‘ธรรมนัส’ ทางสะดวก ชิงเลขาฯ พรรค ‘พลังประชารัฐ’ หลัง ‘ศาล รธน.’ ชี้คำพิพากษา ‘ออสซี่’ ไร้ปัญหานั่ง ‘รมต.’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘ธรรมนัส’ ทางสะดวก

ชิงเลขาฯ พรรค ‘พลังประชารัฐ’

หลัง ‘ศาล รธน.’ ชี้คำพิพากษา ‘ออสซี่’

ไร้ปัญหานั่ง ‘รมต.’

 

ศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยู่ในห้วงพักยกชั่วคราว ด้วยวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอก 3 ทวีความรุนแรง ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทุบสถิตินิวไฮ ยิ่งกว่าการระบาดในระลอกที่ 1 และ 2

ส่งผลให้บรรดาพรรคการเมืองที่มีวาระประชุมใหญ่สามัญพรรค เพื่อรายงานผลการดำเนินงานประจำปี ทั้งเรื่องรายรับ รายจ่าย สมาชิกพรรคใครเข้า-ออกบ้าง รวมทั้งบางพรรคอาจจะประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เพื่อปรับโครงสร้างเลือกผู้บริหารพรรคชุดใหม่มาขับเคลื่อนพรรค เป็นอันต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน

โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งออกประกาศให้พรรคการเมืองเลื่อนการประชุมพรรคออกไปก่อนได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมาตรา 43 และมาตรา 61 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

ทำให้ศึกการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร. โดยเฉพาะเก้าอี้เลขาธิการพรรค หรือ “แม่บ้านพรรค” ที่กลุ่มรัฐมนตรีในนาม “กลุ่ม 4 ช.” อันประกอบด้วย “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “สันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง “อ.แหม่ม” ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

และ “รมต.แบงค์” อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

พยายามผลักดันให้ “ผู้กองธรรมนัส” มานั่งเป็นเลขาธิการพรรค พปชร. แทน “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหนึ่งในสมาชิกของ “กลุ่ม 4 ว.” ได้แก่

“สมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กับสัญญาใจที่ว่าจะนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคเพียงแค่ 6 เดือน โดย “กลุ่ม 4 ว.” พร้อมส่ง “สมศักดิ์” ขึ้นมาประลองกำลัง ท้าชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรค

เป็นอันต้องพักยกชั่วคราว

 

แม้จะอยู่ในช่วงพักยกแคนดิเดตชิงเก้าอี้แม่บ้านพรรค พปชร. ยังคงต้องลุ้นกับขวากหนามทางการเมืองในช่วงโควิดระบาด โดย “สมศักดิ์” ต้องเจอกับข้อครหา “คลัสเตอร์สุโขทัย” หลังร่วมรับประทานอาหารกับคนใกล้ชิด ที่ร้านคาเฟ่ เดอทรี จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิดในงานดังกล่าวนับสิบราย

จนมีกระแสข่าวว่า “สมศักดิ์” เป็นรัฐมนตรีการ์ดตกจนตัวเองติดโควิด และยังเป็นต้นตอให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกด้วย แม้ “สมศักดิ์” จะโล่งอกกับผลการตรวจเชื้อในรอบ 2 วันไม่ติดเชื้อโควิด

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้อนของ “เสี่ยจ๊อบ” สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เจอพิษส่งลูกน้องสอบหลักสูตรภาษาอังกฤษระดับปริญญาเอกแทนตัวเอง เป็นผลให้ถูกตัดสิทธิ์จากวิชาเรียนดังกล่าว พร้อมกับถูกพรรค พปชร.สอบซ้ำจนนำมาซึ่งการให้เจ้าตัวพ้นทุกตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับแต่งตั้ง

แม้ “สามารถ” จะไม่ใช่เด็กสายตรงของ “สมศักดิ์” แต่ได้รับการฝากฝังมาจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อนซี้นายกรัฐมนตรี แต่เมื่อมามีตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม จึงอดกระทบชิ่งมาถึง “สมศักดิ์” ไม่ได้

 

ขณะที่ในฝั่งของคู่ชิงเก้าอี้ “แม่บ้านพรรค พปชร.” อย่าง “ผู้กองธรรมนัส” หลังจากต้องลุ้นกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ 51 ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัสสิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด ที่แม้เป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

กรณีดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98(10) หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวว่า ประเด็นที่หนึ่ง สมาชิก ส.ส.ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด มีข้อพิจารณาก่อนว่า คำว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10 ) เป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หมายความถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ วรรคสอง บัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม

ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จ.พะเยา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ผู้ถูกร้องรับว่าตนเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาธ์เวลส์ โดยการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นการใช้อำนาจตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือภายใต้อำนาจตุลาการของรัฐอื่น

อีกทั้งหากตีความว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด” หมายความรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว และขัดต่อหลักการต่างตอบแทน กล่าวคือ ศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับหรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาธ์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10 ) สมาชิกภาพ ส.ส.ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6 ) ประกอบมาตรา 98(10 ) และเมื่อได้วินิจฉัยประเด็นแรกไว้แล้วว่าผู้ถูกร้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(10 ) ความเป็นรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98(10)

 

นั่นเท่ากับว่า ขวากหนามทางการเมืองของ “ร.อ.ธรรมนัส” จึงสะดวกโยธิน พร้อมเดินหน้าในถนนการเมืองต่อไป

โดยเฉพาะศึกชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรค พปชร. เมื่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มสงบลง

การเมืองภายในพรรค พปชร.ระหว่าง “กลุ่ม 4 ช.” กับ “กลุ่ม 4 ว.” จะอุบัติขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวแม่บ้านพรรค

ส่วน “ชื่อไหน” และ “กลุ่มใด” จะเข้าป้ายนั่งเลขาธิการพรรค พปชร.คนใหม่

คงต้องวัดบารมีของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.ว่าจะสยบศึกภายในพรรค พปชร.ได้หรือไม่