กรองกระแส/บารมี การเมือง ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังม่านน้ำตา

กรองกระแส

บารมี การเมือง ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังม่านน้ำตา

หยาดน้ำตาอัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลั่งออกมาระหว่างการแถลงข่าวบนยอดภูเขาทอง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน กำลังสำแดงพลานุภาพ

เป็นพลานุภาพอันเห็นได้จากความต่อเนื่อง

ในวันแรกอาจถูกเยาะเย้ย หยามหยัน จากปรปักษ์ทางการเมือง อย่างดุเดือด รุนแรง ลงความเห็นว่าเป็นการสร้างภาพ เรียกร้องความสนใจ

เป้าหมายก็เพื่อลดค่า ทอนความหมาย

แต่ผลอันตามมาอย่างฉับพลันคือ การมีมวลชนเดินทางไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงบ้านพักซอยโยธินพัฒนา 3 เขตบางกะปิ

ครั้งแรกอาจไม่มากนัก แต่ครั้งหลังมากถึง 500 คน

การออกมาแสดงความรู้สึกและอัดอั้นตันใจกระทั่งหลั่งน้ำตาต่อสาธารณะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกเป็นฝ่ายกระทำหนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง

แต่คำถามก็คือ ความเหลืออดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงออกมาเนื่องในวาระปีที่ 50 จะมีผลอะไรในทางการเมืองหรือไม่

ปฏิบัติการ รุกไล่

เป็นเรื่องการเมือง

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็เช่นเดียวกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คือ ต้องมีเป้าหมายในทางการเมือง

เมื่อเดือนกันยายน 2549 คือ นายทักษิณ ชินวัตร

ในเดือนพฤษภาคม 2557 อาจยังมี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นเป้าหมายอยู่ แต่ก็เพิ่ม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาด้วย

เพราะถ้าหากไม่กระทำรัฐประหารก็จะขาดความชอบธรรม

ประเมินว่า ที่ทาง คสช. รุกไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างต่อเนื่อง ต้องการให้ผลเป็นอย่างเดียวกับ นายทักษิณ ชินวัตร

นั่นก็คือ ออกนอกประเทศ

หากในที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เลือกเดินแนวทางเดียวกับ นายทักษิณ ชินวัตร นั่นหมายความว่าบทบาททางการเมืองก็จะเป็นเช่นเดียวกับนายทักษิณ ชินวัตร คือจะต้องห่างและร้างลาไปจากเวทีที่เป็นจริงเป็นลำดับ

บังเอิญที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เลือกแนวทางแตกต่างไปจากของ นายทักษิณ ชินวัตร คือพร้อมเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ ไม่ยอมหนีออกนอกประเทศ

การต่อสู้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นี้เองที่เป็นประเด็น

บารมี การเมือง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เมื่อแรกที่เข้าสู่การเมืองในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจเป็นละอ่อนอย่างยิ่ง

เห็นได้จากการเผชิญมหาอุทกภัย

ขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกต้อนรับน้องใหม่ในทางการเมืองอย่างรุนแรงเหี้ยมเกรียมจากฝ่ายตรงกันข้าม ทั้งเรื่องส่วนตัวและการงาน

รุนแรงที่สุดคือ การก่อม็อบขับไล่และลงเอยด้วย “รัฐประหาร”

สภาพที่ถูกต่อต้าน สภาพที่ถูกหมิ่นหยามเยาะเย้ยนั่นเอง กลับสร้างความแข็งแกร่งให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ส่งผลให้คะแนนนิยมต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สูงเด่นเป็นลำดับ

ปริมาณการกดไลก์ที่ทะยานจาก 4,000,000 ในเบื้องต้น ไปสู่ 5,000,000 และ 6,000,000 ภายในเวลา 3 ปีหลังรัฐประหารคือรูปธรรมอันเด่นชัด

ทาง 1 เธอถูกรุกไล่ ขณะเดียวกัน ทาง 1 เธอไม่หนี

กระบวนการต่อสู้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมือนกับเป็นการยอมจำนน ศิโรราบ แต่ภายในการยอมจำนนนั้นเองกลับก่อรูปเป็นพลังอย่างที่เรียกกันในทางรัฐศาสตร์ว่า ซอฟต์ เพาเวอร์ เป็นพลังอ่อน พลังแห่งความนุ่มนวล

เหมือนที่กำลังแสดงออกนับแต่ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนเป็นต้นมา

อนาคต การเมือง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถมีตำแหน่งหรือบทบาทใดภายในพรรคเพื่อไทยโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

แต่นั่นมิได้หมายความว่าจะไม่มี “บารมี”

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นั้นเองที่สร้างสถานะในทางการเมืองให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทำให้มีความโดดเด่นไม่แพ้ นายทักษิณ ชินวัตร

ไม่ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นามของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะอยู่เรียงเคียงข้างกับนามของ นายทักษิณ ชินวัตร อย่างโดดเด่น