หอมหวานที่กำโปด ‘ร. เมเยร์’ ที่โลกลืม/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

หอมหวานที่กำโปด

‘ร. เมเยร์’ ที่โลกลืม

 

ไม่คิดว่าลิ้นชักวรรณกรรมของฉันจะจมอยู่ที่กำโปดเพราะใครคนหนึ่ง แค่แตะเบาๆ เท่านั้น โห อะไรทั้งหลายมันก็ไหลออกมาราวกับกล่องปริศนาแห่งความคิดทั้งแบบ “ปัจเจกและองค์รวม”

ในฐานะคนร่วมอาชีพแม้ต่างยุคร้อยปี แต่นี่คือวิถี “สังฆกรรมเขมรวรรณกรรม” ของ ร. เมเยร์ (*) (โรล็องด์ เมเยร์) กับฉัน แม้ต่างช่วงต่างเวลา แต่กำโปดต่างหากเล่าที่พาเรากลับมา

อำนาจกรรมวรรณ? มันเป็นเช่นนั้นเองสินะ…

แต่กำโปดนั่นเองที่พัดพาฉันมาเพื่อพบกับบั้นปลายชีวิตนักเขียนเล็กๆ คนหนึ่ง-ซึ่งตัวตนของเขาราวกับเริ่มต้นที่นี่-เมืองกำโปดจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของ ร. เมเยร์ ผู้เคยปรากฏตัวที่นั่น ก่อนที่ชีวิตเสมียนเล็กๆ คนหนึ่งของรัฐอินโดจีนและนักเขียนคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปมาก

ในมุมอันลึกเร้น กำโปดจึงเป็นเหมือนทุกอย่างของเขา เพราะจุดเริ่มต้นของชีวิตงานเขียนมันเกี่ยวกับที่นี่ เกี่ยวกับคนหนุ่ม (กมเลาะ) และวิสัยทัศน์ ที่อยู่ในต้นฉบับในชื่อ “เอเชียวิสัย-หัวใจคนหนุ่ม” (กมเลาะ, วิซิยง ดาซี : Komlah, Vision d’Asie)

แต่ฉันละเมอเพ้อไปตั้งแต่ยังไม่ทันอ่านงานของเขาและเข้าใจไปเองว่า “กมเลาะ, วิซิยง ดาซี” เป็นงานเขียนแนวนิยายแบบ “ผิวขาว-ผิวเหลือง” ของ ม.จ.อากาศดำเกิงของไทย

แต่ตรงข้ามนี่คือ non-fiction-ความเรียงแนวท่องเที่ยวเชิงสำรวจที่ ร. เมเยร์เริ่มเขียนขึ้น ก่อนนิยาย “สารามณี-นางรำราชสำนัก” จะมีตัวตนในบรรณภพ

และจากการถอดรหัสนั่น คำว่า “กมเลาะ” หรือ “พ่อหนุ่ม” นั่น คือชื่อตัวละครหลักในสารามณีฯ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรก (1919) เช่นเดียวกับ “ประตูไซ่ง่อน” หนังสือแนะนำท่องเที่ยว

ส่วน “กมเลาะ, วิซิยง ดาซี” นั้น ในห้วงปีนั้นได้ตีพิมพ์บางตอนลงวารสาร RI (Revue Indochinoise)

ก่อนเคว้งคว้างหลงทางหายไปถึง 10 ปี กว่าที่ ร. เมเยร์จะกลับมามีตัวตนอีกครั้งในโลกหนังสือโดย สนพ.โรเจอร์, ปารีส (1929) ที่ตีพิมพ์ทั้งเล่มความยาว 247 หน้า เช่นเดียวกับ “ลาว-ฮานอย” ผลงานของ ร. เมเยร์อีกเล่มที่ตีพิมพ์หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว (1931)

น่าเสียดาย นอกจากสารามณีฯ แล้ว แทบจะไม่มีใครรู้จักนักเขียนคนนี้

แน่ล่ะ ต้องขอบคุณบรรณาธิการสำนักพิมพ์ในไซ่ง่อนที่เปลี่ยนชีวิตนายเสมียนตราคนหนึ่งมาเป็นนักเขียนที่น่าสนใจ จากงานทดลอง “กมเลาะ วิซิยง ดาซี” ที่ได้รับข้อเสนอจนเป็นนิยายรักตำรับนางรำ ณ วังเขมรในวันนี้

จากเจ้าหน้าที่ธรรมดาคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่เขียนบันทึกประจำวันในสายงาน แต่ในที่สุด ต้นฉบับนิยายเล่มแรกและเล่มเดียวนั่นก็ถูกส่งไปตีพิมพ์ที่สำนักงานใหญ่ด้วยเงื่อนไขพิเศษ สำหรับวรรณกรรมสมัยใหม่เล่มแรกของเขมร (ที่ถูกเคลมนั้น)

คือตีพิมพ์เป็นปกแข็งขนาดเท่ากับสารานุกรมที่ไม่สู้ปรากฏมาก่อนในแวดวงวรรณกรรม!

และปีเดียวนั้นเอง ชีวิตการงานของ ร. เมเยร์ก็พุ่งทะยาน เมื่อเขาได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็น “หัวหน้าแผนกรัฐบาลด้านความปลอดภัยกรุงพนมเปญ”

 

โดยที่จริงว่า ตั้งแต่ไปเยือนกำโปดหนนั้น ร. เมเยร์เกิดแรงบันดาลใจในชีวิตภาคนักเขียนที่เขาเพิ่งจะลิ้มลอง แม้แต่ทุกข์ยากคับแค้นใจในชีวิตที่ไร้สุขและตัวตนในลาว แต่ ร. เมเยร์ก็ทุ่มเทมากกับงานราชการของตนและงานเขียนตำราซึ่งเขาไม่เคยทิ้งมัน

จริงๆ แล้ว ทักษะพิเศษของ ร. เมเยร์ คือด้านภาษา เขาแต่งตำราภาษาต่างๆ ตามที่ตนประจำการ และ “ตำราภาษาเขมร” (Cours de cambodgien) คือหนังสือเล่มแรกติพิมพ์ในปี 1912 นั้น

จึงไม่แปลกเลยเมื่อถูกย้ายไปลาว เขาจึงผลิตตำรา “ภาษาลาวเวียงจันท์” (1924) เผยแพร่ในหมู่เจ้าหน้าที่อินโดจีนอีกครั้ง

เช่นเดียวกับต้นฉบับ “กมเลาะ, วิซิยง ดาซี” ที่เขากลับมาแก้ไขจำนวน 247 หน้า จน 5 ปีต่อมาจึงได้รับการตีพิมพ์

และนี่คือบทเล็กๆ ที่ยกมา “ล่องอ่าวสยาม” (เพื่อกำโปด) : “สิ่งที่ฉันกำลังจะเล่าย้อนกลับไปในช่วงที่หลายปีก่อนขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ เมอร์สิเออร์เลอฟิเวร์ ป็องตาลี (Lef?vre Pontalis) กลับมาตำแหน่งใหม่ที่เขมรและลงเรือที่กำโปด

“ความตื่นตัวของนักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่-ม.ป็องตาลีผู้สร้างความแปลกใจไว้มาสำหรับความมุ่งมั่นต่อกัมพูชาที่ซึ่งเขาเรียนรู้มาตลอดอย่างไม่เคยลดละและประสบการณ์มหัศจรรย์ที่สยาม-ภูมิภาคของกำโปดที่ใกล้เคียงอ่าวสยาม ทั้งเส้นทางทางทะเลและเกาะแก่งต่างๆ ความงามเหนือธรรมชาติที่ยังไม่เป็นที่รู้จักเช่นเดียวกับแม่โขง-ตนเลสาบที่ยิ่งใหญ่ แลด้วยเหตุนั้นหรือไม่ กำโปดจึงถูกลืมไปเช่นนี้”

 

ฉันไม่แปลกใจว่า ทำไม ร. เมเยร์แม้จะถูกกลั่นแกล้งทางการงาน แต่ชีวิตงานเขียนตะหากเล่าที่ไม่มีใครข่มเขาได้

โดย ร. เมเยร์ก่อนนั้นมีทั้งคอนเน็กชั่นและเส้นทางสังคม เขาเคยถึงกับติดตามว่าที่อนาคต “เรสิด็องส์กัมพูชา”-นายป็องตาลี ผู้ที่เชื้อเชิญเขาล่องเรือเพื่อสำรวจอ่าวสยามจนถึงเมือง ‘Kratt’ (หรือตราดตามที่ผู้เขียนเข้าใจ)

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ป็องตาลีสร้างเมืองท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวเรียมของกำโปด ตามด้วยโครงการพัฒนาเส้นทางพนมโบกอร์เพื่อก่อสร้างปราสาทยุคกลางดังที่เขาภูมิใจ ขณะที่ ร. เมเยร์นั้นก็ทำได้สำเร็จ เมื่อ “กมเลาะ, วิซิยง ดาซี” ได้รับการรวมเล่มและตีพิมพ์ ซึ่งทำให้เขากลับมารำลึกที่นี่อีกครั้ง (1930)

และนี่คือความเรียงเมื่อร้อยปีก่อน ตอนที่เขาไปเยือนกำโปดจากพนมเปญครั้งแรก

“เริ่มจากบ้านองตาโสม-จุดภูมิศาสตร์ที่มาบรรจบกันของประชากรเพียงน้อยนิดหยิบมือหนึ่ง ตรงบริเวณถนนโชดกที่แยกไปซ้ายมือเพื่อตัดตรงไปกำโปด เส้นทางลูกรังที่พาดผ่านระยะไกลจากเชิงเขาลูกแรกของฝั่งตะวันตกพาดเฉียงไปทางตะวันตกเฉียงใต้-สู่ธรณีประตูของชายฝั่งทะเลนั่น”

และด้วยประสบการณ์อันสดใหม่เขายังใส่ความเหนือจริงบางอย่างต่อกลุ่มชาวพื้นเมืองเขมรหยิบมือหนึ่งของที่นั่นกับตำนานเก่าแก่ที่เล่ากันว่า พ่อมดอัจฉริยะแห่งภูผาและดินแดนแห่งโปป็อกวิล-ตำบลหนึ่งของกำโปดที่พวกอาณานิคมไม่รู้จัก กระทั่งตัวแทนเรสิด็องส์อาวุโส นายโบดูแอ็ง (Baudoin) ซึ่งร่วมผลักดันและสร้างผลงานที่นั่นต่อมา (139น.)

 

“กําโปด” จึงเป็นเหมือนเมืองทดลองของเหล่านักคิดบารังแห่งยุคนั้น ทุกอย่างของที่นั่น ถูกสร้างขึ้นด้วยสภาพภูมิศาสตร์ผนวกกับความลุ่มหลง ไม่ว่าจะเป็น “พนมโบกอร์” หรือ “ท่าเรือเรียม” ที่ ร. เมเยร์กล่าวไว้ และช่างเหมาะสมกระไร สำหรับ “วิสัยคนหนุ่ม” ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้

ไม่ว่ากำโปดจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากความหลับใหลในอดีต และถ่ายผ่านเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด ความกระตือรือร้นที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนของ ร. เมเยร์ โดยไม่ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ที่ไหน ตั้งแต่รัสเซีย-ฝรั่งเศส ถึงฮานอย ไซ่ง่อน พนมเปญ คอนพะเพ็งหรือกำโปด

ความจริงตอนหนึ่งที่ไม่เคยหายไปของนาย “กมเลาะ” คนนั้น

คือความเทิดทูนบูชาต่อวิถีอุษาคเนย์

(*) สำเนียงยิวฮิบรู, “ร. เมเยร์” นามจริงกึ่งนามปากกาที่นิยมใช้กันในหมู่นักเขียนไทย-เทศยุคหนึ่ง