ศิลปินผู้เปลือยปลิ้น ความบิดเบี้ยวในใจมนุษย์ : อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่แล้วได้พูดถึงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยและอินโดนีเซียที่จัดแสดงในกรุงเทพฯ ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ

บังเอิญว่าผลงานของศิลปินอินโดนีเซียคนหนึ่งที่แสดงงานในนิทรรศการนี้ได้แรงบันดาลใจจากศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อีกคนในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ที่ผมยังไม่ได้เขียนถึง เลยถือโอกาสเขียนถึงในตอนนี้เสียเลย

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon)

จิตรกรชาวอังกฤษ (อย่าจำสลับกันกับนักปรัชญาชาวอังกฤษแห่งศตวรรษที่ 17 ที่มีชื่อนามสกุลเดียวกันเป๊ะๆ ล่ะ!) ผลงานของเขาส่วนใหญ่จะเป็นภาพวาดอันบิดเบี้ยวขององคาพยพร่างกายมนุษย์ ที่เหมือนกับถูกปลิ้นเอาอวัยวะภายในออกมาข้างนอก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจอันไร้ความมั่นคงและความสกปรกโสมมที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจคน

Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion c.1944 Francis Bacon 1909-1992 Presented by Eric Hall 1953 http://www.tate.org.uk/art/work/N06171

นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้แหวกขนบธรรมเนียมของการวาดภาพแนวประเพณีนิยมโดยสิ้นเชิง

โดยนำรูปแบบของภาพเขียน 3 ช่อง (Triptych) ที่มักวาดกันบนผนังแท่นบูชาของโบสถ์คริสต์ที่เป็นเรื่องราวทางศาสนาหรือนักบุญ มาใช้ในการวาดภาพที่แสดงถึงความชั่วร้ายเลวทรามของมนุษย์ออกมา

เกิดวันที่ 28 ตุลาคม ปีค.ศ. 1909 ณ เมืองดับลิน ไอร์แลนด์ ในครอบครัวชาวอังกฤษ

แต่เขาหนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 16 เขาย้ายไปอยู่ที่ปารีสระยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาอาศัยอยู่ที่ลอนดอนในที่สุด

เขาวาดภาพชุดแรก ๆ ในปี 1930 ในปี 1934 เขามีงานแสดงครั้งแรก แต่ผลตอบรับค่อนข้างย่ำแย่จนเขาถึงกับทำลายงานส่วนใหญ่ไปเกือบหมด

ด้วยโรคหอบหืดเรื้อรังทำให้เขาได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร

ในขณะเดียวกันกับที่เรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเริ่มแพร่กระจายมาถึงอังกฤษ

เบคอนสร้างผลงานชุด Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion (1944) โดยได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด Guernica ของปิกัสโซ และผลงานศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสม์ของดาลี มันถูกแสดงในแกลเลอรี่ Lefervre ในลอนดอน

ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกแก่สาธารณชนและนักวิจารณ์จากความทุกข์ทรมานและความบิดเบี้ยวของมัน

แต่ในขณะเดียวกันมันก็ถูกยกย่องให้เป็นงานของศิลปินอัจฉริยะ

และประกาศตัวเป็นสไตล์ใหม่ของศิลปะอังกฤษอันเกรี้ยวกราด

หลังจากนั้นเบคอนก็กลายเป็นไอคอนของวงการศิลปะโลกในลอนดอน

ฟรานซิส เบคอน เริ่มต้นทำซีรี่ส์ “ศีรษะ” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ ในภาพ Head I (1948) ภาพใบหน้าคนอันบิดเบี้ยวผสมกับหน้าลิงบาบูนแยกเขี้ยวที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดรวดร้าว ชิงชัง

ภาพวาดของเบคอนมักจะแสดงออกถึงความไม่มั่นคง ตัวตนของเขาก็มีบุคลิกที่เข้าใจยาก

แต่อิทธิพลทางศิลปะของเขาที่มีต่อวงการศิลปะอังกฤษ (และของโลก) ในศตวรรษที่ 20 ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้เลย

เบคอนได้แรงบันดาลใจจากศิลปินยุคก่อนหน้า อาทิ เรมบรันต์, โกย่า, ปุสแซง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดิเอโก เบลาสเควซ รวมถึงหนัง Battleship Potemkin (1925) ของผู้กำกับชั้นครูชาวรัสเซีย เซอร์ไก ไอเซนสไตน์ และช่างภาพอย่าง เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์

อย่างในภาพวาด Head VI ที่เบคอนทำขึ้นเพื่อเป็นการคารวะปนเสียดสีภาพวาด Portrait of Innocent X (1644 – 1655) ซึ่งเป็นภาพเหมือนของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 ที่วาดโดยศิลปินชั้นครูในอดีตอย่างเบลาสเควซ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของภาพ Study after Vel?zquez”s Portrait of Pope Innocent X (1953) หรือในชื่อเล่นว่า “The Screaming Pope” (สันตปาปาผู้กรีดร้อง)

และภาพ Figure with Meat (1954) อันลือลั่นอื้อฉาวของเขา ซึ่งได้แรงบันดาลใจอีกส่วนมาจากความทรงจำในวัยเด็กที่เติบโตอยู่ภายใต้ความเคร่งครัดเข้มงวดของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิคในไอร์แลนด์ รวมถึงความทรงจำที่เขาถูกจับขังและกรีดร้องในตู้เสื้อผ้า

ภาพวาดชุดสันตะปาปานั้นเชื่อมโยงกับความโกรธแค้นของเขาที่มีต่อวาติกันซึ่งว่ากันว่าสมรู้ร่วมคิดกับพรรคนาซี

เบคอนหยิบเอาความอาฆาตมาดร้ายนี้มาขยายให้ใหญ่ขึ้น และแสดงความโกรธเกรี้ยวของเขาที่มีต่อศาสนามาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย แทนที่จะเป็นบัลลังก์ สันตะปาปาในภาพของเบคอนกลับนั่งอยู่บนเก้าอี้ไฟฟ้า

ส่วนบนของศีรษะหายไป

ปากเปิดกว้างอย่างน่าสยดสยองราวกับกำลังกรีดร้องหรือกำลังดูดกลืนชีวิตออกจากโลกใบนี้กันแน่?

ศาสนาเป็นหนึ่งในสิ่งที่เบคอนชิงชังอย่างใหญ่หลวง ในฐานะที่เขาเป็นเกย์ที่อาศัยอยู่ในโลกอันเคร่งศาสนาที่ก่นด่าประณามเพศสภาพของเขา

เขาผลิตภาพวาดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรักร่วมเพศอันล่อแหลมออกมามากมายเพื่อท้าทายกฎหมายต่อต้านการรักร่วมเพศในสหราชอาณาจักร

ซึ่งผลงานของเขาเหล่านี้เองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ว่านี้ในเวลาต่อมา

แต่น่าเศร้าที่ชีวิตส่วนตัวเขากลับพัวพันกับความรุนแรงในความสัมพันธ์กับอดีตนักบินขับไล่ขี้ยาซาดิสต์ ปีเตอร์ เลซี

ด้วยชื่อเสียงที่โด่งดังพอ ๆ กับอาการติดสุราเรื้อรัง และชีวิตที่บิดเบี้ยวไม่ต่างกับงานศิลปะที่เขามักจะเลียนแบบจากชีวิตของตัวเอง เมื่อ จอร์จ ไดเยอร์ ชู้รักและนายแบบคนโปรดอีกคนของเขาฆ่าตัวตายในปารีสปี 1971 สองวันก่อนที่เขาจะเปิดงานแสดงในปารีส

เบคอนวาดภาพ Triptych May-June, 1973 ซึ่งเป็นภาพไดเยอร์ตายอย่างโดดเดี่ยวและอัปภาคย์

ฟรานซิส เบคอน เสียชีวิตในวันที่ 28 เมษยน ปีค.ศ. 1992 จากอาการหัวใจล้มเหลวด้วยวัย 82 ปี

ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเขาได้รับการสรรเสริญพอ ๆ กับสาบส่ง มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกหญิงเหล็กของอังกฤษนิยามเขาว่าเป็น “ชายผู้วาดภาพอันน่าสะพรึงกลัว”

ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต มูลค่าภาพวาดของเขากลับสูงขึ้น ๆ ในปี 2013 ภาพวาด Three Studies of Lucian Freud, 1969 ของเขาได้รับการบันทึกว่าเป็นผลงานศิลปะที่ถูกประมูลไปในราคาแพงที่สุดที่เคยมีการประมูลมา ด้วยราคา 142 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถึงแม้ผลงานอันแปลกประหลาดและเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงอุปนิสัยอันพิลึกพิลั่นของเขาจะทำให้ตามรอยได้ยากว่าผลงานของเขามีอิทธิพลต่องานศิลปะร่วมสมัยเช่นไรบ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานของเขาก็ยังส่งอิทธิพลอย่างชัดเจนต่อศิลปินร่วมสมัยผู้โดดเด่นอย่าง จูเลียน ชนาเบล (Julian Schnabel)

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เดเมียน เฮิร์สต์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของฟรานซิส เบคอน อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงาน A Thousand Years, 1990 ของเฮิร์สต์ ที่ทำขึ้นเพื่อเป็นการสดุดีให้แก่ ฟรานซิส เบคอน โดยเฉพาะ

ว่ากันว่าตัวเบคอนเอง ก็ได้มาชื่นชมผลงานนี้ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิตอีกด้วย

ฟรานซิส เบคอน ได้รับการนิยามว่าเป็นศิลปินผู้มีความเป็นกวีที่โหดเหี้ยมไร้การประนีประนอมที่สุดในปลายยุคศตวรรษที่ 20 ของอังกฤษ หรืออันที่จริงก็ของโลกด้วยซ้ำ

เขาได้รับการยกย่องเคียงคู่กับศิลปินนามธรรมผู้ยิ่งใหญ่อย่าง วิลเลียม เดอ คูนนิ่ง (Willem de Kooning) ให้เป็นจิตรกรคนสำคัญที่สุดที่วาดภาพอันน่าหวาดหวั่นของร่างกายมนุษย์

รวมถึงเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ผู้เปิดเผยเปลือยปลิ้นความบิดเบี้ยวในจิตใจมนุษย์ออกมาให้เราได้เห็นอย่างจะแจ้งถึงแก่นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้