ครัวอยู่ที่ใจ l ทางรอดอยู่ในครัว : เมนูของคนไกลตลาด / อุรุดา โควินท์

 

ทางรอดอยู่ในครัว

: เมนูของคนไกลตลาด

 

“บ้านจะเสร็จแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยโนะ” ฉันพูด

“นั่นสิ คิดว่าจะนานกว่านี้”

ช่างของเรามาทำเฉพาะวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดอื่น ฉันคิดว่าเราจะใช้เวลานาน เอาเข้าจริง ตอนนี้เหลือแค่ทาสี ปูกระเบื้อง และเก็บรายละเอียดปลีกย่อย

ปูกระเบื้อง พี่ยกปูได้ดี แต่แกทำไม่บ่อย อาจช้าหน่อย ส่วนงานสีแกชำนาญ เพราะรับเหมาทาสีบ้านเป็นประจำ

พี่ยกบอกฉัน แกไม่ได้ทำงานสร้างบ้านมาเกินสิบปี ก็ตั้งแต่ได้ทำงานกับมหาวิทยาลัยพะเยา แกออกปากว่า อาจจะพลาดในบางจุด เช่น สั่งอิฐมาเกิน

ฉันหัวเราะ บอกนั่นเรื่องเล็กมาก บางทีมันเกินเพราะเราทำไปคิดไป เปลี่ยนตรงนู้นนิด ตรงนี้หน่อย ย่อมมีผลต่อข้าวของที่ซื้อมา

เท่าที่ฉันเห็น พี่ยกทำงานละเอียด ทั้งใส่ใจ บางจุดที่ฉันมองข้าม ถ้าแกไม่พูดก็ไม่ต้องทำ แต่แกจะชี้ให้ฉันดู แนะนำ และลงมือทำทันที

 

พี่ยกและทีมเป็นคนแบบที่ฉันสามารถนับถือได้อย่างเต็มใจ พวกเขาสนุกกับงาน ทำงานเต็มความสามารถ บางเรื่องที่ทำไม่ได้ หรือไม่ถนัด ก็บอกตรงๆ เพื่อฉันได้ปรับสมดุลระหว่างความต้องการของตัวเองกับความสามารถของเขา

เหมือนฉันได้เพื่อนใหม่ แน่นอน-เป็นช่างคู่ใจด้วย

ค่าแรงที่พี่ยกเรียกมาเป็นค่าแรงแบบมิตรภาพ มันถูกมาก แถมพวกเขาต้องเดินทางมาจากแม่จันทุกวัน

“เราจะเหลือเงินสักหน่อยมั้ยนะ หลังบ้านเสร็จ” ฉันถามเขา

เขาเลิกคิ้ว

“อยากให้ค่าแรงพี่ยกเพิ่ม ค่าน้ำมันด้วย แกทำงานเกินราคาไปมาก ชอบเพิ่มงานให้ตัวเอง”

เขาหัวเราะ “อย่างครัว เราจะใช้พื้นขัดมัน พี่ยกก็อยากให้ปูกระเบื้อง”

เราอยากลดงานของช่าง ทำเท่าที่จำเป็น เพราะเกรงใจ แต่ช่างของเราชอบทำงาน

“เพิ่มให้แกเถอะ” เขาพูด “มี ไม่มีก็หาให้แก”

ฉันก็คิดแบบนั้น ถ้าเราไม่ให้ จะติดค้างในใจ เราไม่ได้มีเงินมากนักหรอก ความจริงก็คือ เรายังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะมีเงินพอสำหรับทำชั้นหนังสือหรือเปล่า แต่ถ้าเราอยากให้แก เราก็จะเก็บส่วนของแกไว้

 

หลังย้ายบ้าน วิถีชีวิตของเราจะเปลี่ยนเล็กน้อย เราไม่มีห้องพักให้คนมาพัก ขาดรายได้ แต่เราก็ลดค่าใช้จ่ายได้หลายจุด ที่สำคัญ เราได้เวลาเพิ่ม เอาเวลามาทำงานอย่างอื่นได้ สถานการณ์แบบนี้ เราไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้ขายห้องพัก ในขณะที่ต้องแบกค่าใช้จ่ายในการดูแล รวมทั้งค่าเช่า

หากไม่นับเรื่องเงินลงทุน และการลงแรง ฉันก็ไม่มีอะไรให้เสียดาย เราไม่ได้เอาเงินใครมาใช้ ไม่ได้ยืม ไม่มีหนี้สิน ถือเสียว่าได้เริ่มต้นใหม่ ในแบบเบาสบายขึ้น

แม้มองไม่เห็นอนาคตชัดเจน แต่เมื่อบ้านใกล้เสร็จ ฉันก็อยากย้ายมากจริงๆ

“เรากินปลากระป๋องกันเถอะ” นานทีปีหนเขาจะคิดเมนู คงเป็นเพราะเขาอยากประหยัด-อีกสักมื้อก็ยังดี

อาหารเป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นต้นทุนได้ เมื่อลงมือทำเอง อาหารที่ถูกปาก ไม่ได้ต้นทุนสูงเสมอไป แน่นอน-เราไม่ได้เคร่งครัดกับการทำอาหารราคาถูก นั่นจะเครียดไป บางวันกินกุ้ง บางวันกินปลาทะเล บางวันกินหมู กินไก่ ทำไมจะมีบางวันที่เรากินปลากระป๋อง หรือกินไข่เจียวไม่ได้ล่ะ

ถ้าเราทำดีๆ เลือกเวลาเหมาะสม อาหารจานประหยัดก็อร่อย น่ากินได้เหมือนกัน

 

ปลากระป๋องเป็นอาหารตอบโจทย์ในช่วงเวลาที่เราไม่ค่อยอยากไปตลาด ถ้าได้ยี่ห้อโปรดมาตุน ปลากระป๋องก็ทำได้หลายเมนู

กับมื้อกลางวัน ฉันอยากทำอะไรเร็วๆ มีงานรออยู่หลายอย่าง

ซื้อคะน้ามาเมื่อวานสี่มัด ทำราดหน้าไปสองมัด อีกสองมัดตั้งใจจะทำผัดคะน้ากับใส่ข้าวผัด คะน้าสี่มัด ได้สามเมนู คือความภูมิใจของฉัน

พ่อชอบกินคะน้าเนื้อน้ำมันหอย ฉันอยากทำเพื่อระลึกถึงพ่อ เรามีเนื้ออยู่ในช่องแข็ง อืม…แต่ไหนๆ เขาเอ่ยปากอยากกินปลากระป๋อง ฉันจะจัดให้

คะน้าผัดเข้าคู่กับปลากระป๋องได้ ฉันเคยกินที่บ้านเพื่อน เพื่อนเดินลงไปตัดคะน้าในแปลงมาล้าง ค้นตู้กับข้าว เจอปลากระป๋อง มื้อนั้นเรากินคะน้าผัดน้ำมันหอยราดปลากระป๋องกับข้าวเหนียวอย่างเมามัน เป็นอีกมื้อที่ฉันไม่เคยลืม

ล้างคะน้าแล้ว ฉันตัดใบแก่ทิ้ง ตัดคะน้าเป็นท่อนเตรียมไว้

เปิดปลากระป๋องใส่ถ้วยรอ เพื่อความรวดเร็ว

ทีนี้ก็ตำกระเทียมกับหอมแดงให้แหลก ใช้เยอะหน่อยจะอร่อยมาก

เทน้ำมันลงกระทะนิดหน่อย รอให้น้ำมันร้อนจัด แล้วเทคะน้าพร้อมน้ำมันหอยลงไป ผัดให้คะน้าสุกเร็วๆ ตักใส่จานรอไว้

กระทะใบเดิม เติมน้ำมัน เบาไฟลง เจียวหอมกับกระเทียมให้หอม เทปลากระป๋องลงไปผัด ใช้ตะหลิวกดเนื้อปลาให้เล็กลงบ้าง ผัดให้ร้อน แล้วตักราดบนคะน้า

เรากินกับข้าวหุงร้อนๆ ดูเหมือนเขาจะชอบมาก

“เพื่อนเคยทำให้กิน บ้านเค้าอยู่เชียงดาว มันไกลตลาด นานๆ จะได้จ่ายตลาดที ไม่ได้ปรุงอะไรเลย แค่ใส่น้ำมันหอยลงในคะน้า กับเจียวปลากระป๋อง ง่ายมาก” ฉันบอก

ถ้าเพิ่มพริกน้ำปลา หรือกินกับไข่ทอด โดยตำน้ำพริกอีกสักถ้วย เราก็ได้มื้อที่ต่างออกไป

ไว้เป็นครั้งหน้าแล้วกัน ฉันคิด เก็บจานเกลี้ยงเกลา ยิ้มหน้าบานเข้าครัว