เราฉลาดกว่าต้นไม้จริงหรือ/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

เราฉลาดกว่าต้นไม้จริงหรือ

 

ในตอนที่แล้วเราคุยกันถึงเรื่องปัญญาของสัตว์อย่างวาฬซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของเพื่อนร่วมโลกสายพันธุ์อื่นที่อาจชาญฉลาดกว่าที่เราเคยเข้าใจ

ดูเหมือนยังมีพื้นที่ให้มนุษย์เรียนรู้ถึงความมหัศจรรย์ของสิงสาราสัตว์อีกมากมายไม่รู้จบ

ยิ่งรู้อาจยิ่งตระหนักว่ามนุษย์มิใช่สิ่งมีชีวิตที่ ‘ฉลาด’ กว่าเพื่อนร่วมโลกอย่างที่ชอบพร่ำสอนกันในหมู่มนุษย์-เพียงแค่เราฉลาดต่างกัน

อหังการ์และอัตตาที่ลดลงอาจตามมาซึ่งการสำคัญตัวผิดที่จางลง มองเห็นและให้ความสำคัญกับเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น ทะนุถนอมโลกใบนี้ไว้สำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นมากกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งจะว่าไปก็คือรักษาโลกใบนี้ไว้เป็น ‘บ้าน’ ของตัวเองด้วย

เพราะทุกชีวิตในโลกล้วนมีบ้านหลังเดียวกัน

การตระหนักถึงคุณค่าของบรรดาสรรพสัตว์ส่งผลให้ทัศนคติที่มีต่อสัตว์เปลี่ยนแปลงไป

เรายอมรับอารมณ์ของเพื่อนต่างสปีชีส์มากขึ้น นำมาซึ่งกฎหมายคุ้มครองดูแลรวมถึงให้สิทธิเสรีภาพแก่เพื่อนเหล่านี้มากขึ้นด้วย

ปี ค.ศ.1990 ในเยอรมนีออกกฎหมายเพื่อยกระดับสิทธิเสรีภาพของสัตว์เพื่อไม่ให้มนุษย์ปฏิบัติต่อสัตว์ราวกับเป็นสิ่งไม่มีชีวิตอีกต่อไป

อย่างที่เราทราบกันว่าคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จำกัดปริมาณหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ หรือเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงอย่างทารุณ (ซึ่งอย่างที่เคยกล่าวไปว่า ศีลธรรมเรื่องการกินก็ขึ้นกับว่าใครคนนั้นใช้ไม้บรรทัดใดวัด)

เหล่านี้ล้วนเป็นแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่าทัศนคติที่มนุษย์มีต่อสัตว์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเรามีความรู้เพิ่มมากขึ้น เราได้ทราบว่าสัตว์มีความรู้สึกคล้ายคลึงเราในหลายด้าน

ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแมลงต่างๆ ด้วย ดังเช่นที่นักทดลองในแคลิฟอร์เนียพบว่าแม้แต่แมลงวันผลไม้ตัวจิ๋วก็ยังมีความฝัน!

ความรู้เหล่านี้ทำให้มุมมองและความรู้สึกที่มีต่อสัตว์ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป

กระนั้นก็มีคนตั้งคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่จะถึงคราวของ ‘ต้นไม้’ บ้าง

เพราะพืชไม่มีสมอง จึงไม่แปลกที่มนุษย์มักลืมไปว่ามันมีชีวิต เราอาจเรียกมันว่า ‘สิ่งมีชีวิต’ แต่ความรู้สึกที่มีต่อต้นไม้นั้นต่างจากสัตว์มาก เราตัดกิ่งก้านต้นไม้โดยไม่รู้สึกอะไร หากเทียบว่าตัดต้นไม้คือตัดขาม้าหรือขาหมูสดๆ คงใจสั่นกว่ามาก

เราโค่นต้นไม้ยักษ์ลงได้หน้าตาเฉย ต่างจากการเอาปืนยิงช้างให้ล้ม ในความรู้สึกของมนุษย์ ต้นไม้มีชีวิต ‘น้อยกว่า’ สัตว์ หรือมีความใกล้เคียงวัตถุสิ่งของมากกว่า

จึงไม่แปลกที่เราจะทำลายพื้นที่ป่าจนราบเป็นหน้ากลอง

แต่มาจนถึงวันนี้ มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับต้นไม้มากมายที่พยายามแสดงให้เห็นความมหัศจรรย์ของ ‘ชีวิต’ ที่ปรากฏให้เห็นในระหว่างที่ต้นไม้หายใจอยู่บนดาวเคราะห์ดวงเดียวกับเรา

ต้นไม้มีข่ายใยสังคม ต้นไม้ดูแลช่วยเหลือกัน ต้นไม้เป็นมิตรกัน ต้นไม้สนทนากัน ต้นไม้เจ็บปวด ต้นไม้ส่งสัญญาณเตือนภัยให้เพื่อนรู้ ฯลฯ อีกมากมาย

พวกเขาเพียงมีชีวิตอีกแบบที่เรามองไม่เห็น และไม่เคยรับรู้เท่านั้น

ในหนังสือ The Hidden Life of Trees เพเทอร์ โวลเวเบน เขียนเล่าเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างเพลิดเพลินและเพริศแพร้วยิ่ง

เขาเล่าว่า ในป่าแห่งหนึ่งนั้น ต้นไม้แต่ละต้นที่เป็นสายพันธุ์เดียวกันและขึ้นในแนวเดียวกัน จะมีการแลกเปลี่ยนสารอาหารให้กันและกันทางระบบราก

ซึ่งการช่วยเหลือกันยามฉุกเฉินในหมู่เพื่อนบ้านเช่นนี้เป็นกฎเกณฑ์ของต้นไม้

ป่าจึงเป็นระบบข่ายใยที่ยิ่งใหญ่ ไม่ต่างจากรังมด

แต่ละชีวิตช่วยกันทำงาน หาอาหาร ส่งต่อ เพื่อบำรุงเลี้ยงกันและกัน

เช่นนี้แล้วต้นไม้จึงมีสังคมของมัน ไม่ต่างจากสังคมมนุษย์เลย

การอยู่รวมกันย่อมได้เปรียบกว่า อยู่เดี่ยวๆ นั้นเสี่ยงต่อหลายสิ่ง

ไหนจะลมกระโชกแรง

ไหนจะสภาพอากาศเลวร้าย

ต้นไม้ที่อยู่รวมกันย่อมช่วยทอนแรงลมและสร้างระบบนิเวศขึ้นมา บรรเทาความร้อนจัดหรือหนาวจัดได้ เพราะช่วยกันเก็บกักน้ำไว้

นอกจากนั้น ต้นไม้ที่อยู่ใกล้กันยังช่วยรักษาเยียวยาเพื่อนที่ป่วยจนมีสภาพดีขึ้นได้ด้วย

สำหรับต้นที่เป็นมิตรกัน มันจะคอยระวังไม่แตกกิ่งก้านไปในทิศทางที่บดบังอีกฝ่าย

ดังที่เราได้เห็นเรือนยอดของต้นไม้บางชนิดในบางแห่งที่รักษาระยะทางสังคมกับเพื่อนของมัน ไม่ซ้อนทับแย่งแสงกัน

ต้นไม้ที่เป็นเพื่อนกันแบบนี้จะผูกพันกันเหนียวแน่นทางราก บางครั้งถึงกับตายไปด้วยกันเลยทีเดียว

ต้นไม้แต่ละต้นจึงมีคุณค่าสำหรับส่วนรวม หากมีต้นหนึ่งถูกตัดลงย่อมกระทบต่อชีวิตของต้นที่เหลือ

 

ไม่เพียงเท่านั้น, ต้นไม้สามารถพูดได้ด้วย!

เพียงแค่วิธีพูดอาจไม่ได้ใช้ ‘ภาษา’ แบบเดียวกับมนุษย์

มันสื่อสารกันด้วยสารบางอย่างที่ปล่อยออกมา

อย่างต้นอะคาเซียที่โดนกัดกินจะปล่อยสารเตือนภัย (สารเอธิลีน) เพื่อส่งสัญญาณไปยังเพื่อนร่วมสายพันธุ์ในบริเวณรอบๆ ว่ากำลังมีภัยมา

แล้วเพื่อนต้นไม้ที่ได้รับการเตือนก็จะปล่อยสารพิษออกมาเพื่อเตรียมพร้อม

เจ้ายีราฟที่มากินใบอยู่ก็จะไม่กินต้นที่ปล่อยสารพิษออกมา ต้องเดินสวนไปเหนือลมเพื่อกินต้นที่ยังไม่ได้รับสัญญาณเตือนนี้

แต่บางทีต้นไม้ก็ไม่วางใจที่จะใช้การเตือนภัยทางอากาศอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเพื่อนๆ ทั้งหลายอาจพลาดสัญญาณที่ต้องพึ่งพาลม พวกมันจึงส่งข่าวสารกันผ่านทางรากด้วย โดยกระจายตัวเป็นประจุไฟฟ้า

เมื่อต้นไม้อ่อนแอ มิใช่เพียงภูมิต้านทานของมันลดลง แต่ประสิทธิภาพในการสื่อสารพูดคุยก็อาจลดลงด้วย เหตุนี้เองแมลงทั้งหลายจึงสบโอกาสจู่โจมในเวลาที่ต้นไม้สนทนากับเพื่อนน้อยลง รับรู้ข่าวสารไม่ทันการณ์

โวลเวเบนจึงอธิบายว่า ต้นไม้ที่เรานำมาเลี้ยงและขายพันธุ์ส่วนใหญ่จึงสูญเสียความสามารถในการสื่อสารทั้งบนดินและใต้ดิน พวกมันมีชีวิตโดดเดี่ยวเหมือนเป็นใบ้หูหนวก จึงกลายเป็นเหยื่อโง่ๆ ให้แมลงมากัดกินได้ง่าย และนี่คือเหตุผลที่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงปริมาณมหาศาลในการทำเกษตร

นอกจากนั้น ยังเป็นไปได้ด้วยว่า ต้นไม้สามารถ ‘ได้ยินเสียง’

ในห้องปฏิบัติการของ ดร.โมนิกา กากลิอาโน แห่งมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย และเพื่อนร่วมงานจากบริสทอลและฟลอเรนซ์ ได้พยายามฟังเสียงพื้นดิน โดยทำการศึกษาต้นอ่อนของเมล็ดธัญพืช พวกเขาวัดเสียงแตกตัวเบาๆ ของรากต้นอ่อนได้ที่ 220 เฮิร์ตซ์ ทุกครั้งที่มีเสียงแตกตัวของราก ยอดของต้นอ่อนจะเคลื่อนไหวไปทางทิศนั้น

หมายความว่าต้นอ่อนเหล่านี้สามารถรับรู้ความถี่นี้ได้ เป็นไปได้ว่ามันสื่อสารกันทางคลื่นเสียงเหมือนที่มนุษย์สื่อสารกัน

คราวนี้มาถึงเรื่องการรับรส

ต้นไม้สามารถแยกประเภทของน้ำลายแมลงได้แม่นยำถึงขนาดที่ปล่อยสารดึงดูดสัตว์อื่นมาช่วยเล่นงานเจ้าตัวก่อกวนเหล่านี้ได้ และช่วยให้มันรอดพ้นอันตราย

เช่น ต้นเอล์มและสนไพน์จะร้องเรียกความช่วยเหลือจากตัวต่อขนาดเล็กให้มาวางไข่ในตัวหนอนผีเสื้อที่กินใบไม้

พอหนอนพวกนี้โตขึ้นก็จะถูกตัวต่อเด็กๆ กัดกินจากภายในจนเดี้ยง ไม่สามารถกัดกินใบไม้ได้ ต้นไม้เหล่านั้นจึงพ้นภัย

การส่งสัญญาณด้วยการปล่อยสารที่ดึงดูดสัตว์อื่นมาจัดการตัวก่อกวนนับเป็นความชาญฉลาดของต้นไม้ที่น่าทึ่ง

แต่ที่น่าทึ่งไม่แพ้กันคือ มันมีความสามารถในการแยกแยะรสชาติน้ำลายของแมลงต่างๆ อย่างแม่นยำ

นั่นหมายความว่าต้นไม้สามารถรับรู้รสได้ด้วย!

 

เมื่อรับรู้ความฉลาดของต้นไม้มากขึ้น ย้อนกลับมามองตัวเอง เราย่อมได้ทบทวนว่าในบางสถานการณ์เราอาจไม่สามารถแก้ปัญหา ช่วยเหลือกัน หรือละเอียดอ่อนต่อผัสสะได้เท่ากับต้นไม้ด้วยซ้ำ

เราไม่ได้ฉลาดกว่าต้นไม้ เราแค่ฉลาดคนละแบบ

ความรู้ที่มีมากขึ้นทำให้เราใส่ใจและทะนุถนอมเพื่อนร่วมโลกอย่างต้นไม้มากกว่าเดิม

เริ่มมีข้อเสนอใหม่ๆ เช่น การใช้ไม้ก็ควรใช้เฉพาะต้นที่มันได้ใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมในธรรมชาติแล้ว ควรมีต้นไม้บางส่วนที่จะได้แก่ชรา ส่งต่อความรู้ของมันกับลูก-หลาน และเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติเพื่อนิเวศที่ดีของบรรยากาศโดยรวม

หรือต้นไม้บางชนิดที่มีขนาดใหญ่ไม่ควรถูกตัดโค่นลงอีกแล้ว หรือจะไม่มีการใช้เครื่องจักรหนักในการตัดต้นไม้อีก

รัฐธรรมนูญสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า “ในการปฏิบัติต่อสัตว์ พืช และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆจะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ”

เช่น ไม่อนุญาตให้เด็ดดอกไม้ข้างทางโดยไม่มีเหตุอันควร

เป็นเรื่องน่าสนใจว่า หากเราใช้ความฉลาดของมนุษย์ในการเรียนรู้เพื่อเข้าใจว่าเพื่อนร่วมโลกสายพันธุ์อื่นฉลาดต่างจากเราอย่างไร เมื่อรู้แล้วอาจทำให้รักและเคารพในชีวิตของพวกเขามากขึ้น และหาวิธีอยู่ร่วมกันโดยไม่เอาเปรียบ ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและมองทุกสิ่งเป็น ‘ทรัพยากร’ หรือ ‘วัตถุดิบ’ ที่นำมากินมาใช้อย่างไรก็ได้ ความรู้สึกของการเหยียบย่างไปบนโลกจะเปลี่ยนไปมากเพียงใด

และนั่นอาจเป็นความฉลาดที่แท้จริง