ปฐมบทการยุบพรรคการเมืองไทย : ‘สมาคมคณะราษฎร’ พรรคเสรีนิยมแรกที่ถูกยุบพรรค

ณัฐพล ใจจริง

“ข้าพเจ้าจึ่งเห็นว่า ในเวลานี้อย่าให้มีสมาคมการเมืองเลยจะดีกว่า…”

(แถลงการณ์เรื่องพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ, 2478, 156)

 

สมาคมคณะราษฎรเหมือนพรรควิก

การยุบพรรคการเมืองครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 ไม่นาน

ด้วยเหตุที่คณะราษฎรจัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” มีหน้าที่คล้ายพรรคการเมืองขึ้นเพื่อระดมประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและร่วมพิทักษ์ระบอบใหม่ขึ้นสำเร็จ

แต่การจัดพรรคการเมืองของคณะราษฎรนั้นสร้างความหวาดระแวงให้กลุ่มอนุรักษนิยม

พวกเขาจึงพยายามจัดตั้ง “สมาคมคณะชาติ” ขึ้น แต่สุดท้าย สมาคมคณะราษฎรที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไปแล้วกลับต้องถูกยุบพรรค

ด้วยเหตุผลที่ว่า “ด้วยประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจวิธีการปกครอง… เมื่อเกิดมีคณะการเมืองขึ้นแข่งขันกัน…อาจเป็นชนวนให้เกิดวิวาทบาดหมางกันขึ้นได้อย่างรุนแรง จนถึงเป็นภัยแห่งความสงบสุขของประเทศ…”

พระยาพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์

การจัดตั้งสมาคมคณะราษฎรครั้งนั้น ประกอบด้วย พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ เป็นนายกสมาคมคณะราษฎร นายประยูร ภมรมนตรี เป็นอุปนายก สงวน ตุลารักษ์ เป็นเหรัญญิก เป็นต้น

โดยพระยานิติศาสตร์ฯ หัวหน้าพรรคคณะราษฎรนั้น ภูมิหลังของเขาจบเนติบัณฑิตอังกฤษ ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลครั้งระบอบเก่า และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในระบอบใหม่เข้ารับตำแหน่งเป็นหัวเรือใหญ่ของพรรคการเมืองที่ยึดหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นนโยบายพรรค

นายประยูร ภมรมนตรี

หัวหน้าพรรคคนแรกเคยเขียนบทความเทียบเคียงพรรคการเมืองไทยกับต่างประเทศ เขาให้ความหมายพรรคการเมือง คือ

“(1) รวบรวมเข้าเป็นคณะหรือสมาคม มีองค์กรอย่างถาวรขึ้น โดยมีแนวคิดร่วมกันในทางลัทธิเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมือง ทางศาสนา หรือทางอื่นใดในทำนองนั้น (2) มีจุดประสงค์จะอำนวยการปกครองประเทศตามแนวความคิดเห็นตามข้อ (1) นั้น (3) เพียรพยายามเข้าเป็นรัฐบาลตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์ในข้อ (2) “(พระยานิติศาสตร์ไพศาล, 2510, 52)

เขายกตัวอย่างการต่อสู้ของพรรคตามระบบอังกฤษในช่วงแรกๆ ว่า เป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคทอรี (Tory Party) กับพรรควิก (Whig Party)

ต่อมาพรรคทอรีกลายเป็นพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งเขาแปลความหมายว่า คือ “พรรคดำรงรักษา” นโยบายคือไม่นิยมการเปลี่ยนแปลง ด้วยเห็นว่า สิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมแล้วดีกว่าความเปลี่ยนแปลงที่คาดการณ์ไม่ได้

ในขณะที่พรรควิกหรือพรรคเสรีนิยมนั้น นโยบายสำคัญคือ นิยมการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสภาวะใหม่หรือการปฏิรูปนั้นย่อมดีกว่าความไม่เปลี่ยนแปลง

พระยานิติศาสตร์ฯ เห็นว่ากิจกรรมและเป้าหมายของพรรคการเมืองมีความสำคัญต่อประชาชนว่า “การรวบรวมกันตั้งเป็นคณะพรรคการเมืองขึ้นนั้น มิได้มีความประสงค์อื่นใด นอกจากอุดมคติในปั้นปลายที่จะอำนวยการปกครองประเทศไปในที่ตนมีความคิดเห็นร่วมกันว่า เป็นประโยชน์ยิ่งแก่ประเทศชาติ รวมตลอดจนถึงประชากรส่วนรวมของประเทศด้วย”

เมื่อพรรคคณะราษฎรถูกจัดตั้งขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคม 2475 สามารถรวบรวมสมาชิกหลายหมื่นคน นับตั้งแต่ประชาชน พ่อค้าและข้าราชการนั้น สมาชิกพรรคแรกเริ่มคนหนึ่งเล่าถึงบรรยากาศของกิจกรรมทางการเมืองของพรรคคณะราษฎรในสมัยแรกเริ่มประชาธิปไตยไทยว่า สมาคมมีสำนักงานตั้งที่สวนสราญรมย์

“มีสมาชิกเป็นจำนวนหมื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลชั้นยอดของคณะปฏิวัติหรือคณะราษฎร ผู้มีอำนาจในเวลานั้น เป็นสมาชิกและเข้าร่วมอุปถัมภ์อยู่มากมาย ที่น่าสรรเสริญความเป็นนักประชาธิปไตยของบุคคลเหล่านี้ก็คือ ท่านให้ความสนิทสนมกับสมาชิกทุกคนอย่างเป็นกันเอง” (จรูญ เสตะรุฐิ, 2507, 55)

จากนั้นมีการขยายสาขาสมาคมคณะราษฎรไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ กิจกรรมการเมืองเหล่านี้ย่อมสร้างความหวาดวิตกให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมเป็นอันมาก

สมาชิกพรรคต่างมีความสำนึกทางการเมืองและเข้าใจนโยบายของพรรค ดังความทรงจำของสมาชิกพรรคในยุคเริ่มบันทึกว่า สมาชิก “พยายามแนะนำให้ประชาชนชาวไทยเข้าถึงการปกครองระบอบระชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ตามประกาศของคณะราษฎร โดยมีหลักหกประการเป็นนโยบาย” (จรูญ, 55)

สมาคมคณะราษฎร สาขาสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วยข้าราชการ ทนายความและพ่อค้า เครดิตภาพ ปรัชญากร ละครพล

ความหวาดระแวง
ของกลุ่มอนุรักษนิยม

ในสายตาของกลุ่มอนุรักษนิยมนั้นมองว่า การเกิดขึ้นของสมาคมคณะราษฎรจะสร้างอุปสรรคให้กับเส้นทางการเมืองของพวกตน อีกทั้งมีการจัดตั้งสาขาสมาคมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ นอกจากนี้ สมาคมยังเปิดรับสมาชิกอย่างกว้างขวางอีกด้วย (ธำรงศักดิ์, 215-216)

ด้วยเหตุนี้ ต่อมากลุ่มอนุรักษนิยมจึงพยายามจัดตั้งสมาคมการเมืองขึ้นเช่นกัน หลวงวิจิตรวาทการ เลขาธิการคณะชาติ ได้เข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎร พร้อมชี้แจงถึงการจัดตั้งสมาคมคณะชาติ

นายปรีดีแจ้งว่า ไม่ขัดข้อง และในที่ประชุมคณะราษฎรตกลงยินยอมให้คณะชาติจัดตั้งขึ้นได้ (ธำรงศักดิ์, 275)

จากนั้น กลุ่มอนุรักษนิยมจึงขอจัดตั้งสมาคมคณะชาติขึ้นช่วงสมัยรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จนเป็นเหตุนำไปสู่การหาทางยุบสมาคมคณะราษฎรลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชหัตถเลขาถึงนายกรัฐมนตรีวันที่ 31 มกราคม 2476 ความว่า

“…สำหรับประเทศสยามซึ่งพึ่งจะมีรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ยังหาถึงเวลาสมควรที่จะมีคณะการเมืองเช่นเขาไม่ ด้วยประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเสียเลย เมื่อเกิดมีคณะการเมืองขึ้นแข่งขันกันเช่นนี้ ก็จะเข้าใจผิดไปว่าเป็นการตั้งหมู่ตั้งคณะ สำหรับเป็นปรปักษ์หักล้างอำนาจซึ่งกันและกัน ผลที่สุดอาจเป็นชนวนให้เกิดวิวาทบาดหมางกันขึ้นได้อย่างรุนแรง จนถึงเป็นภัยแห่งความสงบสุขของประเทศ หรืออย่างน้อยก็จะทำให้เกิดความหวาดหวั่นในหมู่อาณาประชาราษฎร์ อันเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง

คณะการเมืองจะทำประโยชน์จริงให้กับประชาชนได้ ก็เมื่อประชาชนมีความเข้าใจในวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าในเวลานี้อย่าให้มีสมาคมการเมืองเลยจะดีกว่า แต่โดยเหตุที่บัดนี้ รัฐบาลได้ยอมอนุญาตให้สมาคมคณะราษฎรเสียแล้ว จึงเป็นการยากที่จะกีดกันห้ามหวงมิให้มีคณะเมืองขึ้นอีกคณะหนึ่งหรือหลายคณะได้ อย่างดีที่สุด ข้าพเจ้าเห็นว่า สมควรที่จะเลิกสมาคมคณะราษฎรและคณะอื่นทีเดียว…” (แถลงการณ์ฯ, 155-156)

มีความเป็นไปได้ว่า จากพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ พระยามโนปกรณ์ฯ ใช้โน้มน้าวในคณะรัฐมนตรี ให้ลงมติสนับสนุนฝ่ายตน ด้วยการห้ามข้าราชการสมัครเป็นสมาชิกสมาคมคณะราษฎรและผู้ที่เป็นสมาชิกแล้วให้ลาออกจากสมาชิกภาพ อันเป็นการทำลายฐานทางการเมืองของสมาคมคณะราษฎรในที่สุด (ธำรงศักดิ์ ,276)

ตัวอย่างเหรียญสมาคมคณะราษฎร ที่แจกจ่ายแก่สมาชิกสาขาชลบุรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2476 (นับอย่างใหม่) เครดิตภาพ v-pra.com

ในขณะที่หัวหน้าพรรคคณะราษฎร กลับชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของการแข่งขันทางการเมืองของพรรคการเมืองมากกว่า 1 พรรค ไว้ว่า

“ประเทศใดมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวแล้ว ในที่สุดก็มักจะรวนไปในทางระบบเผด็จการ หรืออย่างน้อยอาจเกิดมีผู้บงการประเทศขึ้นในประเทศ นี่แหละประเทศประชาธิปไตยต่างๆ จึงนิยมให้มีพรรคฝ่ายค้านขึ้น บางประเทศถึงกับมีกฎหมายรับรองฐานะของผู้นำฝ่ายค้านไว้ด้วย เมื่อมีฝ่ายค้านในรัฐสภา ฝ่ายรัฐบาลก็จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลแห่งกิจที่ได้ดำเนินไปให้เป็นที่พึงพอใจแก่สภา ข้อนี้แหละจึงจำกัดเสียซึ่งกำเนิดแห่งผู้บงการการเมืองได้”

ทั้งนี้ การยุบพรรคคณะราษฎร ถือเป็นเหตุการณ์หนึ่งของชุดกระบวนการต่อต้านการปฏิวัติ 2475 ของกลุ่มอนุรักษนิยม เริ่มตั้งแต่การรัฐประหาร 1 เมษายน 2476 ของพระยามโนปกรณ์ฯ และปิดสภาผู้แทนราษฎรมิให้สภาพิจารณาสมุดปกเหลือง

เมื่ออำนาจรวมศูนย์ที่รัฐบาลแล้ว มีการตรากกฎหมายคอมมิวนิสต์ขึ้นเอง พร้อมยุบสมาคมคณะราษฎร ติดตามด้วยสมุดปกขาวโจมตีนายปรีดี การดำเนินการเมืองเหล่านี้ส่อให้เห็นถึงความพยายามหมุนระบอบกลับคืน

ส่งผลให้คณะราษฎรรัฐประหารขับไล่รัฐบาลลงเมื่อ 20 มิถุนายน อันนำไปสู่การตอบโต้คณะราษฎรกลับด้วยกำลังทางการทหารในกบฏบวรเดชในที่สุด

กล่าวได้ว่า การยุบพรรคคณะราษฎร และมิให้พรรคคณะชาติจัดตั้งขึ้นถือเป็นการยุติหน่ออ่อนของพัฒนาพรรคการเมืองไทยที่กำลังขยายฐานมวลชนและการรณรงค์ทางการเมืองลง อันจะมีผลต่อเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนลงอย่างน่าเสียดาย

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
นายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรสายบู๊ ร่วมก่อตั้งสมาคมคณะราษฎรด้วย
พระราชหัตถเลขาของพระปกเกล้าฯ เรื่องสมาคมการเมือง