E-DUANG : ท่วงทำนอง “โรแมนติก” กับ “แรงงานต่างด้าว”

 

การนำ “มาตรา 44” ออกมายับยั้ง “พระราชกำหนด” อันเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวกำลังกลายเป็น “จุดตัด”อย่างสำคัญ

จุดตัดในทาง “เศรษฐกิจ”

จุดตัดอันส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งในทาง “การเมือง” และในด้าน “บริหารจัดการ”

เท่ากับยอมรับบทบาทของ “แรงงานต่างด้าว”

เรื่องนี้ไม่มีเสียงร้องจาก “แรงงานต่างด้าว” ตรงกันข้าม กลับมีเสียงร้องจาก “นักธุรกิจ” ผู้ประกอบการ

เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง

สะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงแรงงานมีความเข้าใจในความเป็น จริงของ “แรงงานต่างด้าว” อย่างไม่ลึกซึ้ง เพียงพอ

เพราะหากเข้าใจคงไม่เป็นอย่างนี้

 

กล่าวในทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการน่าสนใจว่าพระราชกำหนดนี้มีความเป็นมาอย่างไร

อาจคิดในเรื่อง “เทียร์”

อาจคิดว่าการออก “พระราชกำหนด” จะมีผลทำให้การจัดอันดับในเรื่องแรงงานและการค้ามนุษย์ดีขึ้น

แต่มองข้าม “ความเป็นจริง”

ความเป็นจริงที่ในปัจจุบัน “แรงงานต่างด้าว” จาก พม่า กัมพูชา และลาว เป็นแรงงานพื้นฐานของสังคมไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธุรกิจขนาดเล็ก” “ขนาดกลาง”

เสียงร้องที่ดังมาจากธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก มิใช่จากธุรกิจขนาดใหญ่

เจ็บกันถ้วนหน้า

 

การชักเข้าชักออกอย่างที่เห็นในกรณี “แรงงานต่างด้าว” มิได้เป็นตัวอย่างแรก ตัวอย่างเดียว

ก่อนหน้านี้คือ กรณี “รถกระบะ”

เริ่มต้นจากความปรารถนาดี แต่ไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยอย่างเพียงพอ

ผลก็คือ เดือดร้อนกันทุกหย่อมย่าน

ผลก็คือ จำเป็นต้องผ่อนปรนเหมือนกับที่ต้องผ่อนปรนในกรณีของ “แรงงานต่างด้าว”

คำสั่งต่างๆต้องเริ่มต้นจาก “ความเป็นจริง”

ความเป็นจริงของรถกระบะ ความเป็นจริงของแรงงาน