วิรัตน์ แสงทองคำ/เรื่องของบิล ไฮเน็ค ว่าด้วยธุรกิจไทย กับการเผชิญหน้าวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

เรื่องของบิล ไฮเน็ค

ว่าด้วยธุรกิจไทย กับการเผชิญหน้าวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่

 

หลายคนอาจจำไม่ได้ มีนักธุรกิจคนหนึ่งได้นำเสนอความคิดเข้ากระสถานการณ์ในสังคมไทยอย่างน่าสนใจไว้

“นับตั้งแต่การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2020 นักท่องเที่ยวไทยและธุรกิจภาคบริการได้รับผลกระทบอีกครั้ง ทำให้มีโรงแรมและผู้ให้บริการการท่องเที่ยวต้องปิดตัวลง หลายต่อหลายบริษัทไม่สามารถที่จะประคับประคองต้นทุนเพื่อเปิดบริการได้ บางแห่งถึงกับต้องปิดไปอย่างถาวร โดยตอนนี้วัคซีนซึ่งถือเป็นแสงสว่างแห่งความหวังเพียงอย่างเดียวที่ปลายอุโมงค์อันมืดมิด”

สาระสำคัญจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อต้นปี (ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ลงวันที่ 28 มกราคม 2564) ลงนามโดยวิลเลียม ไฮเน็ค (William E. Heinecke) ประธานกรรมการบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

เรื่องเสนอแนะข้างต้นในเวลานั้น ในช่วง Covid-19 ปะทุอีกครั้งเป็นระลอกที่สอง ดูจะเข้ากับกระแสและสถานการณ์ที่เป็นไปในเวลานี้ เมื่อสังคมไทยเผชิญอีกครั้งในระลอกที่ 3 เป็นไปหนักหนากว่าครั้งก่อนๆ ดูไปแล้วเหมือนจะมีความพยายามของรัฐมากขึ้น จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เดินไปตามแนวทางนั้น ท่ามกลางแรงกดดันรอบด้าน ตามจดหมายเปิดผนึกเมื่อ 3 เดือนก่อน

“ควรพิจารณาทางเลือกเกี่ยวกับวัคซีนให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน” ควรอ้างอิงอีกครั้ง “ทางการควรจะจัดหาวัคซีนให้เร็วขึ้นไปอีก เพราะไทม์ไลน์ในปัจจุบันถือว่าเร็วไม่เพียงพอทั้งด้านการจัดซื้อและต่อจำนวนประชากร นอกเหนือไปจากแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค ทีได้มาแน่นอนแล้ว รัฐบาลควรจะพิจารณาการจัดหาวัคซีนที่มีอยู่ทั้งหมด และขอให้รัฐบาลเร่งให้ อย.อนุมัติวัคซีนโควิด-19 เพื่อใช้ในประเทศ”

รวมทั้งกรณี “ภูเก็ตโมเดล” เขาได้เสนอแนะไว้ด้วย “เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาพร้อมกับหนังสือเดินทางวัคซีน–เสนอให้ใช้ ‘ภูเก็ต’ เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการทดสอบการใช้มาตรการดังกล่าวในการเปิดกว้างเพื่อรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนมาแล้วจากประเทศตัวเอง”

จึงน่าจะเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่งขึ้น เกี่ยวกับผู้คน ผู้มีบทบาทและมีความเกี่ยวข้องโดยตรง

 

“William Heinecke ชาวต่างชาติผู้บุกเบิกสร้างฐานธุรกิจในไทย ภายใต้กระแสเชื่อมโยงระหว่างอเมริกากับสงครามเวียดนาม จนประสบความสำเร็จและขยายตัวในระดับโลก” ภาพกว้างๆ เคยเสนอไว้ค่อนข้างนานแล้ว ควรขยายภูมิหลังและเรื่องที่มีสีสันให้มากขึ้นอีกครั้ง

William Heinecke เกิดที่สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวซึ่งมีความสัมพันธ์กับโลกตะวันออกเป็นพิเศษ

บิดาเป็นทหารร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี

เมื่อเกษียณอายุได้ทำงานให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา หน่วยงาน United States Foreign Service (ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพในต่างประเทศ) โดยพำนักในญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเลเซีย ก่อนจะมาปักหลักเมืองไทย

ส่วนมารดาเคยเป็นผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียของ Time magazine

William Heinecke เข้ามาอาศัยแผ่นดินไทยตั้งแต่วัย 14 ขวบ หรือเมื่อ 58 ปีที่แล้ว จนเมื่อปี 2534 หรือเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้วในวัย 42 ปี เขาได้สัญชาติไทย ขณะตัดสินใจสละสัญชาติอเมริกัน

ในเวลานั้นเขาวางรากฐานเครือข่ายธุรกิจในสังคมไทยอย่างมั่นคงแล้ว ทั้งกิจการโรงแรม เครือข่าย Fast foods แบรนด์ดังอเมริกัน และสินค้าอื่นๆ

ที่สำคัญเวลานั้นเขามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยถึง 3 แห่ง ในเวลาต่อมาได้หลอมรวมเป็นบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

เป็นช่วงจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญมากๆ เมื่อสามารถนำพากิจการฝ่าวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในสังคมไทยปี 2540 โดยเปิดแผนการใหญ่ เดินหน้าสร้างเครือข่ายโรงแรม

 

ที่จริง William Heinecke เปิดฉากธุรกิจโรงแรมอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2521 เริ่มต้นอาศัยเครือข่ายและโนว์ฮาวเครือข่าย (chain) โรงแรมระดับโลก เช่นเดียวกับธุรกิจอาหาร อาศัยระบบแฟรนไซส์ Fast foods อเมริกัน ด้วยบทเรียนไม่ราบรื่นนัก

กรณี Pizza Hut-The Pizza Company (หาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือของเขาเอง-The Entrepreneur : 25 Golden Rules for the Global Business Manager Revised Edition หรือฉบับแปลเป็นภาษาไทย-เถ้าแก่มือโปร เคล็ดลับ 21 ข้อสำหรับผู้บริหารในโลกยุคไร้พรมแดน)

เชื่อว่าสะท้อนบทสรุป บทเรียนสำคัญ ผลักดันการสร้างแบรนด์ของตนเองอย่างจริงจัง จากพิซซ่าถึงโรงแรม ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน

William Heinecke ใช้เวลาศึกษาเรียนรู้จากพันธมิตรเครือโรงแรมระดับโลกราวๆ 2 ทศวรรษ ก่อนจะปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ปี 2544 ใช้ชื่อ “อนันตรา” (Anantara) เป็นแบรนด์เครือโรงแรม โดยเปลี่ยนชื่อโรงแรมรอยัล การ์เด้น วิลเลจ เป็น “อนันตรารีสอร์ท แอนด์ สปา หัวหิน” เป็นแห่งแรก

จักรกลแห่งแรงบันดาลใจ ทำงานเร่งสปีดอย่างเหลือเชื่อ สามารถเป็นเครือโรงแรมระดับโลกในช่วงเวลาเพียงทศวรรษเดียว เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อ William Heinecke กับ MINT ขยายเครือข่ายโรงแรมครอบคลุมจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญในประเทศไทย เข้ากับจังหวะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกกำลังเติบโต ดูจะเป็นเช่นนั้นในเมืองไทยด้วย จากปี 2553 ถึงปี 2556 จำนวนนักท่องเที่ยวในสังคมไทยเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ในระลอกแรก จากราวๆ 16 ล้านคน เป็น 27 ล้านคน

เวลาเดียวกัน ได้ขยายเครือข่ายสู่ต่างประเทศครั้งแรก ชิมลางภูมิภาคท่องเที่ยวย่านมหาสมุทรอินเดีย ไม่ว่ามัลดีฟส์ ศรีลังกา และภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา

 

William Heinecke และ MINT มองโอกาสธุรกิจในระดับโลกอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น จังหวะก้าวกระโดดในปี 2554 เมื่อซื้อเครือโรงแรมในออสเตรเลีย (ปี 2554) ตามมาด้วยซื้อเครือโรงแรมในยุโรปซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมถึงแอฟริกา เป็นไปอย่างครึกโครม ถึงสองครั้งสองคราในช่วงปี 2558 และปี 2561

ว่าไปแล้วเป็นแผนการธุรกิจอันแยบยล เพื่อกระจายความเสี่ยง ทั้งๆ ที่เวลานั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกำลังเติบโตต่อเนื่องก็ตาม ระหว่างปี 2558-2562 จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 30 ล้านคนเป็นราวๆ 40 ล้านคน

“สิ้นปี 2563 ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีโรงแรมทั้งหมด 532 แห่ง และห้องพัก 75,638 ห้อง” ข้อมูลสำคัญของ MINT ฐานะบริษัทไทยเครือโรงแรมใหญ่ระดับโลก

โดยไม่คาดคิดว่าจะมีเหตุการณ์ช็อกโลก “ปี 2563 เป็นปีที่ท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์ของการท่องเที่ยวโลก ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ลดลงถึงร้อยละ 74 จากข้อมูลล่าสุดขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลง 1 พันล้านคนในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562” รายงานตอนหนึ่งว่าด้วยสถานการณ์การท่องเที่ยว (รายงานประจำปี 2563 บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน))

ตามด้วยรายงานประธานกรรมการ (มีนาคม 2564) โดยวิลเลียม ไฮเน็ค เอง “…ปี 2563 เป็นปีที่ท้าทายอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ประชากรทั่วโลกได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในด้านส่วนตัวและหน้าที่การงาน โดยอุตสาหกรรมโรงแรมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ด้วยการท่องเที่ยวและการเดินทางที่หยุดชะงักจากมาตรการการปิดประเทศและปิดพรมแดนของหลายประเทศทั่วโลก…”

ปิดท้าย เป็นบทสรุปใกล้ตัว คิดต่อกันเอง ด้วยข้อมูลพื้นฐาน “ภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย โดยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 21 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2562…” (อ้างแล้ว)