เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท/Polk Legend L200 Large Bookshelf Speakers

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

Polk Legend L200

Large Bookshelf Speakers

 

จากทวีตเตอร์แบบใหม่ที่กล่าวไปเที่ยวก่อน อีกนวัตกรรมอันโดดเด่นของลำโพงอนุกรมนี้ คือ Turbine Cone ที่ขึ้นรูปด้วย Polymer แบบ Foam-Core ด้วยการหล่อให้มีสันนูนลักษณะคล้ายครีบกังหันหรือระหัดวิดน้ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มความแกร่งให้กับกรวย รวมทั้งลดแรงสั่นสะเทือนลงได้มาก โดยที่มิพักต้องเพิ่มมวลวัสดุแต่อย่างใด ทำให้ได้คุณสมบัติในการ Damping ที่ดีขึ้น โดยผนึกเข้ากับขอบยางสังเคราะห์แบบ Nitrile-Butadiene Rubber ที่มีคุณสมบัติด้านความทนทานและมีความเสถียรสูง ส่งผลให้การถ่ายทอดคลื่นเสียงเป็นไปอย่างราบรื่น นุ่มนวล มีความต่อเนื่องและอุดมไปด้วยรายละเอียด ทั้งเสียงกลางและเบส

นอกจากชุดตัวขับเสียงแบบใหม่แล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจและเป็นพัฒนาการใหม่ที่ Polk นำมาใช้กับลำโพงในอนุกรมนี้ คือ เทคโนโลยีของ Port หรือท่ออากาศที่ทำงานเสริมคลื่นความถี่ต่ำแบบ Power-Port

ซึ่งเป็นท่อเบสที่เป็นเอกลักษณ์ของ Polk แต่ไหนแต่ไรมา โดยในลำโพงรุ่นนี้ได้รับการปรับปรุง และปรับแต่งรูปทรงทางด้านเรขาคณิต เพื่อให้การลื่นไหลของมวลอากาศมีความราบรื่นมากขึ้น ปลอดเสียงรบกวนอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะปลอดจาก Noise ที่มักจะเกิดขึ้นขณะคลื่นเสียงกำลังจะผ่านพ้นขอบของปากท่อออกมา ทำให้เบสสะอาดและทรงพลังมากขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อทำงานร่วมกับวูฟเฟอร์ที่เป็นแบบช่วงชักลึก (Long-Throw Woofer) และถูกออกแบบมาให้ทำงานในลักษณะ Dual High-Excursion เป็นการเสริมให้เสียงเบสทำงานลงไปได้ต่ำลึกกว่าเดิม ทั้งมีความหนักแน่น กระชับ และขับพลังออกมาให้รับรู้ถึงความแตกต่างไปจากเบสของลำโพงทั่วๆ ไปได้เป็นอย่างดี

ทั้งยังเป็นเบสที่มีความสมดุลสูง เหมาะกับการนำไปใช้งานทั้งดูหนังและฟังเพลง ด้วยมิได้ให้รู้สึกว่าให้ออกมามากเกินหรือมีน้อยเกินไปนั่นเอง

 

อีกสิ่งที่ Polk Audio ให้ความสำคัญมาตั้งยุคต้นๆ ของการออกแบบและผลิตลำโพงรุ่นแรกๆ ออกมาสู่วงการ ก็คือตู้ลำโพง ซึ่งการทำตู้ลำโพงของค่ายนี้เป็นแบบ Hand-Made มาตั้งแต่แรก ภายใต้ความเชื่อและปรัชญาในการออกแบบที่ว่า ตู้ลำโพงควรมีความสวยงาม ประณีต เป็นสิ่งบ่งบอกความโดดเด่นของงานฝีมือ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรเพิ่มอะไรเข้ามาในน้ำเสียงที่นำมาเล่นกลับ นั้นเอง, ที่ตู้ลำโพงของค่ายนี้นอกจากจะถูกออกแบบมาอย่างประณีตพิถีพิถันแล้ว ยังผ่านการคิดคำนวณทางด้านวิศวกรรมมาอย่างละเอียด เพื่อให้คลื่นเสียงที่ถ่ายทอดออกมามีความนิ่ง เสถียร สะอาด ถูกต้อง โดยปลอดจากการเสริมและหักล้างกันเองของคลื่นเสียงภายในตู้อย่างสิ้นเชิง

ตั้งแต่วันแรกที่ทำลำโพงออกมาจนทุกวันนี้ โครงสร้างตู้ลำโพงของ Polk เป็นไม้จริงแบบ Real Wood ที่ให้ประสิทธิภาพการทำงานอันยอดเยี่ยม ซึ่งสามารถถ่ายทอดน้ำเสียงที่ผ่านการบันทึกจากการทำซ้ำออกมาได้อย่างสัตย์ซื่อ และด้วยความเที่ยงตรงอย่างถึงที่สุด

Polk Legend Series ประกอบไปด้วยลำโพงทั้งหมด 5 รุ่น ด้วยกัน แบ่งออกเป็นลำโพงแบบวางพื้น หรือ Floor-Standing Tower Speakers สองรุ่น (Legend L800 และ Legend L600) ลำโพงแบบประกอบขาตั้ง หรือ Stand-Mounted Speakers สองรุ่น (Legend L200 และ Legend L100) และลำโพงสำหรับเซ็นเตอร์ แชนเนล หรือ Centre Speaker หนึ่งรุ่น (Legend L400)

นอกจากนี้ ยังมีลำโพงแบบโมดูลสำหรับรังสรรค์บรรยากาศเสียงด้านบน หรือ Height Module Speaker สำหรับวางบนลำโพงวางพื้นอีกหนึ่งรุ่น (Legend L900)

 

สําหรับลำโพงในอนุกรมนี้ที่จะนำมาให้รู้จักกันเที่ยวนี้ เป็นลำโพงรุ่นใหญ่ของกลุ่มลำโพงแบบวางหิ้ง ที่เวลาใช้งานจริงต้องประกอบเข้าขาตั้ง คือ Model Legend L200 ครับ

Polk Legend L200 เป็นลำโพงแบบวางหิ้งขนาดกลางค่อนไปข้างใหญ่ แบบ Large Bookshelf Speakers แต่ทั้งคู่ (ลำโพงซ้าย/ขวา) บรรจุมาในกล่องเดียวกัน ซึ่งมั่นคง แข็งแรง และหนักเอาการเอางานดี เพราะน้ำหนักรวมกล่องบรรจุภัณฑ์นั้นกว่ายี่สิบกิโล (กรัม) นั่นเทียว

ลำโพงคู่นี้มาถึงผมแบบมองปราดก็รู้ ว่าตั้งแต่ลงกล่องปิดผนึกเรียบร้อยจากโรงงานกระทั่งมาถึงห้องผมนั้น ระหว่างทางยังไม่มีใครแกะลำโพงคู่นี้ออกจากกล่องมาเป็นแน่แท้

ซึ่งนั้นเป็นเรื่องไม่บ่อยครั้งดอกนะครับ ที่จะมีลำโพงใหม่มาให้แกะกล่องแบบ ‘เปิดซิง’ เอาเอง

ลำโพงแต่ละตัวบรรจุลงกล่องอยู่ในที่ทางเฉพาะเพื่อกันกระแทก โดยแต่ละชิ้นมีถุงบรรจุแยกต่างหาก หลังจากดึงตัวลำโพงออกมาจากถุง เห็นแผงตะแกรงหน้ากากซึ่งมีถุงพลาสติกบรรจุต่างหากนั้น มีป้ายสติ๊กเกอร์สีแดงติดเอาไว้พร้อมข้อความบอกให้ระมัดระวังการกระทบกระทั่งทวีตเตอร์อย่างชัดเจน

เนื่องเพราะทวีตเตอร์ที่บอกไปว่ามี Phase-Plug แบบเดือยแหลมกึ่งกลางโดมนั้น มันจะยื่นปลายแหลมออกมาจากแผงหน้าตู้เล็กน้อย หากไม่ระมัดระวังอาจจะไปกระทบโดนให้เสียหายได้

โดยชุดทวีตเตอร์นั้นติดตั้งอยู่ในโครงสร้างเฉพาะ ขณะที่ไดรเวอร์อีกตัว คือ มิด/เบส ไดรเวอร์ จะติดตั้งเข้ากับแผงหน้าตู้โดยตรง ซึ่งจะมองเห็นลักษณะคล้ายครีบกังหันนูนขึ้นมารอบๆ บริเวณพื้นกรวยอย่างชัดเจน

นอกจากแผงด้านหน้าจะมีส่วนปลายแหลมของ Phase-Plug ยื่นออกมาแล้ว ที่แผงหลังยังมีแผ่นพลาสติกคล้ายตะแกรงยื่นออกมาในส่วนครึ่งบนของโครงสร้างตู้ด้วย ซึ่งนั้นเป็นองค์ประกอบของระบบท่ออากาศที่ใช้เทคโนโลยี Power Port ในการออกแบบนั่นเอง

 

โครงสร้างตู้ขึ้นรูปด้วยไม้จริงดังที่ได้กล่าวไปแล้ว บริเวณแผงหน้าตู้ที่ติดตั้งไดรเวอร์สองชุดนั้นเป็นแผงโลหะ โดยตะแกรงปิดแผงหน้าเพื่อทำหน้าที่ปกป้องชุดตัวขับเสียงนั้น จะติดตรึงเข้ากับแผงหน้าตู้ด้วยดุมแม่เหล็ก 8 จุด ซึ่งทำให้แน่นหนาเอาการไม่น้อย

สำหรับขั้วต่อสายลำโพงที่แผงหลังซึ่งออกแบบมาให้ใช้งาน Bi-Wiring ได้นั้น เป็นขั้วต่อแบบ Binding Post ที่สามารถใช้หัวแจ๊กเสียบเข้าที่ช่องเสียบโดยตรงได้ทั้งแบบ Banana Jack และ Spade Jack หรือจะเปลือยสายแล้วคลายเกลียวสอดเข้าไปที่แกนขั้วเลยก็ได้

ในกรณีที่ใช้งานแบบ Single Wire จะมีสายจัมพ์ (Jumper Cable) ระหว่างขั้ว (+/-) ชุดเดียวกัน ติดมาให้จากโรงงานพร้อมสรรพ (ดังที่เห็นในรูป)

ใต้ตู้ที่มุมทั้งสี่ด้าน ได้แปะแผ่นยางรองกันลื่นให้มาจากโรงงานเป็นที่เรียบร้อย

Polk Legend L200 ระบุคุณสมบัติด้านเทคนิคเอาไว้ใน Owner’s Manual ว่าเป็นลำโพงแบบ 2-ทาง ทำงานในระบบ Power Port ทวีตเตอร์ขนาด 1 นิ้ว แบบ Ring Radiator มิด/เบส ไดรเวอร์ ขนาด 6.5 นิ้ว ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 46Hz-38,000Hz (-3dB) โดยมีการตอบสนองความถี่รวมในช่วง 38Hz-50,000Hz กำหนดให้ใช้กับแอมป์กำลังขับ 30-200W วัดค่าความไว (Sensitivity) ได้ 85.5dB/[email protected] อิมพีแดนซ์ 4 โอห์ม

ในส่วนของครอสส์โอเวอร์นั้น ออกแบบให้มีจุดตัวความถี่ที่ 2,600Hz โดยมี High Pass Slope (Acoustic) 18dB/Oct และ Low Pass Slope (Acoustic) 24dB/Oct

มิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 8.33 x 15.66 x 13.30 นิ้ว น้ำหนัก 10 กิโลกรัม/ตู้