จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ดำดี (1) / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

ดำดี (1)

 

‘ฟันดำ’ สัมพันธ์กับ ‘การกินหมาก’ อย่างที่ทราบกันว่า ‘กินหมาก’ คือเคี้ยวหมากในปากโดยไม่ต้องกลืน ไม่ได้เคี้ยวแค่หมาก มีปูนและพลูด้วย

กาญจนาคพันธุ์เล่าถึงวิธีกินหมากไว้ในหนังสือเรื่อง “เด็กคลองบางหลวง” ว่า

“…ก่อนกินหมากมักเอาขี้ผึ้งสีปาก ป้องกันไม่ให้น้ำหมากเปรอะปากมาก ในเต้าปูนมีไม้เป็นรูปพายเล็กๆ ปักอยู่ (เป็นโลหะก็มี) เอาไม้ควักปูนในเต้าออกมาทาใบพลู แล้วม้วนกินกับหมาก เคี้ยวอมอยู่นานๆ เมื่อมีน้ำหมากในปากก็บ้วนลงกระโถน

บางคนก็กินกานพลูบ้าง การบูรบ้าง เคี้ยวกินไปสักครู่รู้สึกว่าน้ำหมากจับปากก็เปิดตลับเอายาจืดหรือยาฉุนมาม้วนๆ เป็นก้อน เช็ดริมฝีปากแล้วจุกหรือเหน็บไว้ที่ริมฝีปากล่างข้างใดข้างหนึ่งจนนูนตุ่ยๆ ขึ้นมาเล็กน้อย แปลว่าเก็บไว้เช็ดปากใหม่จนกว่าหมากในปากจะจืดก็คายลงกระโถน หมดแล้วเริ่มกินใหม่อย่างเดิมต่อไปอีก

นานๆ ก็หยิบผ้าเช็ดปากที่ก้นกระบะ (เชี่ยนหมาก) มาเช็ดปากเสียที…”

 

“จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับสันต์ ท.โกมลบุตร แปล) บันทึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของหมากและพลูว่า

“โดยที่น้ำหมากกับพลูที่บ้วนออกมานั้นเป็นสีแดง แม้จะไม่นับปูนแดงที่บ้วนรวมไปด้วย จึงทิ้งคราบสีแดงเข้มไว้ที่ริมปากและไรฟัน”

ฉะนั้น ใครที่เพิ่งกินหมากได้ไม่กี่ปี กินแต่น้อย นานๆ กินที ริมฝีปากและไรฟันก็จะมีสภาพดังที่ ‘กาญจนาคพันธุ์’ เล่าไว้ในหนังสือเรื่อง “เด็กคลองบางหลวง” ว่า

“…หญิงสาวบางคนพอรุ่นสาว บางคนก็กินน้อย นานๆ กินพอให้ปากเป็นสีชมพู…” ไม่ต่างกับบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายถึงเจ้าชายหนุ่มน้อยนาม ‘วิหยาสะกำ’ ว่า

“ทนต์แดงดังแสงทับทิม                           เพริศพริ้มเพรารับกับขนง”

“จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ฯ” มีข้อความว่า คราบสีแดงเข้มรอบริมฝีปากและไรฟันอันเป็นผลจากกินหมากนั้น

“ที่ริมปากอาจเช็ดลอกออกได้ แต่ที่ฟันนั้นคราบน้ำหมากจะค่อยจับกรังหนาขึ้นทีละเล็กละน้อยจนกลายเป็นสีดำ”

แสดงว่าที่ฟันดำน่าจะเป็นผลมาจากการกินหมากเป็นประจำอย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

คนไทยสมัยก่อนนิยมกันว่า ‘ฟันดำ’ คือฟันงาม แฟชั่นฟันดำมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5) ชาวต่างประเทศหลายคนบันทึกเกี่ยวกับความนิยมนี้ไว้ตรงกัน ดังจะเห็นได้จากสังฆราชปาลเลกัวซ์ ชาวฝรั่งเศส เขียนหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ฉบับสันต์ ท.โกมลบุตร แปล) ตอนหนึ่งบันทึกว่า

“ธรรมเนียมการกินหมากหรือเคี้ยวหมากนี้ทำให้ฟันดำ ซึ่งในประเทศนี้ถือว่าเป็นความงามอย่างหนึ่ง…ทุกคนทำให้ฟันดำเพราะถือกันว่าเป็นความงามประการที่สำคัญ…”

บางตอนของหนังสือ “สยามและลาวในสายตามิชชันนารีชาวอเมริกัน” (กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2557) บันทึกวิถีชีวิตคนไทยช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ถึงครึ่งแรกของรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ดังนี้

“พวกเขาคิดว่าริมฝีปากสีแดงและฟันสีดำที่เกิดจากกินหมากนั้นสวยงามมาก” ซึ่งไม่ต่างกับที่บันทึกไว้ในหนังสือ “ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ” (ฉบับนางสาวศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์ แปล กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ.2537)

“ผู้ที่เคี้ยวหมากติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีผลทำให้ฟันกลายเป็นสีดำ และครั้งหนึ่งลักษณะดังกล่าวได้กลายเป็นความนิยมในหมู่ผู้คน ผู้หญิงสยามนอกจากจะภาคภูมิใจกับการที่มีฟันสีดำแล้วยังจะต้องรักษาให้เป็นเงาวาวด้วย”

 

ที่ตัวละครในวรรณคดีมีฟันดำเป็นประกายก็เพราะกินหมากและใช้ ‘ชี่’ หรือ ‘ซี่’ หรือ ‘สี้’ สีฟันหรือถูฟันให้ดำเป็นมันนั่นเอง

อย่างใน “เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” ตอนที่นางพิมพิลาไลยเตรียมตัวไปทำบุญในงานเทศน์มหาชาติ หลังจากอาบน้ำ ทาผิวด้วยขมิ้นและแป้งเรียบร้อยแล้ว นางก็เสริมสวยฟันด้วยการที่

“เอาชี่สีฟันเป็นมันขลับ                               กระจกส่องเงาวับดูจับแสง”

เช่นเดียวกับที่กวีบรรยายถึงนางกำนัลเมืองลังกาในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ว่า

“แล้วปิดห้องหับให้ลับลี้                              แล้วสีชี่ให้ฟันเป็นมันขลับ”

บางครั้งในวรรณคดีเรื่องเดียวกันก็ใช้คำว่า ‘ยาฟัน’ แทน ‘ชี่’

“แป้งปรัดผัดนวลถ้วนแฉล้ม                         ยาฟันแต้มติดฟันเป็นมันขลับ”

ส่วนในเรื่อง “สิงหไกรภพ” สนมนางในเสริมสวยสุดฝีมือด้วย ‘ชี่ยาฟัน’ บอกให้รู้ว่า ‘ชี่’ และ ‘ยาฟัน’ คือสิ่งเดียวกัน

“บ้างสีชี่ยาฟันเป็นมันขลับ                          ฝนหมึกจับต่างเขม่าหวีเผ้าผม”

น่าสังเกตว่ากวีพูดถึงฟันเมื่อใด มีคำว่า ‘ดำขลับ’ เมื่อนั้น เนื่องจาก ‘ชี่’ หรือ ‘ยาฟัน’ ที่ว่านี้ช่วยเคลือบฟันให้ดำเป็นมันวาวตามต้องการ

 

มาถึงตรงนี้คงสงสัยว่า ‘ชี่’ หรือ ‘ยาฟัน’ คืออะไร เสฐียรโกเศศหรือพระยาอนุมานราชธน อธิบายถึงวิธีการทำ ‘ชี่’ หรือ ‘ซี่’ หรือ ‘สี้’ หรือ ‘ยาฟัน’ ไว้ในหนังสือ “ค่าของวรรณคดี” ว่า

“ซี่นั้นเป็นของสำหรับเคลือบฟันให้ดำในสมัยที่นิยมฟันดำอย่างนิลเป็นฟันงาม วิธีทำเอากะลาทุบเป็นชิ้นๆ ติดไฟให้ลุกแล้วเอาใส่ในหลุม เอาเศษเหล็ก เช่น ผาลไถนาทับกะลากำลังลุก แล้วเอาผ้าชุบน้ำคลุมสักครู่ จึงเอาเหล็กขึ้นมา จะมีเป็นยางดำติดที่เหล็ก”

“จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ฯ” เล่าถึงการใช้ชี่ทำให้ฟันดำ แต่มิได้ใช้คำว่า ‘ชี่-ซี่-สี้-ยาฟัน’ อย่างในวรรณคดีแต่อย่างใด

“การย้อมฟันให้ดำนั้น เขาใช้ซีกมะนาวที่มีรสเปรี้ยวจัดอมไว้ในกระพุ้งแก้มและที่หน้าฟันราวหนึ่งชั่วโมงหรือนานกว่านั้น กล่าวกันว่าเพื่อทำให้ฟันน่วม ครั้นแล้วก็ใช้น้ำยางชนิดหนึ่งซึ่งทำจากรากไม้ลางชนิด หรือจาก (กะลา) มะพร้าวเผาไฟ ถูฟันไปเป็นเสร็จพิธี…ชาวสยามเอาใจใส่รักษาฟันมาก แม้จะได้ย้อมให้ดำไว้แล้วก็ตาม…”

‘การใช้ชี่-ซี่-สี้-ยาฟัน’ ทาที่ฟันมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ดังที่เสฐียรโกเศศให้รายละเอียดว่า

“เอายางนี้กำลังร้อนอุ่นๆ พอทน ป้ายทาฟันทันที ทิ้งไว้ช้าจะแห้ง ทาไม่ติด ฟันที่เคลือบด้วยซี่แล้วจะติดแน่น แต่ทิ้งไว้หลายวันก็หลุดลอกได้”

รู้กรรมวิธีเสริมสวยแล้ว ควรยกย่องความอึดของสาวไทยสมัยก่อนที่กว่าจะสวยสมใจ ต้องทนร้อนเหงือกร้อนฟันร้อนปาก ดีที่เห็นผลทันใจไม่ต้องรอ เพราะการทาชี่-ซี่-สี้ หรือยาฟันนั้นต้องแข่งกับเวลา ทำทันทีรีรอไม่ได้

 

อย่างไรก็ดี ความไม่คงทนของ ‘ซี่’ ที่ใช้ทา-เคลือบ-ย้อมฟัน บันทึกไว้ใน “จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ฯ” ตอนหนึ่งว่า

“การย้อมฟันนี้จะต้องย้อมซ่อมกันเป็นครั้งคราวเพื่อให้เกิดประสิทธิผลคงทน เพราะเคลือบสีดำนี้ไม่จับฟันเหนียวแน่นนัก เพียงแต่ใช้เปลือกขนมปังสดปิ้งไฟป่นเป็นผงถูก็ล่อนออกเสียแล้ว”

ด้วยเหตุนี้วิธีใช้ซี่และวิธีทำจึงสัมพันธ์กับความสม่ำเสมอโดยตรง ดังที่เสฐียรโกเศศเล่าไว้ใน “ค่าของวรรณคดี” ว่า

“เพราะฉะนั้น ต้องทำซี่ไว้ทากันทุกวัน เหล็กเก่าที่มีซี่ติดเหลืออยู่ ถ้าใช้เอาเข้าไฟซ้ำจะได้ซี่มากและเร็วเข้า ดีกว่าใช้เหล็กที่ไม่เคยใช้ทำซี่”

ชี่-ซี่-สี้-ยาฟัน สารพันวิธีทำ ทำอย่างไร? ติดตามฉบับหน้า