แนวต้าน การเมือง ต่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขยายตัว เติบใหญ่/กรองกระแส

กรองกระแส

 

แนวต้าน การเมือง

ต่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขยายตัว เติบใหญ่

 

ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์จาก “เยาวชนปลดแอก” ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน” ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มประชาชนไทย” สะท้อนเป้าหมายพื้นฐาน “ร่วม” ตรงกัน

นั่นก็คือ สิ้นหวังต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้ในรายละเอียดของความสิ้นหวังจะแตกต่างกัน แต่ลักษณะ “ร่วม” เป็นอย่างยิ่งก็คือ เป็นความสิ้นหวังที่เห็นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ปี

1 ความสิ้นหวังความสามารถ 1 ความสิ้นหวังในจริยธรรม

ความสามารถในที่นี้มิได้จำกัดเพียงความสามารถในการ “บริหาร” การเมือง หากเป็นความสามารถในการบริหารทางด้าน “เศรษฐกิจ”

ยิ่งเมื่อพื้นฐานยังขาดคุณธรรมและจริยธรรม ยิ่งทำให้เกิดความสิ้นหวัง หมดศรัทธา

กระหึ่มแห่งเสียงร้องตะโกน “ออกไป ออกไป” จึงดังขึ้นกึกก้อง และดังกึกก้องมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะเมื่อต้องประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด

เพียงแต่ไม่รู้ว่า “ช่องทาง” การขับเคลื่อน “การเมือง” จะดำเนินไปอย่างไร

 

หากมองจากด้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมากด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่า ไม่มีพลังใดในทางการเมืองจะสามารถเอาชนะกลุ่มของตนได้อย่างเด็ดขาด

ไม่ว่าการเมืองในรัฐสภา ไม่ว่าการเมืองนอกรัฐสภา

การเมืองในรัฐสภา หากนับจากจำนวน ส.ส.ที่มีระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล กับพรรคฝ่ายค้าน ก็มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

ฝ่ายค้านไม่สามารถเอาชนะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เลย

ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับ 250 ส.ว.อันมาจากอำนาจในการแต่งตั้งโดยรัฐธรรมนูญ ยิ่งเป็นหลักประกันการดำรงอยู่แห่งอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหนักแน่น มั่นคง

พรรคร่วมฝ่ายค้านทำได้อย่างมากที่สุดเพียงการวิพากษ์วิจารณ์

แม้จะพยายามสามัคคีกับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ผลก็คือ การเคลื่อนไหว “นอก” รัฐสภาเริ่มเติบใหญ่ ขยายตัว

 

ต้องยอมรับว่า การปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” ในเดือนกรกฎาคม ตามมาด้วยการปรากฏขึ้นของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ในเดือนสิงหาคม

คือการเคลื่อนไหวอันทรงความหมายในทางการเมือง

ผลก็คือ ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน กระทั่งสามารถยกระดับขึ้นเป็น “คณะราษฎร 2563”

เป็นการเคลื่อนไหวทั้งใน “ส่วนกลาง” และใน “ส่วนภูมิภาค” อันคึกคัก

แม้พวกเขาจะประสบเข้ากับมาตรการทางกฎหมายอันเข้มข้นจากรัฐบาลทำให้เกิดการสะดุดลงไปในระยะหลัง แต่ “คบเพลิง” ที่คนรุ่นใหม่ได้จุดขึ้นก็ส่องสว่างกว้างขวาง

ก่อให้เกิด “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน” ก่อให้เกิด “กลุ่มประชาชนไทย”

เป็นการรวมตัวของคนที่เคยเคลื่อนไหวจากเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นการรวมตัวของคนที่เคยเลื่อนไหวก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

มีเป้าหมายต้องการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ด้านหนึ่ง การเคลื่อนไหวไม่ว่าของเยาวชน ไม่ว่าของประชาชน จะต้องประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้เคลื่อนไหวได้ยากลำบาก

ประกอบกับรัฐบาลใช้กรณีโควิดมาสกัดขัดขวางการเคลื่อนไหวของประชาชน

แต่ยิ่งอยู่นาน ยิ่งทำให้โฉมหน้าที่เป็นจริงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกเปลือยออกมาอย่างล่อนจ้อน ทั้งในด้านความสามารถ ทั้งในด้านจริยธรรม คุณธรรม

นำไปสู่ความต้องการร่วมในการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขยายตัวกว้างขวาง