ปาเลสไตน์-ฮามาส ความขัดแย้งครั้งที่ 4 (2)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ปาเลสไตน์-ฮามาส ความขัดแย้งครั้งที่ 4 (2)

 

ความขัดแย้งขยายตัว

เป็นที่รับทราบกันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าความรุนแรงได้ก่อตัวขึ้นในช่วงเริ่มต้นเดือนเราะมะฎอน ซึ่งตรงกับตอนกลางของเดือนเมษายน ดังได้กล่าวมาแล้ว เมื่อชาวมุสลิมถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในมัสญิดอัล-อักซอ เมื่อการปะทะกันเกิดขึ้น ตำรวจได้เอาเครื่องกีดกั้นออกไป แต่ความรุนแรงก็ขยายตัวออกไปเรียบร้อยแล้ว

การข่มขู่ให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ในนครเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งอยู่ติดกับชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์ออกจากที่อยู่อาศัยของพวกเขาทำให้ความขัดแย้งขยายตัวในช่วงปลายของเดือนเราะมะฎอน

การปะทะกันเกิดขึ้นในค่ำคืนของวันที่ 7 ในนครเยรูซาเลมระหว่างผู้ประท้วงปาเลสไตน์และตำรวจอิสราเอล ซึ่งชาวปาเลสไตน์นับร้อยและตำรวจอิสราเอลนับโหลได้รับบาดเจ็บ

องค์กรต่างๆ ของอิสราเอลอนุญาตให้มีการรวมตัวกันในวันที่เรียกกันว่า Jerusalem Day March ซึ่งโดยปกติกลุ่ม Zionist ขวาจัดจะเดินผ่านส่วนหนึ่งของดินแดนที่ชาวอาหรับอาศัยอยู่ในเมืองเก่า

ก่อนหน้าการรวมตัวกันในวันที่ 10 พฤษภาคม กองกำลังของอิสราเอลได้บุกเข้าไปในมัสญิดอัล-อักซอพร้อมกระสุนยาง รวมทั้งแก๊สน้ำตาเพื่อสลายชาวปาเลสไตน์ ซึ่งอิสราเอลกล่าวว่าคนเหล่านั้นได้ตอบโต้ออกมาด้วยก้อนหินและระเบิดขวด

ฮามาสได้ยื่นคำขาดให้ทหารอิสราเอลหยุดการกระทำดังกล่าวที่อัล-อักซอ เย็นเดียวกันนั้นเองฮามาสก็ยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอล

 

การตอบโต้จากอิสราเอลจึงตามมา

ความขัดแย้งที่ชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์

ประชาชนชาวปาเลสไตน์นับแสนถูกบังคับให้ออกมาจากบ้านเรือนของตัวเอง เมื่อรัฐอิสราเอลถูกสร้างขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ที่เก่าแก่ในปี 1948 วันนี้เป็นวันที่ชาวปาเลสไตน์เรียกว่าเหตุการณ์นักบะฮ์ (Nakba) หรือการทำลายล้าง ครอบครัว 28 ครอบครัวของชาวปาเลสไตน์ต้องย้ายไปอยู่ที่ชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์และตั้งรกรากอยู่ที่นั่น

ในปี 1956 เมื่อนครเยรูซาเลมตะวันออกถูกปกครองโดยจอร์แดน กระทรวงเพื่อการก่อสร้างและพัฒนาและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ของ UN ได้มาช่วยสร้างบ้านเรือนให้ครอบครัวที่ชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม อิสราเอลได้เข้ายึดครองนครเยรูซาเลมตะวันออกจากจอร์แดนในปี 1967

ในทศวรรษ 1970 หน่วยงานของชาวยิวได้เริ่มเรียกร้องให้ครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่นี่ให้ย้ายออกไป

โดยคณะกรรมการชาวยิวอ้างว่าบ้านเรือนเหล่านี้ตั้งอยู่บนที่ดินที่พวกเขาซื้อมาในปี 1885 เมื่อชาวยิวอพยพมาอยู่ปาเลสไตน์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมาน

เมื่อตอนต้นปี ศาลกลางในนครเยรูซาเลมตะวันออก มีคำตัดสินให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกไปจากดินแดนที่พวกเขาอยู่มาช้านานเพื่อเปิดทางให้ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวเข้ามาอยู่แทน

ศาลสูงของอิสราเอลมีกำหนดที่จะตัดสินกรณีนี้ในวันที่ 10 พฤษภาคม แต่ก็ได้เลื่อนคำตัดสินออกไปท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นในนครเยรูซาเลม

ประเด็นนี้ยังคงแก้ไขไม่ได้และมีส่วนก่อให้เกิดการลุกลามใหญ่โตต่อไป

 

นครเยรูซาเลมมหานครอันยิ่งใหญ่

นครเยรูซาเลมได้กลายมาเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ตามแผนของ UN ว่าด้วยการแยกตัว (UN Partition Plan) นครเยรูซาเลมถูกกำหนดให้เป็นนครของนานาชาติ

แต่สงครามอาหรับอิสราเอลครั้งแรกในปี 1948 อิสราเอลได้เข้ายึดครึ่งหนึ่งที่เป็นส่วนตะวันตกของนครเยรูซาเลมในขณะที่จอร์แดนได้ปกครองส่วนตะวันออก รวมทั้งนครเก่าที่มีหะรอม อัล-ชะรีฟ หรือพื้นที่แห่งความสูงส่ง (Noble Sanctuary) นั่นคือมัสญิดอัล-อักซอที่มีความศักดิ์สิทธิ์อันดับ 3 ของอิสลาม และโดมแห่งศิลา (Done of the Rock) ที่อยู่ติดกับหะรอม อัล-ชะรีฟตั้งอยู่

ด้านหนึ่งของบริเวณดังกล่าวชาวยิวจะเรียกว่า Temple Mount นั่นก็คือ Wailing Wall หรือกำแพงตะวันตก และบ้างก็เรียกว่ากำแพงร้องไห้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เหลือของวิหารแหล่งที่สองของชาวยิว อันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาจูดาห์ (Judaism)

อิสราเอลได้เข้าครอบครองนครเยรูซาเลมตะวันออกจากจอร์แดนในปี 1967 ที่เรียกกันว่าสงครามหกวัน (Six-Day War) และเข้าครองพื้นที่นี้ในเวลาต่อมา

นับตั้งแต่ผนวกดินแดนดังกล่าวมาเป็นของตนแล้วอิสราเอลก็ได้ขยายพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยในนครเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งเวลานี้เป็นที่อยู่ของชาวยิว 220,000 คน

ชาวยิวที่เกิดในนครเยรูซาเลมตะวันออกถือเป็นพลเรือนของอิสราเอล ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในนครแห่งนี้ต้องมีใบอนุญาตให้อาศัยอยู่ ชาวปาเลสไตน์ในนครเยรูซาเลมตะวันออกไม่เหมือนกับผู้ที่อาศัยอยู่ในเวสต์แบงก์ พวกเขาสามารถยื่นหนังสือเพื่อขอเป็นพลเมืองชาวอิสราเอลได้

แต่แทบจะไม่มีชาวปาเลสไตน์คนใดทำอย่างนั้นเลย อิสราเอลมีความคิดว่านครทั้งนครเป็น “ผืนแผ่นดินอมตะเป็นหนึ่งเดียวของอิสราเอล” อันเป็นข้ออ้างที่ได้รับการยอมรับเมื่อทรัมป์ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ แต่ประเทศส่วนใหญ่ไม่ให้การรับรอง

ผู้นำปาเลสไตน์ไม่ว่าจะมาจากอุดมการณ์ใดต่างก็ไม่ยอมรับสูตรการประนีประนอมใดๆ สำหรับอนาคตของรัฐปาเลสไตน์ นอกเสียจากว่านครเยรูซาเลมจะเป็นเมืองหลวงของพวกเขาเท่านั้น

 

กองกำลังรักษาความปลอดภัยของอิสราเอลตกอยู่ภายใต้การรีบเร่งที่จะจัดการกับการจลาจลที่นำไปสู่ความตายระหว่างยิวกับอาหรับ

อิสราเอลถล่มเมืองกาซาด้วยปืนใหญ่และการถล่มทางอากาศในวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม เพื่อตอบโต้การถูกถล่มด้วยจรวด ซึ่งมาจากขบวนการฮามาส โดยเปลี่ยนการโจมตีมาเป็นภาคพื้นดิน หลังจากมีผู้เสียชีวิตในเมืองกาซานับร้อยคน

เมื่อความรุนแรงเพิ่มขึ้น อิสราเอลได้ทำการโจมตีต่อไปในเมืองกาซา แม้ว่าในภายหลังเป็นที่ประจักษ์ว่ายังไม่มีปฏิบัติการทางภาคพื้นดินแต่อย่างใด

สหประชาชาตินำโดยคณะมนตรีความมั่นคงได้จัดการประชุมเพื่อหาทางยุติสงครามในวันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ Antony Blinken กล่าวว่า สหรัฐมีความห่วงใยอย่างลึกซึ้งในความรุนแรงบนท้องถนนของอิสราเอล “เราเชื่อว่าชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์สมควรได้รับมาตรการที่เท่าเทียมกันในเรื่องของเสรีภาพ ความมั่นคง เกียรติยศและความรุ่งเรือง”

ทหารอิสราเอลได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม ว่ากองทัพของตนไม่ได้เข้าไปในฉนวนกาซาตามที่ได้กล่าวมาแต่ต้น โดยกล่าวว่า “การสื่อสารระหว่างประเทศ” มีปัญหามาจากความสับสน

มีการใช้ปืนใหญ่อย่างหนักในช่วงวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม และมีรายงานจากผู้สื่อข่าวของ AFP ว่ากองทหารของอิสราเอลได้มารวมตัวกันในพื้นที่ที่มีความปลอดภัย

เปลวเพลิงขนาดใหญ่พวยพุ่งอยู่เหนือท้องฟ้าของเมืองกาซาที่มีประชาชนอยู่รวมกันหนาแน่น ในขณะเดียวกันจรวดนับโหลถูกยิงจากเมืองกาซาไปสู่ชายฝั่งทางใต้ของอิสราเอลที่แอชดอดและแอชกีลอน และบริเวณใกล้เคียงกรุงเทลอาวีฟอย่างสนามบินเบนกูเรียน

โฆษกกองทัพอิสราเอล John Conricus กล่าวว่า อิสราเอลเตรียมการและยังคงเตรียมที่จะเจอกับฉากทัศน์อื่นๆ ที่จะตามมา โดยพูดถึงการรุกทางภาคพื้นดินว่าเป็นหนึ่งในฉากทัศน์ดังกล่าว

ช่างภาพ AFP กล่าวว่า ผู้คนกำลังอพยพออกจากทางตอนเหนือของเมืองกาซา ซึ่งอาจจะถูกโจมตีจากอิสราเอล ทั้งนี้ ขบวนการฮามาสและกลุ่มอื่นๆ ที่ควบคุมเมืองกาซาอยู่ได้รับการเตือนว่าจะมีการตอบโต้อย่างหนักจากอิสราเอล รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีการบุกเข้ามาทางภาคพื้นดิน

 

ความขัดแย้งดูเหมือนจะยังไม่ยุติลงง่ายๆ อิสราเอลต้องสั่นสะเทือนไปด้วยคลื่นของม็อบที่เกิดขึ้นระหว่างยิวกับอาหรับ ซึ่งมีการทุบตีกันอย่างป่าเถื่อนพร้อมๆ ไปกับสถานีตำรวจที่ถูกโจมตี

รัฐมนตรีกลาโหม Benny Grant ของอิสราเอลออกคำสั่งให้มีการเสริมกำลังขนาดใหญ่เพื่อหยุดยั้งการจราจลภายในประเทศที่เกิดขึ้น

การถล่มอย่างหนักหน่วงเกิดขึ้นตรงกับการเริ่มต้นวันอีฎิลฟิตริอันเป็นวันสำคัญที่ชาวมุสลิมจะมารวมตัวกันหลังการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนพอดิบพอดี โดยผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามจะมารวมตัวกันที่มีมัสญิดท่ามกลางตึกรามบ้านช่องที่ถูกถล่มด้วยระเบิดจนถล่มทลาย

การถล่มทางอากาศจากอิสราเอลได้เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่า โดยมีเป้าหมายการทำลายล้างอยู่ที่ที่ทำการต่างๆ ซึ่งเกี่ยวโยงกับขบวนการฮามาส รวมทั้งการถล่มทางเครื่องบินไปยังที่ทำการทางทหาร โดยเฉพาะสำนักงานใหญ่ของสำนักงานข่าวกรองของขบวนการฮามาส

ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขแห่งเมืองกาซา มีผู้เสียชีวิต 103 คน นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม เรื่อยมา รวมทั้งเด็กๆ ที่ถูกสังหารไป 27 คน บาดเจ็บมากกว่า 580 คน

การถล่มอย่างหนักนำไปสู่การพังทลายของตึกที่อยู่อาศัยโดยทั่วไป ในอิสราเอลมีผู้เสียชีวิตเจ็ดคน รวมทั้งเด็กที่มีอายุ 6 ขวบ หลังจากจรวดพุ่งตรงสู่ครอบครัวของพวกเขา

ทหารอิสราเอลรายงานว่าได้ยิงเข้าสู่เป้าหมายในเมืองกาซามากกว่า 600 ครั้ง ในขณะที่จรวด 1,750 ลูกถูกยิงออกไป

ดังได้กล่าวมาแล้วจรวดนับร้อยลูกของปาเลสไตน์ถูกประกบจาก Iron Dome อันเป็นระบบการป้องกันที่อิสราเอลและของสหรัฐที่ยังคงมีประสิทธิภาพ แม้ว่าความถี่ของจรวดจำนวนมากที่ยิงมาจากเมืองกาซาจะเล็ดลอดและทำความเสียหายแก่อิสราเอลได้ระดับหนึ่งก็ตาม

มีจรวดอยู่สามลูกที่ยิงมาที่อิสราเอลจากภาคใต้ของเลบานอน แต่ได้ตกลงในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเสียก่อน ตามคำกล่าวอ้างของทหารอิสราเอล