สิ่งแวดล้อม : ‘100 เมือง’ เปื้อนมลพิษ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ภาพถนนสายหลักในช่วงเวลาเร่งด่วนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย (ภาพจาก The Jakarta Post)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

‘100 เมือง’ เปื้อนมลพิษ

 

ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 ทะลุ 162 ล้านคน ผู้เสียชีวิตเกินกว่า 3,370,000 คน และชาวโลกได้วัคซีนแล้วมากกว่า 1,433 ล้านโดส ในจำนวนนี้มีคนไทยได้รับวัคซีนเพียง 2.2 ล้านโดส เป็นเข็มแรกแค่ 1.4 ล้านโดสเท่านั้น

หลายประเทศตะลุยฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช หวังให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ พลเมืองรอดพ้นไวรัสมรณะ เศรษฐกิจจะได้พลิกฟื้นคืนสู่ปกติ

รัฐบาลอเมริกันเป็นตัวอย่าง วันนี้จัดการกระจายวัคซีนฉีดให้อเมริกันชน 270 ล้านโดส อีก 344 ล้านโดสส่งมอบให้ท้องที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐ และอนุญาตให้คนฉีดครบโดสไม่ต้องใส่หน้ากากทั้งใน-นอกอาคาร ยกเว้นบนรถบัส เครื่องบิน โรงพยาบาล

อังกฤษเป็นอีกตัวอย่างที่รัฐบาลจัดการบริหารวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ แถมมีวัคซีนให้ประชาชนเลือกฉีด 3 ยี่ห้อ ทั้งไฟเซอร์-ไบออนเทค, ออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า และโมเดอร์นา ณ วันนี้ ประชากรสูงวัยของเมืองผู้ดี 1 ใน 3 รับวัคซีนครบ 2 เข็ม อีก 1 ใน 3 ฉีดแล้ว 1 โดส

ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมเป็นต้นไป รัฐบาลนายบอริส จอห์นสัน ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีอิสรเสรีมากขึ้น ผับบาร์บนเกาะอังกฤษเปิดให้ดื่มกินในร้าน

สนามกีฬาอนุญาตให้แฟนๆ เข้าเชียร์ 1 หมื่นคน และเดือนมิถุนายนจะเปิดให้บรรดาไนต์คลับดำเนินธุรกิจบันเทิง อนุญาตเจ้าภาพจัดพิธีหมั้น งานแต่งเชิญแขกเหรื่อเข้าร่วมได้

กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเตรียมอ้าแขนรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนและมีเอกสารรับรองการตรวจโควิด

 

หันไปดูอินเดีย กำลังเผชิญกับวิกฤต “โควิด” อย่างหนักหน่วง คนติดเชื้ออยู่หลัก 3 แสนต่อวัน อัตราเสียชีวิตเฉลี่ย 4 พันคน ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมาจำนวนผู้ป่วยและตายเพิ่มขึ้นมาตลอด เป็นสัญญาณชัดว่าไวรัสสายพันธุ์ “B.1.617.2” รุนแรงน่าห่วงอย่างที่องค์การอนามัยโลกเตือนไว้

รัฐบาลอินเดียระดมแพทย์ พยาบาล หน่วยกู้ภัยปราบโควิดยังไม่พอ ยังต้องเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่รับมือพายุไซโคลน “เตาะแต่” ลูกใหม่ล่าสุดความเร็ว 175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จ่อถล่มชายฝั่งตะวันตก

อินเดียนาทีนี้ตกอยู่ในภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด

 

บ้านเรานั้นยังเฝ้ารอดูเดือนมิถุนายนนี้จะมีวัคซีนเข้ามาตามปริมาณที่ผู้นำรัฐบาลคุยไว้แค่ไหน ทันเวลาป้องกันไวรัสสายพันธุ์ “อินเดีย” ที่กำลังคุกคามโลกอีกระลอกหรือเปล่า

แม้มีวัคซีนแล้ว ก็ไม่รู้ชาวบ้านตาดำๆ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะได้รับโอกาสฉีดวัคซีนอย่างเท่าเทียมจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่หรือไม่

มีผู้คนจำนวนไม่น้อยอยากฉีดวัคซีนไวๆ เฝ้าหน้าจอลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” มานาน 5 วันยังไม่ได้ เจอแต่ “หมอไม่พร้อม” ลงทะเบียนไม่สำเร็จ

เป็นอย่างนี้ก็เลยสวดชยันโตให้รัฐบาลเป็นธรรมดา

 

กลับมาดูเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมกันดีกว่า ในรายงานการประเมินความเสี่ยงฉบับล่าสุดของบริษัทเวอริสก์ เมเปิลครอฟต์ (Verisk Maplecroft) พูดถึง 100 เมืองทั่วโลกที่มีความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย

รายงานชิ้นนี้จัดให้กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย อยู่ในระดับความเสี่ยงสูงสุดด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากน้ำทะเลเพิ่มสูง แผ่นดินทรุดตัวเนื่องจากการดึงน้ำบาดาลมาใช้ในปริมาณมากทำให้กรุงจาการ์ตาทรุดตัวเร็วที่สุดในโลก ประกอบกับเกิดภัยน้ำท่วมเป็นประจำ จึงคาดว่ากรุงจาการ์ตาจะจมใต้น้ำภายใน 30 ปี

คุณภาพอากาศของกรุงจาการ์ตายังย่ำแย่เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน สภาพการจราจรที่ติดขัด และประชากรของเมืองหลวงอินโดนีเซียอยู่กันแออัดกว่า 10 ล้านคน

 

“เวอริสก์ เมเปิลครอฟต์” ระบุว่า เวียดนามและญี่ปุ่นจัดอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจากภัยธรรมชาติ หลายเมืองในเวียดนามเจอภัยน้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะเมืองที่อยู่รอบๆ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ผู้เชี่ยวชาญของเวียดนามชี้ว่า ผืนดินของเมืองอยู่ริมแม่น้ำโขงทรุดตัวอย่างหนักตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ชาวเมืองขุดบ่อน้ำบาดาลเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านบ่อ อีกทั้งยังสร้างกำแพงขวางทางน้ำ

ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอูเทรกต์แห่งเนเธอร์แลนด์ ชี้ว่า ค่าเฉลี่ยดินทรุดตัวริมสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม 1.1 เซนติเมตรทุกๆ 12 เดือน บางแห่งทรุดลงถึง 2.5 เซนติเมตรต่อปี

ในปี 2593 ดินจะทรุดตัวในบริเวณดังกล่าวค่าเฉลี่ย 35-140 เซนติเมตรต่อปี และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 10 เซนติเมตรต่อปี

เมื่อ 2 ปีก่อนเกิดน้ำท่วมหนักในเมืองเกิ่นเทอ ระดับน้ำของแม่น้ำโฮ่วเป็นสาขาของแม่น้ำโขง เพิ่มสูงถึง 2.23 เมตร ทำลายสถิติในรอบหลายสิบปี สร้างความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตของชาวเวียดนาม

 

ที่ญี่ปุ่นเผชิญภัยธรรมชาติทั้งจากพายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหว แต่ละปีมีพายุไต้ฝุ่นถล่มญี่ปุ่น 30 ลูก มี 2-3 ลูกที่พัดเข้าใส่ 4 เกาะสำคัญได้แก่ เกาะฮอกไกโด ฮอนชู ชิโกะกุ และคิวชู เมื่อปี 2562 พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส มีความเร็วลมสูงสุด 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถล่มญี่ปุ่นจนอ่วม

ส่วนภัยแผ่นดินไหวนั้น ชาวญี่ปุ่นเผชิญอยู่เป็นประจำ บางวันก็ไหวสั่นเขย่าขวัญเล่นๆ เมื่อปีที่แล้วชาวญี่ปุ่นเจอเหตุแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือนถึง 7.3 ริกเตอร์สเกล แม้ไม่เกิดคลื่นสึนามิ แต่ถือว่ารุนแรงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

ส่งผลให้ผู้คนเกือบ 1 ล้านครัวเรือนแถบชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นเดือดร้อนเพราะไฟฟ้าดับ

 

สําหรับกรุงเทพมหานคร ติดอันดับ 84 จาก 100 เมืองใหญ่ของโลกที่ประสบกับความเสี่ยงสูงด้านสิ่งแวดล้อมตามรายงานของเวอริสก์ เมเปิลครอฟต์ น่าจะเป็นเรื่องคุณภาพอากาศย่ำแย่ ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ครอบเมือง ปัญหาน้ำท่วม ดินทรุด ขยะล้น

ฝั่งภูมิภาคเอเชียใต้ มีความเสี่ยงด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม 2 เมืองใหญ่ในประเทศปากีสถาน ได้แก่ กรุงการาจีและนครลาฮอร์

อินเดียเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นกรุงเดลี เมืองเชนไน เมืองมุมไบ และเมืองอื่นๆ รวมแล้วราว 13 แห่ง

มลพิษทางอากาศที่มีระดับความรุนแรงในเมืองใหญ่ๆ ของอินเดีย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าส่งผลให้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีส่วนสำคัญทำให้เชื้อเกิดการกลายพันธุ์

 

รายงานของเวอริสก์ เมเปิลครอฟต์บอกว่า เมืองต่างๆ 37 แห่งของจีนตกอยู่ในความเสี่ยงสูงทั้งปัญหาน้ำท่วม ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มาจากโรงงานใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อน

แต่ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ผู้นำจีนได้ให้ความใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม มีการวางนโยบายอากาศสะอาดมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2556 สนับสนุนให้ชาวจีนหันมาใช้เตาแก๊สและไฟฟ้าแทนเตาถ่านหิน เพิ่มมาตรการเข้มกับโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐาน ทั้งปรับและปิดโรงงาน

“เวอริสก์ เมเปิลครอฟต์” ระบุว่า นอกจากปัญหามลพิษในด้านต่างๆ แล้ว ประชากรค่อนโลกยังประสบกับปัญหาน้ำดื่มน้ำใช้

ประเทศในทวีปแอฟริกาปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา แต่กลับประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จากเมืองต่างๆ เจอคลื่นความร้อน ภัยแล้ง พายุและน้ำท่วมถล่ม

ขณะที่รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นไม่มีงบประมาณและศักยภาพเพียงพอในการแก้ปัญหา อีกทั้งยังขาดเครื่องไม้เครื่องมือ

 

โครงการที่ชื่อว่า “คาร์บอน ดิสโคลสเซอร์” ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีสำนักงานตั้งอยู่ในเยอรมนี สำรวจ 800 เมืองทั่วโลกด้านการวางแผนปรับตัวรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

พบว่า 43 เปอร์เซ็นต์ของเมืองเหล่านั้นซึ่งมีประชากรรวมกันแล้ว 400 ล้านคนไม่มีแผนรับมือเลย

ส่วนนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของการวางแผนรับมืออย่างดี

สาเหตุที่ไม่มีแผนรับมือก็เพราะว่าขาดแคลนงบประมาณทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าต้องเจอกับน้ำท่วม คลื่นความร้อน ภัยแล้ง

สถานการณ์ในบ้านเราคงไม่ต่างจากบ้านอื่นเมืองอื่นมากซะเท่าไหร่ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สุดๆ กระหน่ำซ้ำด้วยโรคระบาดโควิด-19 เงินงบประมาณที่จะได้จากการจัดเก็บภาษีนำไปใช้รับมือปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงดูริบหรี่