วิรัตน์ แสงทองคำ/เรื่องราวธุรกิจโรงแรมไทย (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

เรื่องราวธุรกิจโรงแรมไทย (1)

จับภาพธุรกิจโรงแรมไทย-ธุรกิจท้องถิ่น สู่สากล จากโมเดลธุรกิจ อ้างอิงเครือข่ายระดับโลก ก้าวสู่เวทีเดียวกัน ขณะเผชิญวิกฤตการณ์ร่วมกันด้วย

จับภาพอันเคลื่อนไหว เป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว (เรื่องของบิล ไฮเน็ค มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม 2564) ตามรอย ค้นหา “แสงสว่างปลายทางอุโมงค์” อย่างที่ว่าไว้

ตํานานโรงแรมไทย ใครๆ มักอ้างอิงกรณีดุสิตธานี ก่อตั้งโดย ชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้บุกเบิกธุรกิจโรงแรมชั้นหนึ่งรายแรกๆ ของไทย ท่ามกลางโอกาสที่เปิดขึ้นยุคสงครามเวียดนาม ตามระลอกคลื่นการลงทุนจากธุรกิจอเมริกันและญี่ปุ่น

ประสบการณ์ราวๆ ทศวรรษกับธุรกิจโรงแรมเล็กๆ ชนัตถ์ ปิยะอุย ได้ก้าวข้ามขั้นไปสู่การลงทุนโรงแรมที่ใหญ่ที่สุด สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ด้วยงบฯ สูงถึง 450 ล้านบาท เป็นภาพตื่นตา ตื่นเต้น เมื่อกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

เรื่องราวโรงแรมดุสิตธานี มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจโรงแรมระดับโลกเพียงเล็กน้อย นับเป็นบุคลิกที่น่าสนใจ

เพียงแค่ฉากแรกๆ ช่วงสั้นๆ ที่ว่ากันว่า โมเดลดุสิตธานีอ้างอิงกับ Hotel Okura Tokyo (ก่อตั้งปี 2506) แห่งญี่ปุ่น และว่าด้วยความรู้การจัดการ ได้ร่วมมือกับเครือโรงแรมในโลกตะวันตก-Western Hotels (ปัจจุบันคือ Westin Hotels & Resorts อยู่ภายใต้เครือ Marriott)

 

ดุสิตธานีเป็นทั้งธุรกิจโรงแรมแห่งแรก และบริษัทแรกๆ เข้าตลาดหุ้นไทยซึ่งเพิ่งเปิดขึ้นในปี 2518 (ในนามบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC) เข้ากับแผนการขยายโรงแรม (ปี 2521) เพิ่มห้องอีกเกือบเท่าตัว ท่ามกลางการแข่งขันมีมากขึ้น มีโรงแรมกำลังเกิดขึ้นในย่านใหม่ๆ ของกรุงเทพฯ

โดยเฉพาะโรงแรมที่มากับโมเดลการลงทุนใหม่-โครงการเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว (ปี 2526)

 

โครงการเซ็นทรัลลาดพร้าว ตั้งต้นตั้งแต่ปี 2521 เมื่อ เครือเซ็นทรัล ชนะประมูลการเช่าที่ดินบริเวณทุ่งบางเขนในอดีต ซึ่งเป็นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามแผนการพัฒนาศูนย์การค้า อาคารสำนักงานสูงกว่า 10 ชั้น โรงแรมกว่า 400 ห้องและศูนย์ประชุม ถือว่าเป็นโครงการ Mixed-Use แห่งแรกๆ ในสมัยนั้น ขณะเดียวกันถนนวิภาวดีรังสิตกำลังขยายความกว้างถนนเป็น 6 เลน

ธุรกิจโรงแรมของเครือเซ็นทรัลก่อตั้งขึ้นครั้งแรกพร้อมๆ กับเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว เปิดตัวภายใต้เชน Hyatt hotels แห่งสหรัฐอเมริกา (ปี 2526)

ดูเหมือนพัฒนาการต่างๆ จะเดินตามดุสิตธานี โดยเฉพาะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในนามบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL (ปี 2533)

ถือเป็นบริษัทแรกของเครือเซ็นทรัลก็ว่าได้ พัฒนาการธุรกิจโรงแรมในเครือเซ็นทรัลมีความแตกต่างจากดุสิตธานีอยู่บ้างที่มีธุรกิจอาหารอย่างเป็นจริงเป็นจัง ดูจะมีความสำคัญมากกว่าในเวลานี้

 

ในเวลาใกล้เคียงในยุคนั้น มีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คล้ายๆ กันเกิดขึ้น อย่างที่ควรอ้างไว้ ศูนย์การค้าแห่งใหม่-อัมรินทร์พลาซ่า (ปี 2527)-มีตำนานเชื่อมโยงกับผู้ก่อตั้ง-เกียรติ วัธนเวคิน “ผู้สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกันกับโอกาสที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ของธุรกิจไทย…การเข้าสู่ธุรกิจที่อ้างอิงกับระบบสัมปทาน โดยเฉพาะธุรกิจสุรา ในยุคทหารครองอำนาจ…ขยายโอกาสเพิ่มขึ้นสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคงต่อเนื่อง…สู่อุตสาหกรรมน้ำตาลและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์” ผมเองเคยอรรถาธิบายไว้

ดิ เอราวัณกรุ๊ป ธุรกิจซึ่งร่วมมือร่วมทุนระหว่างตระกูลวัธนเวคินกับตระกูลว่องกุศลกิจ เจ้าของโรงงานน้ำตาลมิตรผล ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมอย่างค่อยเป็นค่อยไปใกล้ๆ กับอัมรินทร์พลาซ่าตั้งแต่ปี 2534 (ขณะนั้นอยู่ภายใต้ Hyatt hotels ต่อมาปี 2540 มีการปรับปรุงเปลี่ยนมาอยู่กับ JW Marriott) มีแนวทางชัดเจนอ้างอิงอาศัยเครือโรงแรมระดับโลก

ดิ เอราวัณกรุ๊ป กับเครือโรงแรมระดับโลก คึกคักมากขึ้น เมื่อมาอีกทศวรรษกว่าๆ ก่อนจะค้นพบแนวทางเฉพาะตนเองเพียงทศวรรษเดียวมานี้ มุ่งสู่โรงแรมโมเดลประหยัดในแบรนด์ตนเอง

 

ช่วงคาบเกี่ยวกันนั้น ยุคธุรกิจใหญ่ขยายเครือข่ายสู่หัวเมืองเริ่มต้นอย่างคึกคัก กระแสและทิศทางโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวตามหัวเมืองพุ่งแรงขึ้น

ผู้บุกเบิกและให้ความสำคัญคนหนึ่งคือ วิลเลี่ยม ไฮเน็ค (William Heinecke) “ชาวต่างชาติผู้บุกเบิกสร้างฐานธุรกิจในไทย ภายใต้กระแสเชื่อมโยงระหว่างอเมริกันกับสงครามเวียดนาม จนประสบความสำเร็จและขยายตัวในระดับโลก” อย่างที่ว่าในตอนก่อนหน้า

หมุดหมายสำคัญ ในปี 2521-เปิดตัวโรงแรม รอยัลการ์เดน รีสอร์ท พัทยา กลางเมืองติดชายทะเลชายหาดพัทยา ถือเป็นก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมครั้งแรกของเขาและกลุ่มไมเนอร์ กลายเป็นกระแสเข้มข้นในเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยในเวลาต่อมา

และอีกกว่า 2 ทศวรรษ กลุ่มไมเนอร์ได้เป็นเครือข่ายธุรกิจโรงแรมใหญ่ อย่างที่ภาพกว้างๆ เสนอไว้ในตอนก่อนเช่นกัน

 

ดุสิตธานีคงบทบาทผู้นำกระแส โดยเฉพาะปรากฏการณ์คาบเกี่ยว Boom & Bust ในสังคมธุรกิจไทย จุดพลุด้วยดัชนีตลาดหุ้นทะลุ 1,500 จุด (ปี 2536) เปิดศักราชใหม่แผนการอันอาจหาญธุรกิจไทยสู่เวทีโลก

ดุสิตธานี ชิมลางก่อนใครๆ กระโดดเข้าสู่กระแสอันเชี่ยวกรากตั้งแต่ปี 2534 ตามแผนการซื้อเครือโรงแรมระดับโลกอย่างครึกโครม ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

แม้เป็นบทเรียนเต็มไปด้วยบาดแผลและเผชิญปัญหาในหลายด้านในเวลาต่อมาไม่นานนัก ทว่าได้เป็นกรณีศึกษาธุรกิจโรงแรมไทย ก่อนจะมีขบวนผู้เดินตามอีกครั้ง เป็นครั้งที่ใหญ่กว่า ในอีกเกือบๆ 2 ทศวรรษถัดมา

ส่วนจะเป็นเกมที่มีเดิมพัน เป็นกับดักอีกครั้งหรือไม่ น่าติดตาม