วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/คำถามนักข่าว คำตอบนายกฯ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

คำถามนักข่าว คำตอบนายกฯ

เขียนบันทึกจากความจำมากกว่าค้นหาหลักฐานวันเวลาและบุคคลในยุคสมัย ความผิดพลาดบกพร่องจากความจำจึงเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งที่พยายามทั้งสืบค้นในบางเรื่อง ทั้งสอบถามบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ ขณะที่ตัวเองเมื่ออยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย จึงชะล่าใจว่า “จำได้” ทั้งเหตุการณ์และบุคคล

แล้วยังพลาดจนได้ เมื่อเอ่ยถึงรัฐมนตรีมหาดไทยคนนั้น

เมื่อก่อนกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงสำคัญทางการเมือง ทุกวันนี้ยังสำคัญแต่น้อยกว่ายุคก่อน เพราะอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองแบ่งปันออกจากกระทรวงมหาดไทยไปเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

หลังการเลือกตั้งที่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้คะแนนเพียง 18 เสียง รวมกับพรรคการเมืองที่มีเสียงถึง 45 เสียงจัดตั้งรัฐบาล โค่นล้มพรรคประชาธิปัตย์ที่คิดว่าการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะเป็นไปได้

กระทรวงซึ่งเป็นที่หมายปองของพรรคการเมืองคือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพรรคกิจสังคมไม่ยอมยกให้พรรคอื่น ทั้งยังมีผู้จะเป็นรัฐมนตรีที่มีอิทธิพลพอสมควร 2 คน คือ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ซึ่งมีสมญานามว่า “เท่ง เที่ยงถึง” เนื่องจากกว่าจะมาปฏิบัติหน้าที่ได้ ต้องเป็นเวลาเที่ยงไปแล้ว ด้วยเหตุที่ต้องไปประชุมพรรค ประชุมลูกพรรค พบบุคคลสำคัญ และอื่นๆ

กับอีกคนหนึ่ง คือ พันตำรวจโทบุญเลิศ เลิศปรีชา ที่ผมเขียนผิดเป็น “ปรีชา พันธ์ปรีชา” ในฉบับก่อน ถึงวันนี้ชักไม่แน่ใจว่า ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการขณะนั้น และคอยตรวจสอบรายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดคือใครแน่ แต่ที่แน่ๆ คือเป็นหนึ่งในสองคนนี้

ที่บอกไปว่า “รัฐมนตรีปรีชา พันธ์ปรีชา” ที่ถูกคือ “บุญเลิศ เลิศปรีชา” ขอได้โปรดเข้าใจตามนี้

เนื่องจากข่าวกรมประชาสัมพันธ์ หรือสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย เริ่มรายการข่าวภาคเช้าเวลา 07.00 น. ส่วนหนังสือพิมพ์ออกวางตลาดตั้งแต่เช้ามืด ร้านขายหนังสือเริ่มเปิดร้านตั้งแต่ตีห้า รวมถึงผู้จัดส่งหนังสือพิมพ์ต้องส่งประมาณ 6 โมงเช้า หนังสือพิมพ์จึงถึงแผงให้หาซื้อและส่งตามบ้านก่อนเวลาข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ จึงเป็นที่มาของข่าวหนังสือพิมพ์ประชาชาติเช้าวันนั้นนำเสนอรายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ เฉพาะในกรุงเทพฯ

นักข่าวสายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวประจำกระทรวง ประจำทำเนียบรัฐบาล หรือสภาผู้แทนราษฎร จะแต่งตัวเรียบร้อย ผู้ชายจะสวมเสื้อสีอ่อนหรือสีขาว กางเกงขายาวทรงสุภาพ ไม่สวมกางเกงยีนส์ น่าจะเห็นจากรูปแบบของนักข่าวรุ่นพี่ที่ทำข่าวสมัยก่อน ต้องสวมเสื้อนอก ผูกเน็กไท

จำได้ว่า ก่อนหน้าที่ผมจะเข้าสู่วงการนักข่าว เคยติดตาม อาจารย์พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ไปต่างจังหวัด เช้ากลับเข้ากรุงเทพฯ “อาจารย์ป๋อง” ต้องไปทำข่าวในทำเนียบรัฐบาล พี่เขาต้องเปลี่ยนเสื้อเชิ้ตขาวแขนยาว ผูกเน็กไท แล้วสวมเสื้อนอกทับ

แต่ยุคผม เพียงสวมเสื้อเชิ้ตสีอ่อนหรือสีขาว ทั้งแขนสั้นหรือแขนยาวก็พอแล้ว เพียงต้องสวมกางเกงสุภาพ รองเท้าหนัง ไม่สวมกางเกงยีนส์ หรือรองเท้าผ้าใบ

มีเพื่อนนักข่าวคนหนึ่ง รุ่นราวคราวเดียวกับผม สวมเสื้อเชิ้ตขาวแขนสั้น กางเกงสีดำหรือกรมท่าเป็นประจำ นักข่าวผู้หญิงรุ่น “เจ๊” แต่งกายสุภาพ นุ่งกระโปรงทรงสุภาพ ไม่มีการนุ่งกางเกงหรือกระโปรงสั้น เว้นแต่การออกทำข่าวติดตามรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีไปต่างจังหวัด

ผู้ที่นุ่งกางเกง แต่ทรงสุภาพเห็นจะมีเพียงคนเดียว คือช่างภาพเดลินิวส์ “เจ๊ศุภลักษณ์ ตัณฑาภิชาติ” ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายภาพภาคสนาม นานๆ จึงจะแวะเวียนเข้าไปในสภาหรือทำเนียบสักครั้ง

อาชีพนักข่าวประการสำคัญ คือต้อง “ทำการบ้าน” หรือมีประเด็นที่จะสัมภาษณ์ หรือป้อนคำถามให้แหล่งข่าวตอบในทุกสถานการณ์

ห้วงที่ผมออกไปตระเวนข่าว อยู่ในห้วงรัฐบาล หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความผันผวนไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะมาจากฟากฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลเอง เพราะฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์ต้องการจะโค่นล้มรัฐบาล เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียเองอีกครั้ง หรือเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะได้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้น

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีที่รู้จักคุ้นเคยกับนักข่าว “รุ่นเจ๊” ทั้ง “เจ๊หยัด” – บัญญัติ ทัศนียเวช “เจ๊คณิต” – คณิต นันทวานี “เจ๊วิภา” – วิภา สุขกิจ “เจ๊ยุ” – ยุวดี ธัญญศิริ ซึ่งเป็นเจ๊รุ่นน้อง ถึงวันเสาร์วันอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ นักข่าวรุ่นเจ๊และนักข่าวชายรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ มักจะนัดกันไปตามบ้านรัฐมนตรี บ้านสมาชิกสภาคนสำคัญ หัวหน้าพรรค โดยเฉพาะ “บ้านซอยสวนพลู” ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เพื่อเสาะหาข่าวจากคำถามที่เตรียมไว้ล่วงหน้า

ศุภลักษณ์ ตัณฑาภิชาติ

หรือมิฉะนั้นไปขอให้ท่านเล่าเรื่องนั้นวิเคราะห์เรื่องนี้ให้ฟัง ทั้งเป็นแหล่งข่าวหรือข่าวไม่เปิดเผยผู้ให้ข่าว และขอความรู้เรื่องการเมืองในแต่ละช่วง

การตอบคำถามของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เป็นไปตามสถานการณ์ หรือรูปคำถาม เช่น ครั้งหนึ่ง เมื่อค่ำวันหนึ่งเดือนสิงหาคม 2518 เกิดพายุใหญ่ที่จังหวัดนครพนม เป็นเหตุให้พระธาตุพนมโค่นล้มครืนมาทั้งองค์

รุ่งขึ้นเช้า บรรดานักข่าวประจำทำเนียบต่างไปรอนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ที่ทำเนียบเพื่อถามถึงการโค่นล้มของพระธาตุ และเหตุอื่น เช่น เรื่องของความเชื่อศรัทธาเพราะพระธาตุพนมเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวอีสานและชาวลาวมานานหลายร้อยปี

อาจารย์คึกฤทธิ์หยุดยืนพิงระเบียงสบายๆ แล้วตอบเสียงเรียบง่ายว่า “พระธาตุล้มก็ต้องสร้างใหม่ ทำให้เสร็จเร็วๆ ด้วย เพราะพระธาตุเป็นที่เคารพทั้งของคนไทยและคนลาว พระธาตุสร้างมานานแล้ว เมื่อโดนลมพายุก็โค่นล้มเป็นธรรมดา”

เท่านั้นเองจริงๆ จากนั้น ท่านก็สั่งการให้กรมศิลปากรไปสำรวจแล้วจัดการสร้างซ่อมใหม่โดยเร็ว

อาจารย์คึกฤทธ์ขณะเป็นนายกรัฐมนตรียังพบกับเหตุการณ์อีกหลายรูปแบบ ทั้งการประท้วงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านต้องลงไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เรื่องระเบิดลงที่สยามสแควร์ เรื่องตำรวจหยุดงานประท้วง

เรื่องหลังผมจำได้ว่า ตั้งคำถามท่านก่อนเข้าไปแถลงข่าวและได้รับคำตอบที่กระจายทั่วประเทศเป็นอีกเหตุหนึ่งที่สร้างความไม่พอใจให้ตำรวจ และขยายการประท้วงออกไปจนถึงขั้นบุกบ้านนายกรัฐมนตรี

คำถามมีว่า “ตำรวจไม่ทำงาน ท่านจะให้ใครทำแทนครับ” แทนที่จะได้รับคำตอบว่า “ทหาร” กลับได้รับคำตอบที่คาดไม่ถึงว่า

“ตำรวจไม่ทำก็ให้ลูกเสือทำแทน” แล้วท่านก็เดินเข้าห้องไป