เอกชนรุมขอวัคซีนล็อตพิเศษ คำตอบสุดท้ายช่วยฟื้นธุรกิจ/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

เอกชนรุมขอวัคซีนล็อตพิเศษ

คำตอบสุดท้ายช่วยฟื้นธุรกิจ

 

จากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่าวันละ 2,500-3,000 ราย ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงเฉลี่ยวันละ 25-30 ราย ต่อเนื่องมา 3-4 สัปดาห์ และยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายลงในเร็ววัน อีกด้านหนึ่งก็พบว่า จำนวนผู้ป่วยสะสมนั้นเลยแสนรายไปแล้ว

อาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความต้องการฉีดวัคซีนมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากก่อนหน้านี้คนจำนวนหนึ่งอาจจะมีความกังวลเรื่องของผลข้างเคียงจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น และรัฐบาลต้องออกโรงมารณรงค์การฉีดเป็นระยะๆ

ความตื่นตัวและมีความต้องการการฉีดวัคซีนที่มีมากขึ้น อาจสะท้อนจากตัวเลขลงทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ที่ขณะนี้มีมากกว่า 7 ล้านคน

ขณะที่การสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนของกระทรวงแรงงาน ไปยังกลุ่มผู้ประกันตน และมีการตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 6.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 60.36% ของผู้ประกันตนราวๆ 11 ล้านคน เบื้องต้นพบว่ามีผู้ประกันตนแจ้งความต้องการฉีดวัคซีนรวม 5.1 ล้านคน คิดเป็น 77.77%

โดยพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุดถึง 2 ล้านคน จากจำนวนผู้ประกันตนรวม 3.7 ล้านคน

สอดคล้องกับผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ ที่ระบุว่า ขณะนี้ประชาชนมีความตื่นตัวและมีความต้องการการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก ทั้งกรณีของวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ และวัคซีนทางเลือก โดยได้มีการโทรศัพท์เข้าไปติดต่อสอบถามเรื่องการฉีดวัคซีน

รวมถึงหลายคนได้มีการแสดงความจำนงที่จะจองวัคซีนทางเลือกในกรณีที่หากโรงพยาบาลได้มีการนำเข้ามา

 

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการหาและขอจัดสรรโควต้าวัคซีนเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ

เริ่มจากนายกสมาคมภัตตาคารไทย ที่นำโดย “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคม ที่ระบุว่า จากการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ล่าสุด บุคลากรในธุรกิจร้านอาหารแสดงความจำนงขอฉีดวัคซีนเข้ามาเป็นกว่า 1 แสนราย จากเดิมที่ผ่านมาสมาคมได้ยื่นขอโควต้าวัคซีนเพื่อฉีดให้พนักงานร้านอาหาร รวมประมาณ 7 หมื่นราย หรือ 1.4 แสนโดส (เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ)

สมาคมจึงได้เร่งส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอโควต้าวัคซีนสำหรับบุคคลกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดและฟื้นธุรกิจให้กลับมา ส่วนของธุรกิจร้านอาหารในต่างจังหวัด ผู้ประกอบการก็ได้รวมตัวกันเพื่อไปขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่เช่นกัน

เช่นเดียวกับ “ปริญญา ธรรมวัฒนะ” นายกสมาคมตลาดสดไทย กล่าวว่า เพื่อลดปัญหาผลกระทบจากการปิดตลาด สมาคมตลาดสดไทยมีความต้องการวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับผู้ค้า ผู้ช่วยค้าในตลาดที่มีเกือบ 2,000 แห่งทั่วประเทศ โดยขอให้รัฐเร่งพิจารณา เพราะประเมินว่าสถานการณ์ในขณะนี้ มาตรการด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะป้องกันการระบาดได้ นอกจากวัคซีน

รวมทั้งความเคลื่อนไหวของบริษัท เอไอเอ จำกัด ที่ได้แสดงความจำนงไปยังโรงพยาบาลเมดพาร์ค ในการขอให้ช่วยจัดหาและดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน รวมถึงฝ่ายขาย และครอบครัวตรง ทั้งหมด 10,000 คน

นี่ยังไม่นับรวมถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทเอกชนหลายๆ แห่งที่วางแผนหาแหล่งวัคซีนทางเลือกจากโรงพยาบาลในกรณีที่หากสามารถนำเข้าได้ เพื่อให้พนักงานได้รับวัคซีนครบอย่างทั่วถึงและเร็วที่สุด นอกเหนือจากการให้พนักงานทุกคนลงทะเบียนจองสิทธิฉีควัคซีนโควิดของรัฐบาล

 

ขณะที่บริษัทและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลายแห่งก็พยามดิ้นและต้องออกแรงหาวัคซีนกันอย่างหวังผล โดยได้เร่งประชุมหารือกับจังหวัด และมีการติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรวัคซีนทั้งในจังหวัดระยองและส่วนกลาง เพื่อขอโควต้าวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

หลังจากที่ผ่านมาได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนมาระยะหนึ่ง ทั้งในเรื่องของสถานที่ฉีดที่เตรียมไว้ 2 แห่ง รวมทั้งมีการเตรียมแพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาลเอกชนเพื่อรองรับดูแลการฉีด แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่

ผู้บริหารโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บอกว่า “ที่ผ่านมา แม้สำนักงานประกันสังคมจะได้มีการสำรวจความต้องการมายังบริษัท หรือโรงงานต่างๆ แล้ว แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าโรงงานแต่ละแห่งจะได้โควต้ามากน้อยเพียงใด และโรงงานแต่ละแห่งจะได้รับการฉีดเมื่อไหร่ หลังจากที่มีการสำรวจความต้องการแล้วก็จะต้องส่งเรื่องไปขออนุมัติ จากนั้นก็จะนำยอดไปจองโควต้าวัคซีน ซึ่งค่อนข้างล่าช้ามาก จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ในนิคมจะมีวัคซีนมาเมื่อไหร่ และได้รับการจัดสรรโควต้ามากน้อยแค่ไหน”

“ในแง่ของธุรกิจเรารอไม่ได้ หยุดไม่ได้ จึงต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้พนักงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากมีพนักงานติดโควิดและมีการระบาดในหมู่พนักงาน จะส่งผลกระทบตามมาหลายอย่าง รวมถึงซัพพลายเชนต่างๆ ที่อยู่ในระบบ”

 

นอกจากความล่าช้าของระบบ ขั้นตอน รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่ชัดเจน จำนวนวัคซีนที่มีจำกัดและไม่เพียงพอกับความต้องการที่แท้จริง เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เอกชนต้องพยายามดิ้นทุกวิถีทางที่จะหาวัคซีนมาซัพพอร์ตธุรกิจของตัวเอง

จากตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีจำนวนการสะสม (28 กุมภาพันธ์-19 พฤษภาคม) ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม มีรวมทั้งสิ้น 2,340,995 โดส โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ 2 เข็ม จำนวน 819,961 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,521,034 ราย

จากจำนวนวัคซีนที่รัฐบาลจัดสรรไปแล้วรวม 2,558,058 โดส (ซิโนแวค 2,442,278 โดส และแอสตร้าเซนเนก้า 115,780 โดส)

…ตัวเลขนี้อาจจะสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งว่า วันนี้คนไทยได้รับวัคซีนเป็นจำนวนที่น้อย และปริมาณวัคซีนยังมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศที่มีราว 66-67 ล้านคน

จากนี้ต้องรอความหวังจากวัคซีนที่จะทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้น เฉพาะเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะมีเข้ามาประมาณ 4.2 ล้านโดส

ถัดจากนั้น ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงธันวาคม ประเทศไทยจะมีวัคซีนล็อตใหญ่ทยอยเข้าเฉลี่ยเดือนละประมาณ 10 ล้านโดส หรือเบ็ดเสร็จร่วมๆ 61-62 ล้านโดส

นี่คือความหวังที่หลายๆ ฝ่ายรอคอย