เทศมองไทย : “คลิกฟาร์ม” – “เฟกไลก์” ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในไทย

“คลิกฟาร์ม” ไม่ใช่ฟาร์มเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่เป็นศูนย์รวมในการสร้าง “เฟกไลก์” ยอดไลก์ปลอมๆ ขึ้นกับหน้าเฟซบุ๊กเพจของใครๆ ก็ได้ตามที่ต้องการ หรือการสร้าง “ยอดวิว” ปลอมๆ ให้กับคลิปวิดีโอชิ้นใดชิ้นหนึ่ง

รวมกระทั่งถึงการสร้างยอดผู้ติดตามหรือ “ฟอลโลว์เวอร์” ให้กับบัญชีทวิตเตอร์ของผู้หนึ่งผู้ใดเท่านั้น

“คลิกฟาร์ม” กลายเป็นเรื่องโด่งดังที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองไทยเรา สืบเนื่องจากการจับกุมชายชาวจีน 3 คน กับเครื่องคอมพิวเตอร์ 9 เครื่อง โทรศัพท์สมาร์ตโฟนอีกกว่า 500 ตัว ซิมการ์ด จำนวนทั้งสิ้น 350,000 ซิม กับเครื่องอ่านซิมการ์ดอีก 21 เครื่อง ได้ที่บ้านเช่าแห่งหนึ่งบริเวณชายแดนด้านตะวันออกของประเทศในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อไม่นานมานี้นี่เอง

ตามคำให้การของผู้ต้องหาชาวจีนที่สารภาพว่า ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทแห่งหนึ่ง ด้วยจำนวนเงิน 150,000 บาทให้ดำเนินกิจการ สร้างยอด “เทียม” ทั้งหลายขึ้นโดยจัดหาอุปกรณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่จำเป็นมาให้เสร็จสรรพ ระยะเวลาว่าจ้าง 1 เดือน

หน้าที่ของคนทั้ง 3 ก็คือ เพิ่มเรตติ้งให้กับ “สินค้าจีน” ที่วางขายอยู่ในประเทศไทย ด้วยการสร้างยอดวิวให้กับหน้าเฟซบุ๊กเพจที่ระบุให้ สร้างยอดไลก์เทียมๆ ให้กับสินค้าตามรายการ แล้วแชร์ข้อมูลเหล่านั้นกลับไปกลับมาผ่านทาง แอพพลิเคชั่นสนทนาแลกเปลี่ยน “วีแชต” ที่เป็นแอพพ์ยอดนิยมในจีน

 

เรื่อง “คลิกฟาร์ม” ที่มีจริงๆ ในไทย กลายเป็นเรื่องดังในโลกออนไลน์ไม่น้อย แต่สื่อดังๆ ทางด้านนี้หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น มาเธอร์บอร์ด, แมชเอเบิล หรือแม้กระทั่ง เดลีดอตและการ์เดียน ยืนยันตรงกันว่า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่มีการพบ “คลิกฟาร์ม” กันจริงๆ

ก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบ “สัจธรรม” เรื่องยอดไลก์ในเมืองไทย เคยมีชาวรัสเซียนคนหนึ่ง เข้าไปเจอฟาร์ม ทำนองเดียวกันนี้ในจีน ถ่ายคลิปออกมาถ่ายทอดกันครึกครื้น เห็นสมาร์ตโฟนเรียงเป็นตับ มี “พนักงานสาว” นั่งจ้องหน้าจอ พร้อมกับถ้วย “บะหมี่สำเร็จรูป” อยู่ข้างๆ

ย้อนหลังไปนานไม่น้อย การ์เดียน กับ แชนเนล 4 ของอังกฤษ ก็เคยแฉกระบวนการสร้างยอดไลก์ ยอดวิว และสร้างเรตติ้งให้กับแอพพลิเคชั่น ที่ขายกันอยู่ในแอพพ์สโตร์ ในบังกลาเทศ ซึ่งว่ากันว่า ทำกันเป็นงานเป็นการ สร้างรายได้ให้กับ “คนกลาง” ที่เป็นคนลงทุนเป็นเรือนล้านดอลลาร์

ในกรณีของบังกลาเทศ “บอสส์” ของคลิกฟาร์มที่นั่นเรียกเก็บเงินจากผู้ที่ต้องการยอดไลก์ ยอดวิวสูงๆ แบบทันทีทันใด ในอัตรา 15 ดอลลาร์ หรือ 510 บาทต่อ 1,000 ไลก์

“บอสส์” ว่าจ้างคนในท้องถิ่นให้ทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งทำกันในแบบที่ “เป็นระบบ” มีการ “เปลี่ยนกะ” กันชัดเจน 3 กะต่อ 24 ชั่วโมง

แต่ที่น่าสงสารก็คือคนที่รับจ้างทำหน้าที่คลิก ซึ่งบางแห่งจ่ายเพียง 1 ดอลลาร์หรือ 34 บาทต่อ 1,000 คลิก

บางแห่งจ้างกันเป็นรายปี ปีหนึ่งจ่ายค่าจ้างน้อยมากเพียงแค่ 120 ดอลลาร์ หรือราว 4,080 บาทเท่านั้นครับ

ว่ากันว่า คลิกฟาร์มในบังกลาเทศ ทำกันเป็นล่ำเป็นสันถึงขนาดมี “บอสส์” รายหนึ่ง ได้รับการขนานนามเป็นเชิงยอมรับว่า “ราชาแห่งเฟซบุ๊ก”

เพราะมีความสามารถมากในการสร้างบัญชีเฟซบุ๊กขึ้นมาสักบัญชีหนึ่งแล้วใช้มันในการสร้าง “เฟกไลก์” ได้นับเป็นหมื่นเป็นแสน

เคยมีเว็บไซต์แห่งหนึ่งชื่อ แชเรียต (shareyt.com) ประกาศตัวเปิดเผยเป็น “นายหน้า” คลิกฟาร์มในบังกลาเทศด้วยซ้ำไป

 

เกรแฮม คลูลีย์ ที่ปรึกษาอิสระ ด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ชี้ว่า วัฒนธรรม “คลิกฟาร์ม-เฟกไลก์” กลายเป็นเรื่องที่ระบาดกันไปทั่วโลกออนไลน์ ด้วยเหตุที่ว่า บรรดาบริษัทธุรกิจต่างๆ ต้องการ “โปรไฟล์” ดีๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อนำมันไปแสวงหา “ลูกค้า” คนอื่นๆ ต่อไป

เหตุผลหนึ่งก็คือ ผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 31 เปอร์เซ็นต์ จะ “เช็กเรตติ้ง” และ “รีวิว” บนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นยอดไลก์หรือจำนวนฟอลโลเวอร์ ของทวิตเตอร์ ก่อนที่จะเลือกซื้ออะไรสักอย่าง ซึ่งทำให้คลิกฟาร์มมีอิทธิพลต่อการเลือกของผู้บริโภคเหล่านั้น แม้จะใกล้เคียงกับการ “ถูกหลอก” ก็ตามที

ซึ่งนั่นเองทำให้ แซม เดอซิลวา นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไอทีในประเทศอังกฤษ เชื่อว่า เฟกไลก์ กับ คลิกฟาร์ม “เป็นไปได้ที่จะละเมิดกฎหมายหลายฉบับ ที่แน่ๆ ก็คือ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายว่าด้วยการประกอบการค้าไม่เป็นธรรม เพราะในทางปฏิบัติมันก็คือการหลอกให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดนั่นเอง”

 

นักกฎหมายในเมืองไทยจะคิดเหมือนกันหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ

ผมรู้แต่ว่า เรื่องคลิกฟาร์ม เพื่อสร้างเรตติ้งนี้ เป็นปัญหาใหญ่มาตั้งแต่เมื่อครั้งอินเตอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางประกอบธุรกิจในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1996 แล้ว

ปีนั้นคือปีแรกที่โฆษณาแบบ “แบนเนอร์” ปรากฏขึ้นบนอินเตอร์เน็ต บริษัทจะจ่ายให้กับเว็บไซต์ทุกครั้งที่มีคนคลิกโฆษณาที่ว่านั้น ทำให้เกิดมือปืนรับจ้างคลิกกันขึ้นมาเป็นล่ำเป็นสัน กลายเป็นปัญหาทั้งของบริษัท ของเว็บไซต์ และของคนใช้งานเว็บทั่วๆ ไปมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี่เอง ไมโครซอฟต์กับไซแมนเทก เคยร่วมมือกันปิด “บ็อตเน็ต” เครือข่ายพีซี 1,800,000 ตัว ที่ใช้คลิกโฆษณาหารายได้ ทำเงินได้ปีละไม่น้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์มาตั้งแต่ปี 2009

สุดท้ายก็ได้แต่เตือนให้ได้รับรู้กันว่า เบื้องหลังของ “ความนิยม” ของสินค้าหรืออะไรก็ตามบนโลกออนไลน์ อาจไม่ใช่ของจริงแท้แน่นอนอีกต่อไปแล้ว