‘โควิด’ ชี้ช่องให้เห็น! : ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

‘โควิด’ ชี้ช่องให้เห็น

 

เป็นเวลาเกือบสองเดือนเต็ม นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้เกือบจะสิ้นเดือนพฤษภาคมแล้ว ที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของตัวเองเป็นหลัก

กินข้าววันละสามมื้ออยู่ในบ้าน

อาหารที่ใส่ปากใส่ท้องเข้าไปมีทั้งที่ปรุงเองในบ้านโดยไปซื้อของสดมากักตุนไว้แล้ว (คนอื่นที่ไม่ใช่ผม) ทยอยทำไปวันละอย่างสองอย่าง

หรือมิเช่นนั้นก็ไปซื้อมาจากร้านอาหารในละแวกบ้าน พยายามซื้อจากร้านเล็กร้านน้อยจะได้กระจายรายได้กันไป

ซื้อแล้วใส่ถุงใส่กล่องกลับมากินในบ้านของเราเป็นปลอดภัยดีที่สุด

เวลาไปซื้อก็ต้องแต่งกายรัดกุมถูกต้องตามกติกา ล้างมือบ่อยจนมือร้องทุกข์ว่าใกล้จะเปื่อยยุ่ยแล้ว ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนี้เป็นประจำ

ผมเคยนึกบ่นอุบอิบอยู่ในใจบ้างเหมือนกันว่า ชีวิตช่วงนี้ลำบากหนอ ขัดข้องหนอ ที่เคยพบหน้าเพื่อนฝูงกินข้าวเฮฮากันก็เว้นไปเสียนานจนจะนึกหน้าเพื่อนไม่ออกอยู่แล้ว บรรยากาศการนั่งกินข้าวในร้านอาหารที่ได้ละเลียดอาหารไปทีละจานสองจานด้วยความเอมโอชก็เว้นว่างจนเกือบนึกไม่ออกแล้วว่าเป็นอย่างไร

แต่ละวันมัววุ่นวายอยู่กับความคิดว่ามื้อต่อไปจะกินอะไรดี จะหยิบหนังสือเล่มไหนมาอ่านดี บ่นพึมพำว่ากลุ้มเช้ากลุ้มเย็น

คนอะไรจะเห็นแก่ตัวและเป็นบ้าได้ถึงขนาดนี้

โน่น! มองออกไปให้พ้นรั้วบ้านตัวเองอีกไม่กี่เมตร ทั้งซ้ายและขวาบ้านของผมเวลานี้กำลังมีการก่อสร้างบ้านสองสามหลัง มีคนงานก่อสร้างเข้ามาทำงานเป็นประจำทุกวัน

หลายคนปลูกเพิงชั่วคราวอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างนั้นเอง บางคนก็เดินทางไปเช้า-เย็นกลับมาจากที่อื่น ผมเข้าใจว่ารายได้ของคนงานก่อสร้างเหล่านี้เป็นเงินค่าจ้างรายวัน วันไหนล้มหมอนนอนเสื่อ เงินค่าจ้างก็ขาดหาย ถ้าเกิดโชคร้ายติดโควิดขึ้นมาก็เรื่องใหญ่ เดือดร้อนกันไปทั้งแวดวงว่านเครือ

คำถามประจำวันของคนงานก่อสร้างอาจไม่ใช่คำถามว่ามื้อนี้จะเลือกกินอะไรดี แต่จะเป็นคำถามว่ามื้อนี้จะมีกินหรือไม่

ถ้าผมเอาความหงุดหงิดหรือความทุกข์ของผมไปเปรียบกับความกังวลเรื่องปากท้องของคนงานก่อสร้างที่อยู่ห่างผมไปเพียงแค่ห้าเมตรสิบเมตร ความทุกข์ของผมจะเหลือเพียงแค่เมล็ดงา

ขณะที่ความทุกข์ของคนงานก่อสร้างยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ผมจะนึกได้ว่าควรเปรียบกับอะไรดี

โปรดอย่าหมั่นไส้ผมมากเลยนะครับ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากก็กรุณาทราบอยู่แล้วว่าผมเป็นข้าราชการบำนาญ ถึงวันสิ้นเดือนก็มีบำนาญกิน ถ้าเจ็บป่วยหลวงท่านก็ดูแลรักษา

ทุกวันนี้นั่งอยู่กับบ้านดูข่าวเที่ยงหรือข่าวทุ่มไปในแต่ละวันก็ใจหายใจคว่ำมากขึ้นทุกที ในวันที่นั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ มีทั้งเรื่องกลุ่มก้อนการระบาดใหญ่ในชุมชนแออัด การระบาดใหญ่ในแคมป์ก่อสร้าง และล่าสุดมาอีกเรื่องหนึ่งคือการระบาดใหญ่ในเรือนจำทั้งหลาย

ทรัพยากรทั้งปวงในเรื่องของระบบสาธารณสุขบ้านเรากำลังแห้งขอดลงเหมือนน้ำในคูคลองฤดูแล้ง

บุคลากรสาธารณสุขและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่มือเป็นระวิง เพื่อนที่รู้จักกันถ่ายรูปมือของเขาเมื่อถอดชุด PPE ออกจากตัวส่งมาให้ดู มือสองข้างทั้งเหี่ยวทั้งซีดเพราะชุ่มเหงื่อที่ไหลจนโทรมกาย เวลาอยู่ในชุดที่ว่านั้นเขาบอกว่าทรมานเหลือกำลังเหมือนตกนรกทั้งเป็น

การเกิดโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้ จึงไม่มีใครรอดพ้นไปจากความทุกข์ยากได้ เพียงแต่ว่าความพร้อมหรือความสามารถในการรับมือกับความทุกข์นั้นมีแตกต่างกันไป

ความทุกข์ของผมก็เป็นอย่างหนึ่งระดับหนึ่ง

ความทุกข์ของคนงานก่อสร้างข้างบ้านก็ยกระดับขึ้นไปมากกว่าผมอีกมาก

และผมเชื่อแน่ว่าความทุกข์ของผู้ต้องขังในเรือนจำที่ติดโรคโควิดย่อมมากมายและซับซ้อนกว่าความทุกข์ของผมเป็นไหนๆ

 

เพื่อนรุ่นน้องผู้คุ้นเคยกันบอกผมว่า โควิดมาเยี่ยมโลกคราวนี้ ทำให้เราเห็นความแตกต่างที่มีอยู่แต่เดิมแล้วในซอกมุมต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น

ระบบอะไรที่อ่อนด้อยจะถูกจำแนกให้เห็นถนัดว่าเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ

ระบบใดที่ทำงานเข้มแข็งทะมัดทะแทงมาแต่เดิมจะสามารถเอาตัวรอดและผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

หลายอย่างที่เคยซุกไว้ใต้พรมจะโผล่ขึ้นมาให้เราเห็นได้ถนัดตา

มองในมุมนี้แล้วโควิดก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน เพราะจะทำให้เรามีสติมากขึ้น

และถ้าเราผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปแล้ว ก็ควรเป็นโอกาสที่เราจะนำขยะใต้พรมที่ขึ้นมาอยู่บนพรมแล้วในเวลานี้มาดูแลแก้ไขเสียให้เป็นเรื่องเป็นราว

ย้อนกลับไปพูดถึง “คลัสเตอร์ Cluster” หรือกลุ่มระบาดใหญ่ที่ออกชื่อมาเมื่อกี้นี้แล้วอีกสักครั้งไหมครับ

ในขณะที่เราภาคภูมิใจถึงกรุงเทพฯ เมืองหลวงของเราว่าเป็นเมืองที่สวยงามเหมือนเทพสร้าง เราจะยอมรับไหมครับว่าเราเองเอาหูไปนาเอาตาไปไร่โดยไม่ยอมรับรู้หรือใส่ใจเท่าที่ควรกับชุมชนแออัดที่มีอยู่นับร้อยในพระนครแห่งนี้ และมีประชากรนับแสนนับล้านอยู่ในชุมชนที่ว่า

ท่ามกลางความขาดแคลนและด้อยคุณภาพชีวิต นึกถึงแต่เพียงชุมชนคลองเตยซึ่งเป็นชื่อเรียกรวมให้เห็นภาพขนาดใหญ่แต่แบ่งย่อยออกเป็นชุมชนเล็กๆ อีกนับสิบ ที่เดียวก็มีคนซัดเข้าไปเกือบแสนคนแล้ว

คนจำนวนนี้เป็นกำลังขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้มีวงจรชีวิตที่เป็นปกติในแต่ละวันโดยที่เรามองไม่เห็นรายละเอียดเหล่านี้ผุดโผล่ขึ้นมาเลย

ใครเล่าที่เป็นพนักงานทำงานในร้านอาหารใหญ่น้อยแถวทองหล่อ

ใครเป็นวินมอเตอร์ไซค์

ใครขับรถเมล์

ใครเป็นกระเป๋ารถเมล์ ฯลฯ

การดูแลชุมชนแออัดและประชากรในพื้นที่ดังกล่าวในทุกมิติ เราทำกันแบบ “ประชาสงเคราะห์” มานานปีแล้ว

วันนี้คงต้องย้อนถามกันบ้างแล้วว่า เกิดผลที่ยั่งยืนแท้จริงหรือไม่

มาดูกลุ่มคนงานก่อสร้างกันบ้าง ถ้าหูผมไม่ฝาดหรือเฝื่อน คนงานก่อสร้างซึ่งมีจำนวนเป็นแสนในกรุงเทพฯ ของเราเหมือนกัน

กว่าครึ่งค่อนเป็นผู้ที่มิได้มีสัญชาติไทย

เรายอมรับความจริงกันบ้างหรือไม่ครับว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตหลายอย่างในเมืองใหญ่ของเราเวลานี้ขับเคลื่อนด้วยแรงงานต่างชาติ

ท่าทีของรัฐและสังคมดูเหมือนจะลังเลและยังงงงวยกับเรื่องนี้อยู่มิใช่น้อย

กฎหมายเรื่องใบอนุญาตทำงาน กฎหมายเรื่องคนเข้าเมือง และกฎหมายอีกสารพัดที่เกี่ยวข้องใช้วิธีปะผุไปทีละเล็กทีละน้อย ใช่ประเด็นนี้หรือไม่ที่เป็นช่องทางให้มีคนทำมาหากินได้ลาภผลอันมิควรได้ชักค่าต๋งจากแรงงานต่างด้าว

โควิดมาชี้ช่องให้เห็นแล้วครับว่าเรื่องนี้เรายังละหลวมและไม่ได้มีนโยบายที่ตอบโจทย์ได้ตรงคำถาม

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ชวนให้วิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง คือเรื่องโควิดกับผู้ต้องขังในเรือนจำ

ในขณะที่เรือนจำของเรามีพื้นที่สำหรับดูแลคนประมาณ 100,000 คน แต่เรากลับบรรทุกทั้งผู้ต้องขังระหว่างและนักโทษเด็ดขาดเข้าไปไว้ในเรือนจำเป็นจำนวนถึงกว่า 300,000 คน

ผมผู้เป็นคนเก่าของกระทรวงยุติธรรมเพราะเคยรับราชการอยู่ในกระทรวงนั้นนานถึงเจ็ดปีนึกเห็นภาพทีเดียวครับว่า ความแออัดในเรือนจำกับโอกาสที่จะเกิดโรคระบาดแบบโควิดนั้นเป็นเพื่อนสนิทกันชิดกอดคอกลมเกลียวกันเลยทีเดียว

เมื่อเรื่องนี้มาถึงตัว น่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้มองเห็นปัญหาอีกหลายอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมในที่นั้น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนผู้ต้องขังที่มีมากเกินไปเมื่อเปรียบกับสถานที่ ประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขัง

ระบบการแยกผู้ต้องขังระหว่างคดีกับนักโทษเด็ดขาดซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่าจะปฏิบัติเหมือนกันไม่ได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วมีอะไรแตกต่างกันบ้างหรือ นอกจากสีของเสื้อผ้าและหมายเลขประจำแดน รั้วก็รั้วเดียวกันนั่นแหละ

 

หันมาดูภาพกว้างกว่านั้น

ช่องว่างทางฐานะด้านเศรษฐกิจที่ทุกคนก็รู้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า ช่องว่างระหว่างคนมีกับคนไม่มีในบ้านเรานั้นห่างกันเหลือเกิน เมื่อต้องเผชิญกับโรคโควิด ช่องว่างนั้นก็ยิ่งเห็นชัดมากขึ้น ระหว่างนี้เราอาจจะประคับประคองให้เดินผ่านภาวะวิกฤตไปได้แบบช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน ทำข้าวกล่องข้าวห่อไปแจก มีหน้ากาก มีน้ำดื่มพอแบ่งปันกันได้ก็นำไปส่งมอบให้กัน

แต่เคยนึกบ้างไหมครับว่า การช่วยเหลือกันแบบนี้เพียงพอหรือไม่ และเป็นระบบที่ยั่งยืนเพียงใด

ผมมีอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ และทุกวันนี้ก็ยังสอนหนังสืออยู่ อยากจะกระซิบดังๆ ว่าเด็กทุกคนไม่ได้พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์นะครับ

การลงทะเบียนอะไรต่อมิอะไรเพื่อ “ชิงโชค” เข้าถึงบริการของรัฐด้วยระบบออนไลน์ ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ห่างไกลความสามารถของคนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือและไม่มีสัญญาณ Wi-Fi

คำถามที่สำคัญยามนี้คือ ภาครัฐมีความสุขกับสถานการณ์อย่างนี้และพอใจพร้อมกับอิ่มใจว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว ใช่หรือไม่

เห็นไหมครับ โควิดทำให้เราได้เห็นอะไรดีๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

เมื่อประมาณสัปดาห์หนึ่งมาแล้ว มีข้าราชการจากกรมกรมหนึ่งโทรศัพท์มาปรึกษาหารือกับผมว่า มีความจำเป็นต้องประชุมคณะกรรมการที่ผมเป็นกรรมการอยู่ด้วย แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิดจึงจะของดประชุมและใช้มติเวียนได้หรือไม่ ผมก็ตอบไปตามความรู้ประสาผมว่าจะใช้มติเวียนไม่ได้หรอกครับ เพราะมติเวียนไม่ได้เกิดจากการประชุมจริง วันข้างหน้าอาจมีปัญหากฎหมายเกิดขึ้นได้ถ้ามีใครร้องทักท้วงขึ้น ขอให้ประชุมออนไลน์เถิด

คุณข้าราชการคนนั้นทำเสียงสุภาพนอบน้อมแล้วถามผมกลับมาว่า ประชุมออนไลน์ได้ด้วยหรือครับ

พ่อคุณ นี่พ่อไปอยู่ที่ไหนมาตั้งปีเศษ ถึงไม่ได้รู้เหนือรู้ใต้อะไรกับใครเขาเลยฮึ

ก่อนจบบทสนทนาในวันนี้ ลองกวาดสายตาไปให้เห็นภาพรวมของโลกไหมครับว่า โรคระบาดโควิดคราวนี้นอกจากทำให้เราเห็นอะไรต่อมิอะไรในแต่ละบ้านแต่ละประเทศชัดเจนขึ้นแล้ว ยังเป็นโอกาสให้เราได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลของแต่ละประเทศด้วย ว่าผู้นำของแต่ละประเทศมีวิสัยทัศน์และมีความสามารถในการบริหารจัดการเรื่องสำคัญถึงขนาดเป็นความเป็นความตายของคนในชาติครั้งนี้อย่างไร

พูดแค่นี้พอนะครับ

ยิ้มก็เห็นไรฟันแล้ว ฮา!