เท่านั้นยังไม่ทำให้นายทหารสมบูรณ์แบบอย่างโฮเวิร์ดพอใจ เขาสั่งให้ค้นหาสภาพภูมิประเทศคล้ายกันเพื่อจำลองเหตุการณ์จริงจนได้ที่เอ็กซิเตอร์ที่อังกฤษ

เขาพาลูกน้องไปฝึกที่นั่น ฝึกเพื่อให้ภารกิจสำเร็จตามเป้าหมาย ไม่มีพลาด

ในเหตุการณ์จริงทหารจะต้องร่อนลงในเวลานาทีแรกของวันใหม่ ในคืนอันมืดมิดไม่เห็นอะไรเลย ในดินแดนที่ไม่เคยเหยียบไป

ทหารส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครอยู่ในวัย 18-22 ปี

ไม่มีอะไรที่จะทำให้มั่นใจในภารกิจเท่าการฝึก ฝึก และฝึก

ทหารแต่ละคนเข้าสู่สงครามด้วยเหตุผลและแรงจูงใจต่างกัน ในสงครามมีทั้งทหารอาชีพ และอาสาสมัคร มีทั้งที่ถูกเกณฑ์มา มีทั้งที่คิดว่าเป็นหน้าที่ที่จะรักษาปิตุภูมิ

ในสงคราม ทุกคนต้องวิ่งไปข้างหน้าแม้รู้ว่าวิ่งไปแล้วมีสิทธิ์ตาย เพราะมันคือหน้าที่

ทหารร้อยกว่า เหลือรอดมาเพียง 40

ตัวเขาเองรอดชีวิตมาแต่กระดูกสะโพกเสียหาย เดินขาไม่เท่ากันไปตลอดชีวิต

ไม่น่าเชื่อว่าเพราะความบ้าคลั่งของคนคนเดียวที่ทหารเยอรมันเรียกว่าฟีร์เร่อ ทหารนับเป็นจำนวนล้านๆ คนทั่วทุกทวีปต้องเข้าสู่สงครามที่ไม่มีใครต้องการ

เมื่อสงครามจบลง การรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันดีเดย์ยังมีเรื่อยมา โดยมีมาดามกงแตร สายลับจำเป็นเจ้าของคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ใกล้สะพานเพกาซัสเป็นหัวหอก ที่จะว่าไปเป็นตัวละครสำคัญที่ไม่มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ เธอเป็นตัวตั้งตัวตีในงานฉลองที่ครั้งแรกๆ กระทำกันเฉพาะในหมู่ผู้ร่วมในเหตุการณ์ แต่ต่อมากลายเป็นมหกรรมที่สื่อรายงานไปทั่วโลก

ถ้าหากได้ผ่านไปนอร์มังดี ก็น่าจะแวะไปเยี่ยมอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1944 ที่นั่นจะมีรูปปั้นของ พันตรีจอห์น โฮเวิร์ด และลานที่อยู่ระหว่างสองสะพานชื่อ Esplanade John Howard

แต่ก่อนไปก็อ่านหนังสือเล่มนี้ก่อนเพื่อจะได้ซาบซึ้งเรื่องราวเบื้องหลังที่ตื่นเต้นชวนติดตาม

แล้วก็จะรู้ว่า ถึงเราจะชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสงคราม แต่ไม่มีใครอยากเห็นสงครามเกิดขึ้นอีก