สุรชาติ บำรุงสุข : บัตรเลือกตั้ง vs. กระสุนปืน ชอบไม่ชอบก็ต้องเลือกตั้ง!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“บัตรเลือกตั้งแข็งแรงกว่ากระสุนปืน”

อับราฮัม ลินคอล์น

บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีลินคอล์น ที่ฟังดูแล้วอาจจะเป็นอุดมคติอย่างมาก

แต่อย่างน้อยเราก็พอจะตอบด้วยความเป็นจริงประการหนึ่งของการเมืองที่มองจากบริบทของเวทีโลกก็คือ กระแสลมของการเลือกตั้งยังคงพัดแรงอย่างต่อเนื่อง

เพราะแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในโลกอย่างไร แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ถอยกลับสู่กระบวนการตัดสินด้วยการเลือกตั้งทั้งสิ้น

และในทำนองเดียวกัน แม้การเลือกตั้งจะถูกรังเกียจอย่างหนักเพียงใด แต่ในท้ายที่สุด รัฐก็ต้องหันกลับสู่กระบวนการเลือกตั้งในการจัดหารัฐบาลในการปกครองประเทศ

พล.อ.​ประยุทธ์ จันทร์​โอชา ผบ.ทบ.​ลง​คะแนนเสียง​เลือกตั้ง​ผู้​ว่าฯ​กทม. เมื่อ​วัน​ที่ 3 มีนาคม 2556

อีกทั้งบทความนี้เขียนขึ้นขณะที่มีการเลือกตั้งในอังกฤษ พร้อมๆ กับการเลือกตั้งในฝรั่งเศส ซึ่งก็เป็นคำตอบในตัวเองว่าปัญหาทางการเมืองสิ้นสุดลงด้วยการเลือกตั้ง

แบบแผนทางการเมืองเช่นนี้ว่าที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด

การต่อสู้ทางการเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วมีความชัดเจนว่า กติกาของการต่อสู้นี้กระทำผ่านการเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งพร้อมกับประกาศนโยบายทางการเมือง และต่อมาก็คือการกำหนดวันเวลาให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้ตัดสินด้วยการออกเสียงเลือกตั้ง

ซึ่งว่าที่จริงแล้ว กระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า… ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกลายเป็น “บรรทัดฐานทางการเมือง” (political norm) ว่าคะแนนเสียงของประชาชนคือปัจจัยชี้ขาดในการจัดตั้งรัฐบาล

หรือสิ่งที่นักเรียนรัฐศาสตร์จะถูกพร่ำสอนเสมอว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยถูกตัดสินด้วย “บัตรเลือกตั้ง” (ballot) ไม่ใช่ด้วย “กระสุนปืน” (bullet)

หลายคนอาจจะโต้แย้งว่า บรรทัดฐานทางการเมืองที่ความขัดแย้งและ/หรือการต่อสู้ทางการเมืองจะยุติลงด้วยการจัดการเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ใช้ได้กับการเมืองในประเทศด้อยพัฒนา (หรือเรียกอีกแบบว่าประเทศกำลังพัฒนา) เพราะการเมืองในประเทศเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีแบบแผนของการแทรกแซงของตัวแสดงสำคัญคือกองทัพ

ดังนั้น ความแตกต่างก็คือ การต่อสู้ทางการเมืองในประเทศด้อยพัฒนามักจะจบลงด้วยการรัฐประหาร ไม่ใช่การเลือกตั้งเช่นที่เกิดในประเทศพัฒนาแล้ว

ความแตกต่างของผลการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสิ่งที่เกิดในประเทศด้อยพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว สามารถอธิบายได้หลายแง่หลายมุม และหลายทฤษฎี

แต่อย่างน้อยหนึ่งปัจจัยที่เห็นได้ชัดเจนจากกรณีเช่นนี้ก็คือ บทบาทของชนชั้นนำและบรรดากลุ่มอนุรักษนิยมต่างๆ ซึ่งในทางประวัติศาสตร์เห็นได้ชัดประการหนึ่งว่า กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศพัฒนาแล้วมีจุดยุติอย่างชัดเจนแล้ว และไม่ต้องการให้ความขัดแย้งชุดนี้ขยายตัวรุนแรงไปสู่ความเป็นปัญหาชนชั้น

เพราะการต่อสู้ทางชนชั้นอาจจะจบลงในแบบการปฏิวัติบอลเชวิก หรือ “การปฏิวัติรัสเซีย” ในปี 1917 หรือในอีกมุมหนึ่งก็จบด้วยผลไม่แตกต่างกันก็คือ “การปฏิวัติจีน” ในปี 1949

ก่อนการปฏิวัติในยุคใหม่นั้น ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่จุดจบด้วยการปฏิวัติใหญ่ 2 ครั้งในประวัติศาสตร์โลก ได้แก่ การปฏิวัติอเมริกันในปี 1776 และการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789

ฉะนั้น 1 ใน 4 การปฏิวัติของโลก จากการปฏิวัติอเมริกัน… ปฏิวัติฝรั่งเศส… ปฏิวัติรัสเซีย… ปฏิวัติจีน ล้วนให้คำตอบอย่างชัดเจนว่าการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมที่ดำเนินนโยบายในลักษณะ “ปิดประตู” ต่อข้อเรียกร้องของประชาชน และขณะเดียวกันก็ไม่มีท่าทีประนีประนอมที่จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้คลายตัวออก

พร้อมกันนี้ก็มั่นใจว่ากองกำลังติดอาวุธของฝ่ายรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลไกกองทัพ ตำรวจ และผนวกเข้ากับกลไกทางกฎหมายและศาลแล้ว ชนชั้นนำและบรรดาผู้นำอนุรักษนิยมดูจะมั่นใจอย่างมากว่าพวกเขาสามารถควบคุม “ผลลัพธ์” ของการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้

แต่ประวัติศาสตร์ให้ข้อเตือนใจอย่างดีว่า หากการต่อสู้นี้ถูกผลักดันไปสู่ความสุดโต่งพร้อมกับเชื่อว่า ผลทางการเมืองจะถูกตัดสินด้วยกองกำลังติดอาวุธแล้ว คู่ต่อสู้อีกฝ่ายก็จะหันไปเดินบนเส้นทางเดียวกัน

และบนเส้นทางนี้ สงครามคือคำตอบในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คํากล่าวของประธานเหมาเจ๋อตุงที่ว่า “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” นั้น สะท้อนถึงแนวคิดชุดนี้ได้เป็นอย่างดี

ว่าที่จริงแล้วใช่แต่เหมาและพรรคคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายเดียวที่คิดเช่นนี้ ฝ่ายรัฐและชนชั้นนำก็คิดเช่นนี้ และอาจจะต้องถือว่าเป็นฝ่ายที่คิดใช้กำลังตั้งแต่ในเบื้องต้น เพราะผู้ปกครองรัฐในกระแสชุดนี้มักจะเชื่อง่ายๆ ว่า “อำนาจรัฐถูกค้ำประกันด้วยอำนาจปืน”

ฉะนั้น ในการต่อสู้ภายใต้กระแสชุดนี้ คำตอบในเบื้องต้นก็คือ “การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ” (armed struggle) เป็นหนทางที่ดีที่สุดของการต่อสู้ทางการเมือง

ซึ่งเมื่อการต่อสู้ดังกล่าวขยายตัว คำตอบในอันดับต่อมาก็คือ การพาการเมืองของประเทศไปสู่สถานการณ์ “สงครามกลางเมือง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สงครามชุดนี้ในที่สุดแล้วปรากฏตัวเป็นคำตอบด้วยการชี้นำของสงครามปฏิวัติจีนก็คือ ความขัดแย้งจะแปรสภาพเป็น “สงครามยืดเยื้อ” (protracted war)

ซึ่งในโลกสมัยใหม่แล้ว ไม่ว่าผลลัพธ์ของการสงครามจะบ่งบอกว่าฝ่ายใดเป็นผู้ชนะก็ตาม แต่ผลของสงครามจะทำลายชีวิต ทรัพย์สิน และอนาคตของสังคมนั้นๆ อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย

ในสภาพของสงครามเช่นนี้ หากมองในกรอบเวลาจากปี 1950 ถึงปี 1998 จะพบความน่าสนใจว่า ฝ่ายที่อ่อนแอรบชนะฝ่ายที่แข็งแรงกว่ามีสัดส่วน 55 ต่อ 45

กล่าวคือ ในการรบ 100 ครั้ง ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าชนะถึง 55 ครั้ง

บทเรียนจากการปฏิวัติใหญ่ 4 ครั้งของโลกและตัวเลขจากชัยชนะของฝ่ายที่อ่อนแอกว่าในการสงคราม เป็นข้อเตือนใจบรรดาชนชั้นนำและผู้นำอนุรักษนิยมอย่างดี

การเมืองที่ไม่ยอมรับหลักการตัดสินใจของประชาชน และยอมรับแต่เพียงหลักการของการควบคุมด้วยกำลัง หรือเชื่อว่าการเมืองถูกตัดสินด้วยกำลังอาวุธนั้น ย่อมจะนำไปสู่จุดจบของความรุนแรงทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลจากปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้นักรัฐศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าการต่อสู้ทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเดินไปบนเส้นทางของความรุนแรงหรือเส้นทางของการใช้อาวุธเป็นเครื่องมือตัดสิน

จึงมองว่าสงครามปฏิวัติหลีกเลี่ยงได้ด้วยการเปิดให้ประชาชนจากชนชั้นต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

และการมีส่วนร่วมเช่นนี้เป็นทั้งการรวมกลุ่ม การโฆษณา การเคลื่อนไหว และการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การนำเสนอนโยบายให้แก่ประชาชน

และมีความหวังว่าสุดท้ายเมื่อเกิดการเลือกตั้งขึ้น ประชาชนจะเลือกผู้สมัครจากพรรคของตน

และหากเสียงที่ได้มาเป็นเสียงข้างมากแล้ว ก็จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล

ในบริบทของกระบวนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” เพราะการจัดตั้งรัฐบาลเกิดจากเสียงข้างมากในรัฐสภา และเสียงข้างมากในรัฐสภาเกิดจากการออกเสียงของประชาชนที่จะเลือกพรรคที่ตนเห็นชอบเข้าสู่รัฐสภา

ในความเป็นจริงแล้ว เผด็จการรัฐสภาเกิดจากรัฐสภาในระบอบเผด็จการที่สมาชิกสภามาจากการคัดเลือกของคณะรัฐประหาร

แบบแผนเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลถูกจัดตั้งด้วยการออกเสียงของประชาชน หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งว่า กระบวนการของการได้อำนาจรัฐนั้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่ได้มาด้วยการรัฐประหารของผู้นำทหารหรือด้วยกองกำลังติดอาวุธในแบบสงครามปฏิวัติ

การเลือกตั้งในบริบทเช่นนี้จึงเป็นเสมือนกับการ “เปิดวาล์ว” ลดแรงกดดันเพื่อที่จะผลักให้สังคมหันออกไปจากเส้นทางของความรุนแรงทางการเมือง

หรือการเลือกตั้งทำหน้าที่เป็น “เครื่องตัดสิน” สำหรับนักต่อสู้ทางการเมืองทุกกลุ่มทุกแนวคิดในการเดินทางสู่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ

ซึ่งจากหลักการเช่นนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า การเมืองในประเทศพัฒนาแล้วหลังจากการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 จึงมีความพยายามอย่างมากในการป้องกันไม่ให้การปฏิวัติเกิดขึ้นซ้ำอีกในเวทีโลก

และสำหรับนักคิดในกลุ่มที่ไม่ได้เชื่อว่าต้องสร้างอำนาจรัฐใหม่จากการปฏิวัติแล้ว การเลือกตั้งจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

และจะเป็นหนทางที่ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองไม่ขยายตัวไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง

เพราะในกระบวนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นย่อมมีผลโดยตรงที่จะทำให้เกิดการเสนอขายนโยบายต่อสาธารณชน

หญิงผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายหนึ่ง กำลังถือบัตรประจำตัวประชาชนของเธอและตะโกนใส่เจ้าหน้าที่ที่ปิดทางเข้าคูหาเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ( AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

ซึ่งก็คือการผลักดันให้การต่อสู้ทางการเมืองเข้าไปอยู่ในกรอบของกระบวนการทางรัฐสภา

และการเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือในการตัดสินผู้ที่ได้ครอบครองอำนาจรัฐ และการครอบครองเช่นนี้ได้มาด้วยเสียงส่วนใหญ่

ในขณะที่การเมืองในประเทศพัฒนาแล้วมีคำตอบที่ชัดเจนในตัวเองที่อาศัยกระบวนการทางรัฐสภาที่มีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือตัดสิน และหากจะมีปัญหาก็ต้องต่อสู้อยู่ในกรอบของกระบวนการนี้

แต่การเมืองในประเทศด้อยพัฒนามีทิศทางที่แตกต่างออกไป

ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจอนุรักษนิยมเป็นกลุ่มใหม่ ในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม คนเหล่านี้เป็นผลผลิตของการได้เอกราช หรือประเทศที่ไม่เคยเป็นอาณานิคมก็อยู่ในบริบทที่ไม่แตกต่างกัน

ความเป็น “ชนชั้นนำใหม่” หรือ “ผู้นำทหารใหม่” ล้วนบ่งบอกถึงสถานะใหม่ของกลุ่มเหล่านี้

พวกเขาจึงไม่ได้ตกผลึกทางความคิดเช่นกรณีของประเทศพัฒนาแล้ว ประกอบกับปัจจัยภายนอกของยุคสงครามเย็นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ล้วนแต่มีส่วนทำให้พวกเขาเชื่อว่า “อำนาจรัฐตัดสินด้วยอำนาจปืน”

และอำนาจปืนเป็นเครื่องมือหลักทางการเมืองในการเดินทางสู่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ

รัฐประหารจึงกลายเป็นปรากฏการณ์ของความ “เฟื่องฟู” ในยุคนั้น

ดังนั้น จากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงทศวรรษ 1960 ต่อเข้าทศวรรษ 1970 การใช้อำนาจปืนเป็นเครื่องมือหลักในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐจึงเกิดขึ้นจนกลายเป็นปรากฏการณ์หลักของการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา

จนมีคำกล่าวของนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องบทบาทกองทัพในประเทศด้อยพัฒนาว่า รัฐประหารเป็น “กฎ” มากกว่าเป็น “ข้อยกเว้น” ทางการเมืองในประเทศเหล่านี้

จึงไม่แปลกนักที่จะพบว่าผู้นำประเทศล้วนมียศทางทหารนำหน้า

จนนักวิชาการเรียกผู้นำกองทัพที่มีบทบาทในการเป็นรัฐบาล เช่นนี้ว่า “นักการเมืองในเครื่องแบบ” (politicians in uniform)

เพราะพวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่หลักในความเป็นทหารอีกต่อไป

สถานะที่แท้จริงคือการเป็นรัฐบาล

ในสภาวะเช่นนี้กองทัพจึงกลายเป็นเครื่องมือของการควบคุมทางการเมือง

และในการควบคุมนี้ก็อยู่ภายใต้การสนับสนุนของชนชั้นนำและบรรดาผู้นำอนุรักษนิยม

อันส่งผลให้เกิดสภาวะที่ผู้นำกองทัพกลายเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรง

และขณะเดียวกันบทบาทเช่นนี้ก็ถูกถือว่าเป็นปัจจัยในการทำลายความเป็น “ทหารอาชีพ” (military professionalism) ของกองทัพ

แต่การมีอำนาจภายใต้บริบทของการรัฐประหาร ก็กลายเป็นความท้าทายในตัวเอง เพราะรัฐบาลทหารที่เกิดขึ้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจทางศีลธรรม” (moral authority) ในตัวเองได้เลย เพราะไม่มีปัจจัยอะไรรองรับต่อการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง

แม้รัฐประหารจะสร้าง “อำนาจทางการเมือง” (political authority) แต่อำนาจเช่นนี้ก็ได้มาด้วยการทำรัฐประหาร ไม่ใช่ได้มาด้วยความเห็นชอบของประชาชน

ฉะนั้น แม้ผู้นำทหารจะดำรงความเป็น “ตัวแสดงหลัก” ในการมีบทบาททางการเมือง แต่การขาดอำนาจทางศีลธรรมเช่นนี้ทำให้สถานะของความเป็นรัฐบาลถูกท้าทายอย่างมาก

ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลทหารในประเทศด้อยพัฒนาในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 นั้น เผชิญกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ และกลายเป็นแรงกดดันในตัวเองอย่างมาก

ความท้าทายอย่างสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวอีกประการมาจากการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เปิดฉากในหลายประเทศด้วยการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลทหารในหลายประเทศก็อาศัยปัญหาสงครามคอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง

โดยหวังว่าความกลัวคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนจะกลายเป็น “อำนาจทางศีลธรรม” ในตัวเอง ที่จะสนับสนุนให้รัฐบาลทหารอยู่ได้ โดยเผชิญกับแรงต้านหรือความท้าทายที่น้อยที่สุด

เพราะในอีกด้าน ความกลัวคอมมิวนิสต์จะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจต่อไป

ขณะเดียวกัน ความกลัวเช่นนี้ก็ถูกสร้างให้มองเห็นว่า การเลือกตั้งคือความอ่อนแอ…

รัฐบาลเลือกตั้งไม่สามารถรับมือกับภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ได้…

ทหารคือผู้ปกป้องประเทศ…

รัฐบาลทหารคือความเข้มแข็ง…

วาทกรรมเช่นนี้ถูกประกอบสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความเชื่อที่ว่าการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาจะต้องไม่ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือตัดสิน และการตัดสินมาจากการตกลงใจของผู้นำทหารเป็นหลัก

การเมืองของประเทศในยุคเช่นนี้ “กระสุนปืน” จึงแข็งแรงกว่า “บัตรเลือกตั้ง”!