หนุ่มเมืองจันท์ : มองเห็นเป็นไร

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนนั่งคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในแวดวงธุรกิจไทย

เธอบอกว่าตอนนี้กำลังสนใจ “แกรมมี่” กับ “อาร์เอส”

อยากรู้ว่า “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม กับ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ จะใช้กลยุทธ์ไหนฝ่าวิกฤติครั้งนี้

เพราะตอนนี้ธุรกิจเพลงอยู่ในภาวะ “แม่น้ำเปลี่ยนทาง”

ไม่ใช่ “น้ำลด”

แต่ “เปลี่ยนทาง” ไปเลย

ในอดีตเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาค่ายเพลงจะพึ่งพารายได้จาก “ซีดี”

โหลดริงโทน หรือการโหลดเพลงทางมือถือ

แต่วันนี้เทคโนโลยีและพฤติกรรมการฟังเพลงของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป

ไม่มีใครยอมจ่ายเงินซื้อซีดีหรือโหลดเพลงฟังแล้ว

“ซีดี” แทบจะขายไม่ได้เลย

รายได้จากการขาย “เพลง” น้อยมาก

ศิลปินส่วนใหญ่ต้องพึ่งพารายได้จาก “โชว์”

ค่ายเพลงต้องหวังรายได้จากคอนเสิร์ต

คนยังฟังเพลงอยู่

แต่ไม่ซื้อ

เคยคุยกับผู้บริหารค่ายเพลงคนหนึ่ง

ถามว่าตอนนี้รายได้มาจากไหน

เขาตอบได้น่าสงสารมากครับ

“เก็บเศษตังค์”

ไม่มีรายได้ก้อนใหญ่ๆ จากการขายเพลงเหมือนในอดีตแล้ว

มีแต่รายได้ที่กระจายไปตามช่องทางต่างๆ

ส่วนแบ่งโฆษณาจากยูทูบเวลาที่มีใครคลิกดูมิวสิกวิดีโอ

หรือค่าลิขสิทธิ์เพลง

อะไรทำนองนี้

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือทั้ง 2 ค่าย มอง “เพลง” เปลี่ยนไป

เขาไม่ได้มองเป็น “สินค้า” เหมือนเดิม

คือ ถ้ามอง “เพลง” เป็น “สินค้า”

“สินค้า” มีไว้ขาย

เราก็ต้องขายเพลง

ขายเป็นซีดี หรือค่าโหลดเพลง

แต่วันนี้เขาเปลี่ยนมุมมองใหม่

“เพลง” เป็นแค่ “สื่อ”

สินค้า คือ “ศิลปิน”

“เพลง” เป็น “สื่อ” ทำให้ “ศิลปิน” ดัง

เราจะหารายได้จากความดังของศิลปินอย่างไร

เป็นโจทย์ใหม่ที่น่าสนใจมาก

ล่าสุด เพิ่งอ่านบทสัมภาษณ์ “เจ๋อ” ภาวิต จิตรกร “ซีเอ็มโอ” คนใหม่ของแกรมมี่

“เจ๋อ” มาจากวงการโฆษณา

เคยเป็น “กรรมการผู้จัดการ” ของ “โอกิลวี่” เอเยนซี่โฆษณายักษ์ใหญ่มาก่อน

มุมมองของเขาต่อทรัพยากรที่มีอยู่ของ “แกรมมี่”

ไม่ใช่ค่ายเพลง หรือผู้ผลิตสินค้าด้านบันเทิง

แต่เขามอง “แกรมมี่” เป็น “อินฟราสตักเจอร์” ครับ

เป็นสาธารณูปโภคเหมือนถนน เหมือนรถไฟฟ้า

นึกถึง “บีทีเอส” สิครับ

ถ้าจะเดินทางไปสุขุมวิท สยาม สีลม ฯลฯ สะดวกที่สุด

ก็ต้องขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส

ตอนนี้แกรมมี่ มีสถานีโทรทัศน์ช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม 25 มีคลื่นวิทยุ มียอดวิวในยูทูบ ฯลฯ

ในมุมมองของ “เจ๋อ”

นี่คือ อินฟราสตักเจอร์ที่สามารถนำไปต่อยอดทำรายได้

แต่ที่น่าสนใจ “ภาวิต” กำลังจะทำ Influencer Hub

Influencer คือ คนที่มีอิทธิพลทางความคิด

ถ้าในแวดวงโซเชียลมีเดีย ก็ประเภทเน็ตไอดอลทั้งหลาย

ในวงการบันเทิงก็คือกลุ่มดารา ศิลปิน

ซึ่ง “แกรมมี่” มีเยอะมาก

ตอนนี้สินค้าต่างๆ นิยมใช้ Influencer ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรือสินค้า

เพราะค่อนข้างได้ผล

แนวคิดของ “ภาวิต” ก็คือ จะรวบรวมศิลปินในค่ายทั้งหมดมาอยู่ด้วยกัน

และแยกเป็นหมวดหมู่ แบ่งกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน

สินค้าตัวไหนสนใจก็มาคุยกัน

ในมุมหนึ่ง การรวมกลุ่มศิลปินเป็น Influencer Hub ทำให้ “แกรมมี่” มีอำนาจต่อรองสูง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง โซเชียลมีเดียยุคใหม่อย่างเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ฯลฯ ทำให้ศิลปินแต่ละคนมี “สื่อ” เป็นของตัวเอง

ความพยายามของ “ภาวิต” ครั้งนี้น่าติดตาม

และน่าสนใจอย่างยิ่ง

ส่วนทางค่ายอาร์เอส

อาจเป็นสไตล์เฉพาะตัวของ “เฮียฮ้อ” ที่เป็นนักสู้แบบ “สตรีต ไฟเตอร์”

กลยุทธ์ของเขาจึงจับทางยาก

และพร้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด เขาจะเลิกขาย “ซีดี” แล้วครับ

ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง เหมือนกับตอนที่ตัดสินใจขายโรงงานผลิตแผ่นซีดีก่อนใคร

“เพลง” ไม่ใช่ “สินค้า” อีกต่อไป

แต่เขามองเพลงเป็น “สื่อ”

เหมือนกับ “ช่อง 8”

วิธีคิดก็ตรงไปตรงมา ไม่ได้ซับซ้อนอะไร

ศิลปินคนไหนเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า

เขาจะคิดเพลงให้เข้ากับสินค้า โฆษณาสินค้าในมิวสิกวิดีโอ

ยิ่งดู ยิ่งแชร์ ก็ยิ่งเห็นสินค้ามากขึ้น

ในขณะที่สถานการณ์ทีวีดิจิตอลย่ำแย่ ดึงตัวเลขผลประกอบการของแต่ละบริษัทขาดทุนหรือกำไรลดลง

แต่ไตรมาสแรกของปีนี้ “อาร์เอส” กลับกำไรสูงขึ้น

ถามว่ามาจากไหน

มาจากธุรกิจเครื่องสำอางและอีเว้นต์ครับ

อีเว้นต์ยังพอเข้าใจ

แต่ “เครื่องสำอาง”???

“อาร์เอส” ทำธุรกิจเครื่องสำอางตอนไหน

งงใช่ไหมครับ

ผมก็งง

“เฮียฮ้อ” เพิ่งให้สัมภาษณ์วันก่อนว่าเขาจ้างโรงงานผลิตเครื่องสำอาง และใช้สื่อทีวีประชาสัมพันธ์

ไม่รู้ว่าใช้ศิลปินในค่ายเป็น Influencer หรือเปล่า

เขาทำเงียบๆ

แต่กลายเป็นรายได้ใหม่ของค่ายอาร์เอส

เป็นกลยุทธ์ที่ไร้รูปแบบมาก

อาจฟังดูไม่สวยหรู

แต่ “กำไร”

การพลิกมุมมองใหม่ของ 2 ยักษ์ใหญ่ในวงการบันเทิงครั้งนี้ น่าจะถือเป็นกรณีศึกษาของแวดวงธุรกิจ

ในวันที่เกือบทุกองค์กรต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

บางทีเราอาจต้องตั้งคำถามว่าวันนี้เรามองธุรกิจของเราอย่างไร

เพราะสิ่งที่มีค่าขององค์กรในวันนี้

อาจไม่ใช่สิ่งเดิม