ศึกนอก ศึกใน ของ ‘แม่ทัพประยุทธ์’ และขุนพลข้างกาย กับศึก 2 ด้านของ ‘ธรรมนัส’ มองกองทัพในยุค ‘3 ป.’ ถอย/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ศึกนอก ศึกใน

ของ ‘แม่ทัพประยุทธ์’

และขุนพลข้างกาย

กับศึก 2 ด้านของ ‘ธรรมนัส’

มองกองทัพในยุค ‘3 ป.’ ถอย

ผ่านระลอกแรกมาถึงระลอก 2 เสมือนเป็นการหยั่งเชิง หยั่งกำลัง จนที่สุดมาสู่ระลอก 3 ที่เป็นการเข้าตีอย่างเต็มรูปแบบของกองกำลังโควิด

จนบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องขนานนามเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ว่าเป็น “ศัตรูตัวร้ายที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน”

อันสะท้อนการยอมรับในความพลั้งพลาด เพลี่ยงพล้ำ ในการทำศึกกับข้าศึกที่มองไม่เห็นครั้งนี้

จนทำให้ภาพพจน์ประเทศไทยในสายตาสื่อต่างประเทศ จากที่เป็น Hero ที่จัดการควบคุมโควิดได้ดี แต่มาระลอก 3 นี้ ไทยกลายเป็น Zero ที่โดนโควิดเข้าโจมตีอย่างหนัก จนมีผู้ติดเชื้อโควิดรายวัน วันละเกือบ 2,000 คน และเสียชีวิต 20-30 คน ต่อเนื่องหลายสัปดาห์

พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นนายกฯ ที่เป็นทหารเก่า เคยเป็นทั้งผู้พัน ผู้การ ผบ.พล. จนเป็นแม่ทัพ และ ผบ.ทบ. นำรบทัพจับศึกมาแล้ว

แต่มาศึกโควิดนี้ ถือเป็นความพ่ายแพ้

จนที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ต้องใช้กลยุทธ์และยุทธวิธีแบบทหารมาทำการศึกโควิดครั้งนี้ ด้วยการรวบอำนาจแบบ Single Command มาอยู่ในมือ เพื่อสั่งการคนเดียว เพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา และตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ ในสเกลที่เล็กลง จากที่มีในโครงสร้าง ศบค. เพื่อตัดวงจรเชื้อโควิด ที่เปรียบเหมือนสะเก็ดไฟที่จะกระเด็น แตกตัวไปไหม้ในที่ต่างๆ

และส่งกำลังเสริมด้วยกองทัพวัคซีนที่ พล.อ.ประยุทธ์ยกให้เป็นวาระแห่งชาติ เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้เร็วที่สุด โดยต้องสู้กับความไม่มั่นใจในวัคซีนของประชาชน

ที่สำคัญคือ จำนวนวัคซีนที่มีไม่เพียงพอเพราะการประเมินสถานการณ์การรบผิด ไม่เตรียมเสริมกำลังรับศึกให้เพียงพอ เพราะมัวแต่กระหยิ่มกับชัยชนะในระลอก 1 และ 2

จนต้องเร่งไปขอซื้อวัคซีนที่เปรียบเหมือนอาวุธยุทธโปกรณ์จากต่างประเทศ เข้ามาสู้กับโควิด แต่เป็นการสั่งซื้อในช่วงที่ประเทศอื่นเขาสั่งจองไว้เกือบหมดแล้ว จึงต้องไปเจรจาต่อรองเพื่อขอซื้ออาวุธนั้นๆ มาเสริมกำลังรบ แต่ต้องใช้เวลา จนไพร่พลและประชาชนบาดเจ็บล้มตาย

แม้แต่กำลังรบแนวหน้า อย่างบรรดาคุณหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และรวมทั้งทหารที่ทำหน้าที่กองหนุนแนวหลังในการศึกครั้งนี้

เพราะกองทัพโดนโควิดเข้าโจมตีที่จุดศูนย์ดุล CG เลยทีเดียว ทั้งที่กองบัญชาการกองทัพบก ที่หน้าห้อง ผบ.ทบ. แม่ทัพใหญ่ และหน่วยกำลัง ทั้งเรือรบของ ทร. และกองบินของ ทอ.

ที่ยิ่งกว่านั้น คือทำเนียบรัฐบาล ที่ทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์เองก็โดนโควิดแทรกซึมบุกเข้าโจมตี ทำให้คนในทำเนียบฯ ติดเชื้อ รวมทั้งระดับรัฐมนตรีและทีมงาน

ในการศึกครั้งนี้ กองทัพทำได้แค่หน้าที่สนับสนุนบรรดานักรบชุดขาว นักรบเสื้อกาวน์

โดย พล.อ.ประยุทธ์สั่งทั้งกลาโหมและเหล่าทัพ ระดมทั้งกำลังพล รถลาม้าช้าง และเครื่องมือต่างๆ อย่างสุดขีดความสามารถ มาอุดช่องโหว่ โดยเฉพาะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การจัดรถทหารมารับ-ส่งผู้ป่วย

แต่ด้วยความเป็นทหารเก่า นอกจากวางโครงสร้าง ศบค.แบบทหารแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไว้ใจวางใจใช้งานทหารเก่าด้วยกัน จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช. น้องรัก เป็น ผอ.ศปก.ศบค. ที่เรียกชื่อแบบทหาร เพราะสร้างผลงานมาดีในการศึกระลอกแรกและระลอก 2 แต่มาระลอก 3 ก็ซวนเซกันไม่น้อย

แต่ พล.อ.ณัฐพลก็ไม่ยอมแพ้ พยายามต่อสู้เพื่อตีตื้นกลับมาให้ได้ และถือเป็นขุนพลกำลังหลักสายบุ๋นของ พล.อ.ประยุทธ์เลยทีเดียว

ขณะที่ในด้านกองทัพแล้ว มีอะไร พล.อ.ประยุทธ์ก็สั่งการบิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ในการประสานกับ ผบ.เหล่าทัพ เพราะต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์มีระยะห่างกับน้องๆ ผบ.เหล่าทัพ ที่รุ่นห่างกัน

แต่ก็ยังใช้การโทรศัพท์และไลน์ “t” ที่ย่อมาจาก tiger ตามสไตล์ทหารเสือราชินี ร.21 รอ.เก่า ที่เรียกตัวเองว่าเสือ ในการสั่งงาน ผบ.เหล่าทัพ

 

ในแง่ความใกล้ชิดสนิทสนมในบรรดา ผบ.เหล่าทัพ พล.อ.ประยุทธ์สนิทสนมกับบิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหมมากที่สุด เพราะ พล.อ.ณัฐเป็นน้องรักของบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ มายาวนานตั้งแต่เป็นนายทหารเด็กๆ และถือเป็นหนึ่งในท็อปไฟว์ของน้องรักของบิ๊กป้อม

นอกจาก พล.อ.ชัยชาญที่จะสั่งการผ่านทาง พล.อ.ณัฐแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็สายตรงพูดคุยหารือและสั่งการ พล.อ.ณัฐในเรื่องการหาพื้นที่ตั้งโรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักตัว SQ เพิ่อประสานกับเหล่าทัพ

โดยมีบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้า ศปม.ที่รับผิดชอบการบังคับใช้ กม.ตามคำสั่ง ศบค. ก่อนสั่งการไปยัง ศปม.ทบ.-ทร. และ ทอ. ที่มี ผบ.เหล่าทัพเป็นหัวหน้า

จน พล.อ.ประยุทธ์โดนโจมตีว่า เอาทหารมาสู้ศึกโควิด แทนที่จะใช้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก อันสะท้อนถึงความขัดแย้งที่มีอยู่ระหว่างฝ่ายความมั่นคง กับสาย สธ. ที่มีมาตั้งแต่ระลอกแล้ว

ในฐานะนายกฯ และ รมว.กลาโหม และเป็นทหารเก่า ก็ยังติดยึดการทำงานสไตล์ทหาร คิดแบบทหาร และก็ต้องถือว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นแม่ทัพใหญ่ในการศึกครั้งนี้ แม้จะพ่ายแพ้ไปแล้ว

แต่ที่ต้องจับตาคือ จะกลับมาเป็นฝ่ายชนะได้อย่างไร และเมื่อใด เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่น ศรัทธา ที่ลดน้อยลงในตัวแม่ทัพใหญ่ที่มีอำนาจในมือสูงสุด

นอกจากทำศึกกับโควิดแล้ว ยังต้องทำศึกการเมืองไปพร้อมๆ กัน แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเตือนพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านว่า ตอนนี้ไม่ใช่เป็นเวลาการเมือง แต่เป็นเวลาทำงานให้บ้านเมือง และงดการหาเสียง จากการช่วยเหลือประชาชน เพราะมีบางพรรคการเมือง หรือนักการเมืองบางคนยังหาเสียงกับการช่วยเหลือประชาชน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระหว่างทำศึกโควิด ไม่อาจหลีกเลี่ยงศึกการเมืองได้

เพราะการพ่ายแพ้ศึกครั้งนี้ กลายเป็นประเด็นการเมือง จนนำมาซึ่งการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องยุติศึกภายในพรรคร่วมรัฐบาลเอาไว้ก่อน ทั้งกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่นอกจาก

ชะลอการออกคำสั่งแบ่งพื้นที่จังหวัดให้ รมต.รับผิดชอบ ตามโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ออกไปก่อน เพราะแบ่งพื้นที่เมื่อใดก็คาดว่าจะเกิดปัญหาอีกครั้ง

รวมไปถึงการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยกเลิกกำหนดการลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เพราะพรรคประชาธิปัตย์อาจจะหวาดระแวง และโจมตีพรรค พปชร.อีก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัสเคยโดนมาแล้วเมื่อลงพื้นที่แก้ปัญหาพริกราคาตกต่ำ และเรื่องที่ดิน ส.ป.ก. แม้จะลงพื้นที่ในฐานะ รมช.เกษตรฯ ที่ ร.อ.ธรรมนัสเคยระบุว่า จะไปจังหวัดไหนก็ได้ แม้ไม่มีคำสั่งแบ่งงาน แบ่งจังหวัด

รวมถึงการเคลียร์ใจกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หลังถูกจับตามองเมื่อครั้งขู่ รมต.ที่นินทานายกฯ กลางที่ประชุม ครม.

แต่ก็มาเจอเรื่องศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้ ร.อ.ธรรมนัส รมช.เกษตรฯ ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็น รมต. และ ส.ส. แม้จะเคยต้องคำพิพากษาศาลออสเตรเลียในคดียาเสพติดก็ตาม เพราะไม่มีผลผูกพันต่อศาลไทย เพราะถือว่า ร.อ.ธรรมนัสไม่เคยต้องคำพิพากษาของศาลไทย

จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และโจมตี ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และตัว พล.อ.ประยุทธ์เองที่ยอมให้ ร.อ.ธรรมนัสมาเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่ต้น จนฝ่ายค้านจะยื่นให้ ป.ป.ช.สอบเรื่องจริยธรรมต่อ

ด้วยเพราะรู้ดีว่า ร.อ.ธรรมนัสมีความสำคัญต่อพรรคพลังประชารัฐอย่างมาก เพราะเป็นทั้งเส้นเลือดใหญ่และคนคุมสวนกล้วย และเป็นเจ้าของกล้วยเองด้วยซ้ำ

เปรียบเป็นมือทำงานของบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ หัวหน้าพรรค พปชร. แบบที่เรียกว่า พรรคนี้ขาด ร.อ.ธรรมนัสไม่ได้เลยทีเดียว เพราะทำหน้าที่เดินเกมการเมือง ประสาน เจรจาต่อรองกับพรรคต่างๆ กลุ่มต่างๆ

อีกทั้งจ่อที่จะนั่งเป็นเลขาธิการพรรค พปชร. และจะเป็นรัฐมนตรีว่าการในอนาคตอันใกล้

และถูกจับตามองว่า จะเป็นทายาททางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ในการดูแลพรรค พปชร.ต่อไป หลังจากพี่น้อง 3 ป.ถอนตัวแล้ว รวมทั้งการเป็น มท.1 รมว.มหาดไทย ที่ในอดีตเคยถูกเรียกว่าเป็นนายกฯ น้อย

แต่ทว่าหนทางที่ ร.อ.ธรรมนัสเมื่อเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว จะเป็นนายกฯ นั้น แทบจะเป็นศูนย์ เพราะเคยมีคดียาเสพติดติดตัว ที่จะถูกขุดคุ้ยและโจมตีทุกครั้งที่มีชื่อปรากฏ

อนาคตของ ร.อ.ธรรมนัสจึงจะเป็นผู้จัดการรัฐบาลเช่นในเวลานี้ และก็จะเป็นผู้เนรมิตเก้าอี้นายกฯ ให้คนที่เลือกแล้ว และ ร.อ.ธรรมนัสก็จะกลายเป็นผู้มีบารมี

และเป็นเสมือน “นายกฯ เงา”

จริงอยู่ แม้ ร.อ.ธรรมนัสจะมีพันธมิตรในพรรคฝ่ายค้าน และมีงูเห่าที่ฝากเลี้ยงไว้จำนวนไม่น้อยก็ตาม

แต่ทว่าในตอนนี้ กว่าที่คลื่นลมที่ถาโถมชีวิต ร.อ.ธรรมนัสจะสงบลงก็ไม่ง่าย เพราะไม่ใช่แค่พรรคฝ่ายค้านที่จ้องโจมตีเท่านั้น แต่ยังมีศึกภายในอีกด้วย

ร.อ.ธรรมนัสรู้ดีว่า ในพรรคพลังประชารัฐที่มาจากหลายกลุ่ม หลายก๊วน จากพรรคอื่นๆ ที่ถูกดูดมาอยู่ด้วยกันนั้น มีหลายคน หลายกลุ่มที่ไม่พอใจตัวเขา ยิ่ง พล.อ.ประวิตรให้ความไว้วางใจมากแค่ไหน ศัตรูก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

เอาแค่การชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรค ก็ต้องต่อสู้ วัดพลังกับกลุ่มสามมิตรที่ดันนายสมศักดิ์ เทพสุทิน มารักษาเก้าอี้ที่นายอนุชา นาคาศัย เคยนั่ง

ไม่แค่นั้น นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่เป็น “กลุ่ม 4 (รม)ช.” ด้วยกัน ก็เริ่มไม่ไว้ใจ ร.อ.ธรรมนัสแล้วว่า จะสนับสนุนให้ตนเองเป็นเลขาฯ พรรคก่อน หรือว่าจะนั่งเองเลย

ยิ่งในเวลานี้ ที่การเมืองยุคโควิดไม่แน่นอน และกระแสความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ลดลง พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตรยิ่งต้องทำงานหนักในการคุมเกมการเมือง คุมเสียง และเพิ่มเสียง ส.ส.ให้ได้มากที่สุด การยุบสภาและการเลือกตั้งอาจกำลังใกล้เข้ามา สถานการณ์จึงยิ่งเอื้อให้ ร.อ.ธรรมนัสนั่งเลขาฯ พรรคเลย เมื่อนั้นย่อมเกิดความขัดแย้งภายใน

จึงไม่แปลกที่กระแสการโจมตี ร.อ.ธรรมนัสหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะหนักขึ้นๆ และถึงขั้นบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ปรับ ร.อ.ธรรมนัสออกจาก ครม.

จนฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์นั้นต้องการให้ ร.อ.ธรรมนัสไปทำงานการเมืองในพรรคอย่างเดียว ไม่ต้องเป็น รมต. แล้วให้คนอื่นในโควต้าของ ร.อ.ธรรมนัสเป็น รมต.แทน เพื่อลดจุดอ่อนของรัฐบาล

เปรียบให้ ร.อ.ธรรมนัสเล่นบทเป็น เหมือนเป็นนายเนวิน ชิดชอบ ที่ไม่ได้อยู่ในการเมือง ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี แต่อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้มากบารมีของพรรคภูมิใจไทย และเดินเกมทางการเมืองให้นายอนุทิน และส่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชายมาเป็นเลขาฯ พรรค และเป็น รมว.คมนาคม

หรือเป็นเสมือน พล.อ.ประวิตรที่เป็นผู้มีบทบาทเบื้องหลัง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเสมือนนายกฯ เงา เป็นคนที่นายกฯ เกรงใจ และฟัง แต่ไม่ต้องรับตำแหน่งใน ครม.

แต่ ร.อ.ธรรมนัสยังไม่มีปฏิกิริยาใดกับแรงกดดันและข้อเสนอนี้ ยังคงนิ่งและทำงานในหน้าที่ของตนเองต่อไป เพราะเชื่อว่าเดี๋ยวกระแสสังคมก็จะค่อยๆ เบาลง อีกทั้งชีวิตของ ร.อ.ธรรมนัสนั้นผ่านวิกฤตที่หนักหนามาแล้ว จึงไม่คิดถอยง่ายๆ

อีกทั้งเรื่องในพรรค และเรื่องการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ได้ตกลงให้ พล.อ.ประวิตรมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจไปแล้ว แล้ว ร.อ.ธรรมนัสก็เป็นแม่ทัพคนสำคัญของพรรค เพราะการที่พรรค พปชร.มาถึงจุดนี้ได้ และดัน พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ ได้นั้น ร.อ.ธรรมนัสมีส่วนไม่น้อย

เพราะหากมองไปที่ความพร้อมทุกด้านของ ร.อ.ธรรมนัสแล้ว ถือเป็นแม่ทัพระดับขุนพลของพรรค มีทั้งทุนและคน และประสบการณ์ เพราะการเล่นการเมือง จำเป็นต้องใช้คนที่เคยเป็นสีเทาด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ โดยสไตล์ของพี่น้อง 3 ป.ที่เป็นทหารเก่า ก็ยังคงเลือกสายเลือดทหารด้วยกันอย่าง ร.อ.ธรรมนัส ที่ถือเป็นรุ่นน้อง ตท.25 และ จปร.36 และมั่นใจในเรื่องจุดยืนของการปกป้องสถาบัน และยึดความมั่นคง

จึงไม่แปลกที่ ร.อ.ธรรมนัสจะมีม็อตโต้ในการทำงานที่ว่า “ชีวิตที่เหลือ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่สอดคล้องกับคำพูดที่ว่า “ที่ผ่านมา ผมอาจจะเป็นคนเทาๆ แต่มันคืออดีตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ผมจะทำปัจจุบันและอนาคตให้ดีที่สุด และให้รอดูว่าคนเทาๆ คนนี้จะทำอะไรให้ประเทศชาติและประชาชน”

ในเมื่อ ร.อ.ธรรมนัสตั้งหมุดหมายที่จะเดินบนถนนสายการเมืองแล้ว นอกจากพันธมิตรในทางการเมืองแล้ว ก็ต้องผนึกกำลังพี่น้องสายเลือดเตรียมทหารเป็นกองหนุนด้วย

เพราะหากมองไปที่กองทัพ แม้ว่ารุ่นของ ตท.25 จะไม่ค่อยเจริญเติบโต ไม่มีดาวเด่น เพราะนายทหาร ตท.25 นั้นถูก ตท.24 ที่มีคนเด่นๆ บดบัง แถมขนาบด้วยรุ่นน้อง ตท.26 และ ตท.27 ที่มีดาวรุ่งหลายคน

เพราะใน ทบ.มี พล.ต.วสุ เจียมสุข รอง ผบ.นรด. น้องรัก พล.อ.ประยุทธ์ เคยทำงานอยู่ทีมตึกไทยคู่ฟ้า แต่ทว่าไม่ใช่ทหารคอแดง ก็ยากที่จะเติบโตจนเป็น ผบ.ทบ. แต่ทว่าเป็นประธานรุ่น และมีบารมี มีคอนเน็กชั่น

และ พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ผบ.พล.ร.5 ที่ก็ถูกมองว่าเป็นดาวเด่นของรุ่น แคนดิเดตแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ทว่าก็อาจไม่ถึงเก้าอี้ ผบ.ทบ. เพราะไม่ได้เป็นทหารคอแดง

แต่ ร.อ.ธรรมนัสจะสนิทสนมกับเพื่อนตำรวจมากกว่า เช่น บิ๊กหลวง พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผบช.ภาค 3 และบรรดานายทหารม้า รุ่นพี่รุ่นน้องในสายเสธ.ไอซ์ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต อดีตนายทหารผู้กว้างขวาง

ร.อ.ธรรมนัสก็มีพี่มีน้อง เขาจึงไปร่วมงานวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหารมาตลอด เมื่อเข้ามาสู่การเมือง จนได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลจักรดาว ศิษย์เก่าดีเด่น ที่จะรับรางวัล 27 มกราคม 2565 หลังจากที่เลื่อนการจัดพิธีในปีนี้ออกไป

แม้ครั้งนั้นจะเป็นที่ถกเถียงเรื่องภาพลักษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัสก็ตาม แต่ตามหลักการแล้ว เขามีคุณสมบัติที่จะได้รับรางวัล เนื่องจากได้เป็นรัฐมนตรี

เพราะกองทัพในอีก 3-7 ปีจากนี้ไป จะเป็นรุ่น ตท.23-24 และ 26-27 และ ตท.28 ที่จะขึ้นมารับไม้ต่อจากบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่จะเกษียณกันยายน 2566 และคาดกันว่า แม่ทัพต่อ พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์. (ตท.23) แม่ทัพภาคที่ 1 ในวันนี้ จะขยับขึ้นเป็น 5 เสือ ทบ. และเป็น ผบ.ทบ.คอแดงแทน

จากนั้น อาจจะเป็นรองเสธ.อ๊อบ พล.ท.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองเสธ.ทบ. (เทียบเท่า ตท.24) ที่ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. เพราะแม้จบจากนายร้อย VMI สหรัฐอเมริกา แต่ทว่าเป็นทหารคอแดง

และมีเพื่อน ตท.24 ทั้งรองหนุ่ย พล.ต.ธราพงษ์ มะละคำ รองแม่ทัพภาคที่ 1 รองรุณ พล.ต.กันตพจน์ เศรษฐารัศมี รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ถือเป็นทหารคอแดง

จากนั้น คาดว่า ตท.26 จะขยับขึ้นมาคุมกองทัพแทน เช่นที่ บก.ทัพไทย หลัง พล.อ.เฉลิมพลเกษียณกันยายน 2566 คาดว่าบิ๊กบุ๋ม พล.ท.สุวิทย์ เกตุศรี ผบ.ศตก. ทหารม้าคอแดง (ตท.23) จะเติบโตชึ้นมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุดแทนพอดี

ในระหว่างนั้น ต้องดูว่า ทบ.จะส่งนายทหารคอแดงคนใดมาเติบโตที่ บก.ทัพไทยหรือไม่

เพราะมี ตท.26 รออยู่ ทั้งบิ๊กจุ๊ฟ พล.ท.ชิดชนก นุชฉายา เจ้ากรมยุทธการทหาร เสธ.เวฟ พล.ต.กฤษณ์ จันทรนิยม ผบ.ทหารพัฒนาภาคที่ 4 และเสธ.เอี่ยว พล.ท.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว ผู้ช่วยหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ขณะที่ ทบ.มี ตท.26 สายบุ๋น มีเสธ.ปู พล.ต.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ ผอ.สำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารบก และ ผบ.ปู พล.ต.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.พล.ร.11 สายบู๊ แต่ยังไม่ได้เป็นทหารคอแดง

แต่ ตท.26 ก็ต้องเบียดกับ ตท.27 ที่มีดาวเด่นหลายคน และเป็นทหารคอแดง เช่น ผบ.ใหญ่ พล.ต.อมฤต บุญสุยา ผบ.พล.ร.2 รอ. น้องรักสายทหารเสือราชินีของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.ต.อุดม แก้วมหา ผบ.พล.ม.2 รอ.

และโดยเฉพาะบิ๊กเนี้ยว พล.ต.ทรงพล สาดเสาเงิน ผบ.พล.1 รอ. กำลังสำคัญใน ฉก.ทม.รอ.904 และบิ๊กตั้ง พล.ต.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผบ.มทบ.11 ที่เติบโตมาจากสายวงศ์เทวัญ ที่ก็ล้วนลุ้นที่จะเป็น ผบ.ทบ.

 

ที่คาดกันว่า หาก ร.อ.ธรรมนัสยังคงอยู่บนถนนสายการเมือง ไม่ว่าเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง และเป็นผู้จัดการรัฐบาล หรือหัวหน้าพรรค พปชร.ในเวลานั้น ก็จะเป็นช่วงที่นายทหารรุ่นใกล้ๆ กันเหล่านี้ขึ้นมาคุมกองทัพพอดี

ดังนั้น การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต่อชะตาทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัสในเวลานี้ จึงมีความหมายอย่างยิ่ง

เพราะมันจะเป็นดัชนีชี้วัด ความมั่นคงของพรรค พปชร.

และอำนาจในมือพี่น้อง 3 ป.ในอนาคตอันใกล้ด้วย