เอสเอ็มอี-ร้านอาหาร ดิ้น ร้อง ศบค.ทบทวน-ไฟเขียว นั่งกินในร้าน+มาตรการเยียวยา/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

เอสเอ็มอี-ร้านอาหาร ดิ้น

ร้อง ศบค.ทบทวน-ไฟเขียว

นั่งกินในร้าน+มาตรการเยียวยา

 

หลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ออกมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเป็นระยะเวลา 14 วัน ใน 6 จังหวัดสีแดงเข้ม กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารทั้งค่ายใหญ่-ค่ายเล็ก รวมถึงเอสเอ็มอีจำนวนมาก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

บางรายแบกรับต้นทุนไม่ไหวต้องจำใจปิดให้บริการไป ส่วนร้านที่ยังเปิดต้องหันมาพึ่งพาช่องทางเดลิเวอรี่และซื้อกลับบ้าน ควบคู่กับการบริหารต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เพื่อประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อได้

แต่อีกด้านหนึ่ง ผลพวงของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิต ที่อยู่ในช่วง “ขาขึ้น” และไม่มีท่าทีว่าจะลดลงง่ายๆ ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นกังวล และลดความเสี่ยงด้วยการกักตัวอยู่บ้าน ไม่ออกไปสถานที่เสี่ยง ซึ่งกระทบกับศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ทำให้ทราฟฟิกหายไปถึง 70-80%

นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหากำลังซื้อที่หนักหน่วง และมู้ดการจับจ่ายที่หายหดหมดสิ้นลงในทุกระดับ

 

เป็นที่มาของความเคลื่อนไหวสมาคมภัตตาคารไทย ที่นำโดย “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกในฐานะผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารที่เป็นสมาชิกกว่า 5 แสนราย ได้ทำหนังสือยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 เพื่อขอให้ทบทวนมาตรการที่ประกาศออกไป

พร้อมกับย้ำว่า หากยังใช้มาตรการนี้เต็มทั้ง 14 วัน จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1,400 ล้านบาทต่อวัน รวมถึงธุรกิจร้านอาหารมีห่วงโซ่เชื่อมโยงต่อธุรกิจอื่นๆ มากมาย โดยเฉพาะภาคการเกษตร

อันเป็นที่มาของข้อเรียกร้องให้อนุญาตให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. (งดนั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน)

โดยเฉพาะร้านอาหารที่ได้รับตรามาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (เอสเอชเอ) ที่มีอยู่กว่า 2,000 ราย ส่วนร้านอาหารที่ยังไม่ได้ตราสัญลักษณ์เอสเอชเอ ขอให้พิจารณาอนุญาตกลับมาให้นั่งรับประทานในร้านได้เช่นกัน โดยมีข้อบังคับให้ร้านอาหารประเภทดังกล่าวดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องขอการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารที่ถูกกระทบจากโควิดตั้งแต่รอบแรกจนมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารประสบกับปัญหาด้านการเงินอย่างมาก

โดยขอรัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้าง เงินเดือน 50% งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปี ผ่อนผันการชำระดอกเบี้ย 6 เดือน และพักการชำระเงินต้น 1 ปี

รวมทั้งขอให้รัฐบาลโดย ศบค.ประสานเจ้าของห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่าอย่างน้อย 50% โดยเจ้าของพื้นที่ที่ให้ส่วนลดสามารถนำไปลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลในรอบบัญชีถัดไป

 

สอดคล้องกับความเห็นของ “บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหารรายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ธุรกิจร้านอาหารทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด

โดยรายใหญ่จะหนักเรื่องการดูแลพนักงาน และต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ที่ค่อนข้างสูง

ส่วนผู้ประกอบการรายเล็ก ต้องเจอปัญหาสภาพคล่องรวมถึงปัญหาเรื่องเงินกู้ ทุกค่ายพยายามปรับตัวไม่ว่าจะเป็นช่องทางเดลิเวอรี่ หรือการซื้อกลับบ้าน แต่ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ ถ้าเทียบกับภาวะปกติ จึงต้องหันมาให้ความสำคัญในการบริหารต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อประคับประคองให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไป

“ต้องยอมรับว่าโควิดรอบนี้หนักกว่าที่ผ่านมา วันนี้รายได้หายไปกว่า 70% ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลพนักงานรวมถึงแบกรับต้นทุนต่างๆ โดยสิ่งที่ภาครัฐควรทำอย่างเร่งด่วนคือการจัดหาวัคซีนทางเลือก และเร่งฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนที่ประเทศจะเสียหายไปมากกว่านี้”

ทางด้าน “ไมเนอร์ฟู้ด” ผู้บริหารร้านอาหารรายใหญ่ที่มีแบรนด์ต่างๆ อยู่ในพอร์ตฟอลิโอกว่า 8 แบรนด์ รวมร้านอาหารในเครือกว่า 1,430 สาขาทั่วประเทศ ต้องปรับแผนเพื่อรับมือกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดย “ประพัฒน์ เสียงจันทร์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เล่าว่า ตอนนี้ธุรกิจร้านอาหารเจอเหมือนกันหมด ร้านที่เปิดอยู่ยังต้องหารายได้เพื่อลดค่าใช้จ่าย และต้องมีการพิจารณาปิดสาขาชั่วคราวในบางพื้นที่

สิ่งสำคัญคือจะหารายได้มา Cover ร้านที่ปิดอยู่อย่างไร สำหรับร้านอาหารในเครือของไมเนอร์ ฟู้ด ได้หันมาให้ความสำคัญในการรุกตลาดเดลิเวอรี่ ด้วยโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า เดลิเวอรี่ไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด โดย 6 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม คิดเป็นรายได้กว่า 60% ของเครือไมเนอร์ฟู้ดทั้งหมด

“ถ้าหากเป็นไปได้อยากจะให้รัฐบาลพิจารณาให้เราเข้าร่วมในโครงการหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทำมาโดยตลอด อาทิ ม.33 หรือคนละครึ่ง” คีย์แมนไมเนอร์ฟู้ดย้ำ

 

เช่นเดียวกับบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายๆ รายที่ส่งเสียงสะท้อนไปในทิศทางเดียวกัน โดย “กุลวัชร ภูริชยวโรดม” ผู้บริหารร้านอาหารจานด่วนญี่ปุ่น “โชนัน” ยอมรับว่า สถานการณ์รอบนี้หนักมาก ไม่เหมือนครั้งก่อน สาขาส่วนใหญ่เราอยู่ในศูนย์ปรับมาขายเดลิเวอรี่และซื้อกลับบ้าน

แต่วันนี้ เดลิเวอรี่ไม่ได้ตอบโจทย์เหมือนปีที่ผ่านมาแล้ว เนื่องจากผู้คนต้องประหยัดค่าใช้จ่าย และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือทราฟฟิกภายในศูนย์การค้าลดลงไม่ต่ำกว่า 80-90% คนเงียบมาก ต้องทำใจ รายได้ต้องหายไปเกินครึ่งแน่นอน

ด้าน “ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี” เจ้าของร้านเพนกวินอีทชาบู แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า หลังครบกำหนดห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน 14 วัน และโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ศบค.อาจขยายมาตรการออกไปอีก

ถ้าถึงเวลานั้นอาจจะต้องพิจารณาปิดสาขาถาวร โดยอาจจะเริ่มจากสาขาที่แย่ที่สุด 1-3 แห่ง เพื่อนำเงินมาประคองสาขาอื่นๆ ที่ยังเปิดให้บริการอยู่ จากสาขาทั้งหมด 8 สาขา จริงๆ อยากขอให้เข้ามาช่วยเจรจากับเจ้าของพื้นที่เช่า ให้ช่วยลดค่าเช่า และอยากให้ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าถึงซอฟต์โลนได้บ้าง

ขณะที่สตาร์ตอัพร้านกาแฟชื่อดัง โดย “มารุต ชุ่มขุนทด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด หรือเจ้าของร้านกาแฟคลาส คาเฟ่ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Marut Chumkuntod ระบุว่า

“ตอนนี้สภาพแย่สุดคือ ร้านในห้าง ห้างลดค่าเช่า 30% แต่ก็ไม่มีคนซื้อแล้ว โดนเดลิอีก 30%+ค่าเช่า 30% = 60% โดนค่าเช่าค่าส่งไปแล้ว ยังไม่โดนค่าวัตถุดิบ+ค่าแรง+ค่าโคสะนา ยิ่งทำยิ่งเข้าเนื้อ แต่ก็ต้องทำเพื่อให้ลูกน้องมีงานทำ เจรจาเดี่ยวๆ กับแพลทฟอร์มใหญ่คงไม่มีใครสนใจ…”

 

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่ประสานเป็นเสียงเดียวกันนั้น ดูเหมือนจะยังไม่มีท่าทีขานรับจากรัฐบาลต่อข้อเรียกร้องเหล่านั้น

มีเพียงข้อความที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคที่ผ่านมา โดยระบุว่า

“…ได้ประชุมกับคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนและธุรกิจต่างๆ รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุด ในขณะที่เราจำเป็นต้องเข้มงวดในเรื่องสาธารณสุขและการยับยั้งควบคุมโรคระบาด สิ่งสำคัญที่ผมเน้นย้ำกับคณะทำงาน คือเราต้องรีบออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนและการทำมาค้าขายต่างๆ อย่างรวดเร็วที่สุด ช่วงเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ที่ประชาชนต้องเผชิญสถานการณ์อันยากลำบากอย่างร้ายแรงจากโควิด-19 จนถึงตอนนี้ทุกคนเดือดร้อนกันอย่างสาหัส และยิ่งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วน…”

ข้อความนี้อาจจะช่วยให้ดูมีความหวังขึ้นมาบ้าง

แต่ที่สุดแล้วก็ยังคงต้อง “ลุ้นและรอ”…จนกว่าจะมีคำตอบจากสวรรค์