จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2564

จดหมาย

 

กฎหมาย (1)

เรียนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

เรื่องโควิด ไม่ควรแก้โดยการใช้กฎหมายเป็นหลัก

เพราะโรคติดต่อ หรือโรคที่ราคาถูกที่สุด โรค-ละ-บาท ควรจะแก้โดยการจัดหาวัคซีนมาตั้งนานแล้ว

มัวแต่มาใช้กฎหมายกับโครงการไทยชนะ

ผลสุดท้ายก็กำลังจะแพ้

ที่สหรัฐ โรคโควิดเขาไม่กลัวกฎหมายหรอก เขากลัววัคซีน

ก็พูดกันไปพูดกันมา ไม่รู้เรื่อง

“สงครามไม่สงบอย่าเพิ่งนับศพทหาร”

ผลสุดท้ายจะเป็นโครงการไทยแพ้

ประเทศใหญ่ ไม่เห็นเขาใช้กฎหมาย

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

เรื่อง “กฎหมาย” นั้น

ว่าที่จริง ชาวบ้านควรมีส่วนช่วยรัฐบาล (ที่แม้จะไม่ชอบ) ได้

คืออะไรที่พอจะปฏิบัติได้ เช่น ใส่หน้ากาก ไม่พบปะสังสันทน์ มั่วสุม

ก็ควรปฏิบัติ

เพราะจะให้รัฐบาลทุ่มเทกำลังไปจับคนไม่ใส่หน้ากากหรือร้านค้าที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามต่างๆ

รัฐบาลก็คงไม่ไหว

และเป็นเรื่องปลายเหตุ ที่คงแก้ด้วยกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้

แต่อย่างการรวบกฎหมาย 31 กฎหมายมาใช้เองของนายกฯ

อันนี้ต้องช่วยกันจับตาดูว่าจะมีประสิทธิภาพอย่างที่ว่าหรือไม่

และการรวบ “อำนาจ” ไว้ที่คนคนเดียวจะแก้ปัญหาได้จริงไหม

ต้องเฝ้าดู

รวมถึงที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโรคระบาดไปกวาดจับ “ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล”

อันนั้นยิ่งต้องช่วยกันตรวจสอบให้หนัก

หนักพอๆ กับที่รับปากจะจัดหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทย 100 ล้านโดสนั่นด้วย

 

กฎหมาย (2)

สืบเนื่องจากรายงานการเข้าเยี่ยมนักกิจกรรม พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง)

ปรากฏว่า พริษฐ์ผู้อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวหรือสิทธิในการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 เริ่มมีอาการอ่อนแรง ผิวหนังซีด อีกทั้งยังขับถ่ายออกมาเป็นก้อนเนื้อสีดำ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีความกังวลอย่างยิ่งต่อความเสี่ยงและอันตรายร้ายแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตของนักกิจกรรมทั้งสอง

โดยเฉพาะพริษฐ์ผู้อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวนานมากกว่า 45 วัน

การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมโดยไม่มีเหตุอันชอบธรรม

ตอกย้ำว่าทางการไทยไม่เคารพสิทธิในการได้รับพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

อีกทั้งยังขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาทุกคนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยืนยันว่ารัฐบาลต้องปล่อยตัวนักกิจกรรมเพื่อให้พวกเขามีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมเพียงเพราะการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมา

จากการดำเนินคดีต่อกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุมของรัฐนับตั้งแต่ปี 2563

ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในเดือนมีนาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 581 คน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 268 คดี

อย่างน้อย 88 คนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาใน 81 คดี

พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล คือหนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกแจ้งข้อหาตามมาตราดังกล่าวถึง 20 และ 9 คดี ตามลำดับ

มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญามีโทษสูงสุด 15 ปี พริษฐ์และปนัสยาจึงอาจถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

ศาลอาญา รัชดาภิเษก มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์และปนัสยา 8 และ 4 ครั้ง ตามลำดับ นับแต่ทั้งสองถูกสั่งฟ้องและไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2021 สำหรับพริษฐ์ และ 8 มีนาคม 2021 สำหรับปนัสยา

ทั้งสองถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วมากกว่า 79 วัน และมากกว่า 52 วัน โดยศาลอาญา รัชดาภิเษก ยังมิได้เริ่มกระบวนการสืบพยาน

นับเป็นการคุมขังบุคคลที่ยาวนานที่สุดนับแต่มีการชุมนุมประท้วงใหญ่ในเดือนกรกฎาคม และรัฐเริ่มใช้มาตรา 112 กลับมาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน

พริษฐ์ได้เริ่มอดอาหารตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 และปนัสยาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2564

โดยการอดอาหารเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 12 คนไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว และถูกคุมขังทั้งในชั้นสอบสวน ระหว่างรอสืบพยาน และระหว่างอุทธรณ์คดี

นางปิยนุช โคตรสาร

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

การใช้กฎหมายอย่าง “เข้มข้น”

ได้นำไปสู่ “ภาวะร้าวลึก” ในสังคมไทย

อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และบั่นเซาะสถาบันหลักของชาติ

มากยิ่งขึ้นทุกที

“การคืนสิทธิพื้นฐาน” ให้ลูกหลาน

ไม่ควรมีค่าใช้จ่ายมากมายขนาดนี้?!?