ถ้า ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ มาเกิดใหม่/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

ถ้า ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ มาเกิดใหม่

 

ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีการเขียนถึงกล่าวถึงรำลึกถึง “จิตร ภูมิศักดิ์” นักคิดนักเขียนและนักปฏิวัติคนสำคัญของสังคมไทย ซึ่งจบชีวิตลงในวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 2509 ด้วยถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิงตายที่ชายป่า ชายเขาภูพาน เขตจังหวัดสกลนคร

แม้จะจากไปในวัยเพียง 36 ปี ซึ่งถือว่าสั้นมาก แต่ผลงานผ่านหนังสือหลายเล่ม ผ่านบทเพลงหลายต่อหลายเพลง รวมทั้งวิถีชีวิตของความเป็นปัญญาชนที่กล้าคิดกล้าเขียน จนกระทั่งถูกจับกุมคุมขังเป็นกบฏ เป็นคอมมิวนิสต์ และสุดท้ายต้องเข้าป่าจับปืน เดินแนวทางปฏิวัติด้วยอาวุธ ที่เทือกเขาภูพาน ก่อนจะถูกยิงตายขณะลงมายังหมู่บ้าน

ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์ ได้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดอย่างสูงต่อนักเรียน-นักศึกษาในยุคต่อมา เป็นแบบอย่างที่ปัญญาชนในสังคมไทยยึดถือ กลายเป็นบุคคลที่ส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

นักศึกษาที่ร่วมก่อการต่อสู้ 14 ตุลาคม 2516 โค่นเผด็จการทหารนั้น ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากจิตร ภูมิศักดิ์ อย่างมาก

แล้วในช่วงหลัง 14 ตุลาคมนี่เอง ที่ผลงานวรรณกรรม งานแปล งานเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ได้รับการรื้อฟื้น ค้นหา นำมาเผยแพร่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

ยิ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อนักศึกษา-ประชาชนฝ่ายซ้ายถูกกวาดล้างอย่างโหดเหี้ยม ทำให้ต้องแห่เข้าป่าจับปืน

เรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ บนเทือกเขาภูพาน ยิ่งเป็นที่กล่าวขวัญ

เพลงภูพานปฏิวัติ ที่แต่งบนเทือกเขาตำนานการต่อสู้ของอีสาน กลายเป็นบทเพลงที่ยังร้องติดปากกันมาจนถึงวันนี้

ยิ่งเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ที่เขียนขณะถูกกังขังในเรือนจำ กลายเป็นเพลงที่นำมาร้องกันไปทั่วทุกม็อบ ทุกการชุมนุม!

ถ้านับจาก 5 พฤษภาคม 2509 ถึงวันนี้ก็ 55 ปีเข้าไปแล้ว

แต่ทั้งความคิด ทั้งงานเขียน บทกวี บทเพลง ยังคงโด่งดังและส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

ส่งผลทั้งต่อการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และหลังถูกปราบ 6 ตุลาคม 2519 ก็ส่งผลต่อนักศึกษา-ประชาชนที่เดินทางเข้าป่าจับอาวุธลุกขึ้นสู้

ที่สำคัญยังส่งผลต่อขบวนการนักเรียน-นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ที่ลุกขึ้นมาอีกครั้งในยุคปัจจุบันนี้

 

เมื่อพูดถึงช่วงชีวิตในวัยเป็นนิสิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มักจะมีคำเรียกจิตร ภูมิศักดิ์ ว่าผู้มาก่อนกาล เพราะกล้านำเสนอในสิ่งที่สังคมไทยในยุคนั้นต้องตื่นตะลึง จนกระทั่งโดนนิสิตฝ่ายขวาล้าหลัง จับโยนบกจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

หลังจากตายไปแล้ว แต่มักมีการกล่าวถึง การกลับมาเกิดใหม่ของจิตร ภูมิศักดิ์ หลายหน

เช่น กลับมาเกิดใหม่ในยุค 14 ตุลาคม หมายถึงมีอิทธิพลจนทำให้นักศึกษาลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย และในยุคที่เสรีภาพเบ่งบานนั้น เรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง จนเรียกกันว่า เป็นการกลับมาเกิดใหม่ สร้างผลสะเทือนให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

มองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คงไม่สามารถบอกได้ว่า คนตายไปแล้ว กลับมาเกิดใหม่ จริงหรือไม่!?

แต่มองในด้านจิตวิญญาณ อุดมการณ์ความเชื่อ ที่ทำให้คนยุคต่อๆ มาได้ซึมซับเข้าไปอยู่ในจิตใจ และปลุกให้คนกล้าสู้กล้าเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

อย่างนี้จะเรียกว่า กลับมาเกิดใหม่ก็ได้

เป็นปัญญาชนที่เป็นแบบอย่างให้กับปัญญาชนรุ่นหลังหลายยุคหลายสมัย

แม้แต่ในยุคปัจจุบัน ที่นักเรียน-นักศึกษาฟื้นคืนขบวนการต่อสู้อย่างเป็นขบวนใหญ่ เขย่าสังคมอย่างสั่นสะเทือน แหลมคมทะลุทะลวงเพดาน

แกนนำที่มีบทบาทในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพนกวิน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายอานนท์ นำภา, ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, รุ้ง หรือ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นต้น

จะเรียกว่าคือผลผลิต หรือเป็นการกลับมาเกิดใหม่ของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ว่าได้

โดยเฉพาะทนายอานนท์ ซึ่งใช้ภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กเป็นรูปจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นความกล้าหาญ นำเสนอปมประเด็นที่ท้าทาย มีความใกล้เคียงอยู่หลายประการทีเดียว

เพนกวินผู้รอบรู้ทางประวัติศาสตร์ และมีความสามารถทางภาษา ทางกวี ทางเพลงพื้นบ้าน จนหลายคนบอกว่า ยังกับจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นปราชญ์ทางภาษาและทางศิลปะศิลปิน

แม้แต่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่เส้นทางการเป็นนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกล้าเสนอสิ่งแปลกใหม่จนต้องเผชิญกับอะไรต่อมิอะไรมากมาย จนมีการเปรียบเทียบว่าเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ มาเกิดใหม่อีกราย จนเจ้าตัวต้องออกมาปฏิเสธฉายานี้ว่า ยังไม่มีความลึกซึ้งเท่า

แต่ในฐานะชาวจุฬาฯ เนติวิทย์เคยพยายามผลักดันการปั้นอนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ มาแล้ว

บรรดานักเรียน-นักศึกษา-ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ จึงเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก และบ่งบอกให้เห็นถึงอิทธิพลผลสะเทือนจากคนที่ตายไปเมื่อ 55 ปีมาแล้ว!

 

หลายคนบอกว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้มาเกิดใหม่หรอก แต่จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่เคยตายมากกว่า แม้จะถูกล้อมยิงจนดับดิ้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2509 แต่ความคิดอุดมการณ์และจิตวิญญาณ ยังคงปรากฏและโดดเด่นอยู่ในสังคมเราตลอดมา ไม่เคยจางหายไป

ในวันนี้บรรดาแกนนำม็อบราษฎรทั้งหลาย ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ สูญสิ้นอิสรภาพ ทุกข์ทรมานทั้งการใช้ชีวิตและทางจิตใจ

แต่ชัดเจนว่า ไม่มีแม้แต่รายเดียวที่จะยอมถอดใจ

ถ้าศึกษาจิตใจของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเคยถูกอำนาจเผด็จการจับกุมคุมขังมาแล้ว โดยพบว่าหลังจากพ้นคุกในปี 2507 ก็ไม่มีการถดถอยในการต่อสู้ โดยในปี 2508 เขาเดินทางเข้าป่าที่ภูพาน เดินแนวทางปฏิวัติเต็มตัว

ผลสะเทือนสำคัญจากช่วงที่ถูกจองจำของจิตร ภูมิศักดิ์ คือเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ที่เขียนระหว่างสิ้นอิสรภาพในเรือนจำนั่นเอง

เสมือนการมองผ่านช่องหน้าต่างคุก เห็นดวงดาวสว่างสดใสกลางความมืดมิด

โดยเฉพาะเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่กลายเป็นวรรคทอง เป็นคำขวัญที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่ว่า คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

เชื่อว่า บรรดาคนที่เดินบนเส้นทางการต่อสู้ เมื่อถึงช่วงยากลำบาก ต้องสูญสิ้นอิสรภาพ ต้องทุกข์ทรมานมากมายรอบด้านนั้น

แบบอย่างของจิตร ภูมิศักดิ์ และเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ที่สะท้อนจิตใจขณะถูกจองจำ จะต้องปรากฏอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของหลายๆ คนอย่างแน่นอน

เขาจึงเป็นผู้ที่ส่งผลทางความคิด

ทั้งปลุกให้คนตื่นขึ้นมาสู้ ปลุกให้ไม่ท้อถอยเมื่อเข้าสู่ช่วงทุกข์ยากลำเค็ญ และยืนเด่นท้าทายต่อไป

เหล่านี้แล้ว อาจจะเรียกว่า จิตร ภูมิศักดิ์ มาเกิดใหม่ในหลายยุคสมัย หรือยังเคยไม่เคยตาย ก็ว่าได้!