สัมพันธ์ระอุ ‘โสมแดง-สหรัฐ’ ในยุคของประธานาธิบดีไบเดน/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

สัมพันธ์ระอุ ‘โสมแดง-สหรัฐ’

ในยุคของประธานาธิบดีไบเดน

 

หลังจากการก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสายเหยี่ยว หลายต่อหลายนโยบายของรัฐบาลสหรัฐ ก็ดูเหมือนจะมีการปรับเปลี่ยนไป

แต่ดูเหมือนสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ดูจะไม่ได้ดีขึ้น

หลังจากเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้กล่าวว่า รัฐบาลของเขาจะจัดการกับภัยคุกคามจากโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ผ่านวิธีทางการทูต รวมไปถึงการป้องปรามอย่างเข้มงวด

ซึ่งคำกล่าวดังกล่าว สร้างความขุ่นเคืองให้แก่เกาหลีเหนืออย่างมาก

โดยสำนักข่าวกลางเกาหลี หรือเคซีเอ็นเอ กระบอกเสียงของเกาหลีเหนือ รายงานว่า นายควอน จุง กุน เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า “แถลงการณ์ของเขา (ไบเดน) เป็นการสะท้อนอย่างชัดเจนถึงความจงใจที่จะบังคับใช้นโยบายอันเป็นปฏิปักษ์กับเกาหลีเหนือ เหมือนกับที่ทำมาตลอดกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา”

นายควอนกล่าวอีกว่า สหรัฐอ้างเรื่องการทูต ซึ่งเป็นการป่าวประกาศที่หลอกลวง เพื่อปกปิดการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์เอาไว้ และพยายามโน้มน้าวให้มีการ “ป้องปราม” ด้วยการอ้างเรื่องภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

และว่า ตอนนี้จุดสำคัญของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับนโยบายใหม่ที่มีต่อเกาหลีเหนือ เป็นที่แน่ชัดแล้ว ซึ่งเกาหลีเหนือก็จะเดินหน้ามาตรการตอบโต้กลับไปเช่นกัน

เป็นการออกมาตอบโต้ที่รุนแรงต่อไบเดน และถือว่าเป็นการ “ข่มขู่” ว่าจะถูกตอบโต้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ทำเนียบขาวแจ้งว่า ประธานาธิบดีสหรัฐได้เปิดกว้างที่จะเจรจากับเกาหลีเหนือเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากการทบทวนนโยบายเสร็จสิ้นลง

แต่ทางรัฐบาลเปียงยางระบุว่า ไบเดนได้กระทำ “ผิดพลาดอย่างร้ายแรง”

โดยทำเนียบขาวระบุด้วยว่า เป้าหมายของสหรัฐยังคงเป็นเรื่องการปลดนิวเคลียร์ทั้งหมดบนคาบสมุทรเกาหลี

เจน ซากี โฆษกของไบเดนเองก็ให้รายละเอียดไม่มากเกี่ยวกับความริเริ่มด้านการทูตว่าเป็นอย่างไร แต่ระบุว่า ไบเดนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประธานาธิบดีสหรัฐคนก่อนๆ ที่ต้องเจอกับปัญหาในการจัดการกับผู้นำของเกาหลีเหนือและโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือมาก่อน

แต่ซากีบอกว่า รัฐบาลวอชิงตันจะไม่มุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จในการเจรจา ซึ่งหมายถึงการทำข้อตกลง ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยริเริ่มเอาไว้ว่าอาจจะเป็นไปได้ เมื่อครั้งที่ทรัมป์ได้พบกับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ

แต่ทำเนียบขาวจะเดินตามรอยนโยบายอันสุขุมของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา แทน

 

ในแถลงการณ์แยกต่างหากอีกชิ้นหนึ่ง ที่เคซีเอ็นเอนำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เกาหลีเหนือยังได้กล่าวหาสหรัฐอเมริกาว่า ดูถูกผู้นำของเกาหลีเหนือ และมาตรการการต่อต้านไวรัสของเกาหลีเหนือ

แถลงการณ์ดังกล่าว หมายถึงคำแถลงของเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ที่ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเกาหลีเหนือ และเรื่องความเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องโรคโควิด-19 โดยระบุว่า เกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในรัฐที่มีการปราบปรามและเป็นเผด็จการมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือแถลงโต้ว่า ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐพยายามที่จะโน้มน้าวนั้น เป็นเพียงแค่อุบายทางการเมือง ที่ออกแบบมาเพื่อทำลายคตินิยมและระบบสังคมในเกาหลีเหนือ

 

และแถลงการณ์ที่ 3 ที่ออกมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมเช่นกัน เป็นของคิม โย จอง น้องสาวผู้ทรงอำนาจของนายคิม จอง อึน ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อเกาหลีใต้ ที่ปล่อยให้กลุ่มผู้แปรพักตร์โปรยใบปลิวต่อต้านเกาหลีเหนือ

ซึ่งการโปรยใบปลิวต่อต้านเกาหลีเหนือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอยู่แล้ว โดยนักเคลื่อนไหวต่อต้านเกาหลีเหนือจะร่วมใส่ใบปลิวต่อต้านเกาหลีเหนือเข้าไปในบอลลูน บริเวณชายแดนสองประเทศ แล้วปล่อยให้บอลลูนลอยเข้าฝั่งเกาหลีเหนือ

โดยคิม โย จอง ได้ออกมาต่อว่าทางการเกาหลีใต้ว่า “ไม่ยอม” หยุดยั้งการกระทำของคนเหล่านี้ ซึ่งเกาหลีเหนือมองว่าเป็นการกระทำอันยั่วยุที่ร้ายแรง และจะมองหาวิธีการจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป

แม้เกาหลีเหนือดูจะไม่ได้เดือดร้อนกับการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน หากแต่สถานการณ์ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศในตอนนี้ ดูจะระอุอยู่ไม่น้อย