ยาลมเมือง ยาหอมไทย

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ยาลมเมือง ยาหอมไทย

 

ยาลม เป็นชื่อยาที่อยู่ในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ท้องถิ่นหรือการแพทย์พื้นบ้านด้วย

ว่าตามหลักการธาตุทั้งสี่หรือธาตุทั้งห้า ลมเป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้มากมาย

ในการวินิจฉัยตามหลักการแพทย์แผนไทย เรียกว่าโรควาตะ

ในตำราของขุนนิเทศสุขกิจกล่าวไว้ว่า ในบรรดาโรควาตะ ปิตตะ เสมหะ โรควาตะมี 80 โรคปิตตะมี 40 โรคเสมหะมี 20

ในที่นี้อาจเป็นการอุปมาหรือแสดงให้เห็นโดยรวมว่า โรคลมมีมากมายเหลือคณามากกว่าโรคจากปิตตะและเสมหะ

ในการวินิฉัยโรคตามหลักแพทย์แผนไทยนั้นมักจะพิจารณาถึงการกระทบกันหรือผลของโทษะ (สิ่งไม่ดีที่เป็นบ่อเกิดแห่งโรค) มาจากสาเหตุใดเป็นเหตุเป็นหลัก เช่น เกิดจากวาตะ ปิตตะ หรือเสมหะ

หรืออาจเกิดจากทั้งสามอย่าง ซึ่งมาจากสาหตุหลักหรือรองก็แล้วแต่กรณีๆ ต่างกันไป

 

ในการอธิบายให้เข้าใจง่ายตามวิชาการสมัยใหม่ ก็บอกว่าโรคลมจะเกี่ยวข้องกับระบบเลือด และระบบประสาท

หมายถึงระบบการไหลเวียนของเลือดซึ่งถือเป็นอาการของเป็นลมที่พัดหมุนเวียน และมีที่ตั้งต้นอยู่ที่หัวใจ ก็ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย เลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยสารอาหารและธาตุออกซิเจน แล้วก็ย้อนกลับสู่หัวใจ

จึงมีคำกล่าวถึงหทัยวาตะนั่นเอง

นอกจากนี้ หากเข้าใจความรู้สมัยใหม่ หัวใจที่เต้นหรือทำงานอยู่นี้ก็ด้วยระบบประสาทอัตโนมัติ และช่วยการไหลเวียนเลือด

ในหลักแพทย์แผนไทยยังบอกว่า เส้นสุมนา ซึ่งเป็นแนวเส้นหนึ่งของการนวดไทยนั้น จะมีผลต่อลมในความหมายภูมิปัญญาดั้งเดิม

เส้นสุมนาจึงเป็นแนวเส้นการนวดไทยเส้นหนึ่งที่ลมจะเคลื่อนไป ช่วยให้ร่างกายปกติดี

หรือหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับลม หมอนวดไทยฝีมือดีก็จะเยียวยาบีบกดคลายเส้นหรือแก้ไขที่เส้นสุมนา เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อเทียบเคียงลมกับระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย การบีบตัวของกระเพาะอาหาร การรับความรู้สึกร้อนหนาว ฯลฯ นั้น การแพทย์แผนไทยเปรียบและเรียกลมที่เกี่ยวกับระบบร่างกายแบบนี้ว่า ลมกองละเอียดที่พัดไป-มา

จึงมีการเทียบเคียงเบื้องต้น (ต้องการการศึกษาวิจัยต่อไป) กล่าวถึงลมที่เกี่ยวข้องกับพลังประสาทว่าเป็นลมกองละเอียดนั่นเอง

 

ยาหอม เป็นคำเรียกชื่อยาทั่วไปที่มักจะใช้เป็นยาลมหรือรักษาโรคลม โดยส่วนใหญ่จะหมายถึงชื่อยาตามที่ระบุตามหลักแพทย์แผนไทย และเมื่อพิจารณาดูก็มักพบว่ายาหอมจะประกอบด้วยกลุ่มสมุนไพรกลุ่มหลัก ได้แก่

1) กลุ่มเกสรดอกไม้ เช่น เกสรมะลิ หรือพิกัดเกสรทั้งห้า เกสรทั้งเจ็ด หรือดอกไม้ชนิดต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นหอม

2) กลุ่มสัตว์วัตถุ เช่น ชะมดเช็ด ซึ่งทำให้ยาหอมไทยมีเอกลักษณ์ในด้านกลิ่นหอม

3) กลุ่มไม้หอม เช่น กฤษณา เป็นต้น โดยทั่วไปยาหอมมักใช้แก้ลมกองละเอียด แต่ยาหอมก็ยังใช้แก้ลมในระบบทางเดินอาหารได้ ซึ่งถือเป็นโรคจากลมกองหยาบ ที่มักจะเกี่ยวกับทางเดินอาหารทำให้มีอาการจุกเสียด แน่นท้อง เรอ และผายลม เป็นต้น ซึ่งขึ้นกับตัวยาที่ปรุงในตำรับยาหอมแต่ละสูตร รวมถึงการใช้น้ำกระสายยาก็จะมีผลปรับเปลี่ยนหรือเสริมสรรพคุณในการรักษาที่ต่างออกไปด้วย

สำหรับ ยาลมเมือง ยาลมที่เป็นภูมิปัญญาของการแพทย์แผนล้านนา ก็มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน ทั้งแก้ลมกองหยาบและกองละเอียด ดังเช่น

ยาตำรับที่ 1 ยาลม 80 ประการ ที่มีสาเหตุจากธาตุน้ำ เสลด เป็นตำรับยาที่ได้จากลานก้อม หมอประทีป เจริญคำ มีส่วนประกอบยา หัวตะไคร้ รากคอมค่อขาว รากยางพราย รากจีจ้อหลวง รากภิมาร (ไม้พิมาน) รากเจตมูลเพลิงแดง รากไพล ใช้ตัวยาเท่ากัน นำมาบดเป็นผง ผสมพริกขิง หอม วิธีกินยา ให้นำผงยาละลายกินกับน้ำอุ่น

ยาตำรับที่ 2 ยาแก้ลม ยาหลิ้มดำ (เป็นตำรับยาจากสมุดบันทึกหมออินสม สิทธิตัน ที่พ่อหมอยินดีแบ่งปันไม่หวงวิชา) ตัวยาประกอบด้วยแก่นขี้เหล็ก แก่นลมแล้ง โกฏสอ โกฏก้านพล้าว โกฏจุฬาลัมภา โกฏปุมปลา โกฏดูก ขิง หอมเทียม ไพล พริกน้อย (พริกไทย) ดีปลี เทียนดำ มหาหิงคุ์ อยาดำมุกเงี้ยว

วิธีทำ ให้เอาแก่นขี้เหล็ก แก่นลมแล้ง เคี่ยวพอประมาณ แล้วเอาตัวยาที่เหลือเท่ากัน บดให้ละเอียด ผสมกับน้ำขี้เหล็กและลมแล้ง ปั้นเป็นก้อนหลิ้ม (แท่งยาวๆ)

หากไม่มีขี้เหล็กลมแล้ง ใช้ไก่ดำ ๑ ตัว สับและบดให้ละเอียด คั่วให้ไหม้ทั้งขนแทน

ปั้นเป็นหลิ้ม กินแก้กินผิด แก้เจ็บท้อง รูปแบบยาหลิ้มดำหรือยาแท่งดำแบบนี้มักใช้วิธีนำแท่งยามาฝนกับน้ำสุกกิน

 

สําหรับยาหอมตามแบบแพทย์แผนไทย ที่คุ้นเคยกันดี เช่น

ยาหอมเทพจิตร ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ โดยผสมน้ำดอกไม้เทศ

ยาหอมทิพโอสถ แก้ลมวิงเวียน แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสายยา

ยาหอมนวโกฐ แก้ลมคลื่นเหียนอาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม แก้ลมปลายไข้ ใช้ก้านสะเดา ลูกกระดอม และบอระเพ็ด ต้มเอาน้ำ ถ้าหาน้ำกระสายไม่ได้ใช้น้ำสุกแทน

และ ยาหอมอินทจักร แก้คลื่นเหียนอาเจียน โดยใช้น้ำลูกผักชีหรือเทียนดำต้ม หรือน้ำสุก แก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้ม (ตำรับยาหอมนี้เป็นตัวอย่างการใช้ยาหอมในการเป็นยาขับลมกองหยาบ หรือลมในกระเพาะอาหาร)

ยาหอม ยาลมเป็นจุดเด่นของภูมิปัญญาไทย

แต่ก็ใช่ว่าเรามีของดีจึงดำเนินวิถีชีวิตด้วยความประมาท การป้องกันหรือการดูแลสุขภาพให้เกิดความสมดุลของธาตุทั้งสี่ยังสำคัญ

ทั้งเรียนรู้การกินให้เหมาะกับธาตุ เหมาะสมตามฤดูกาล

และการใช้ชีวิตให้สมดุลอย่าหักโหม นอนหลับเพียงพอ รวมถึงนั่ง ยืน เดิน ให้พอดี

เรียนรู้ฝึกจิตใจให้พบกับความสงบสุขตามสมควร

แต่ยามป่วยไข้เพราะลม ยาลมเมือง ยาหอมไทย ของดีที่ใช้ได้ทุกครัวเรือน