ฤดูทางการเมือง : ฤดูแห่งการล้มเผด็จการ!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ฤดูทางการเมือง

: ฤดูแห่งการล้มเผด็จการ!

“อำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ใช่อำนาจเงิน แต่เป็นอำนาจทางการเมือง”

Walter Annenberg

 

ฤดูใบไม้ผลิถือว่าเป็นช่วงเวลาของความอบอุ่นที่เกิดขึ้นในแต่ละปี และนำมาซึ่งการผลิดอกออกใบของต้นไม้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ฤดูใบไม้ผลิจะเป็นสัญลักษณ์ของความหวังของชีวิต และเป็นดังการเริ่มต้นของสิ่งใหม่

ฉะนั้น ในบริบททางการเมือง ฤดูใบไม้ผลิจึงเป็นภาพแทนที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

หากเปรียบเทียบโดยนัยแล้ว ระบอบเผด็จการจะมี “ฤดูหนาว” เป็นตัวแทน

และยิ่งเผด็จการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงประชาชนมากเท่าใด ฤดูหนาวก็ยิ่งหนาวเหน็บมากขึ้นเท่านั้น

แต่ก็หลายครั้งที่ฤดูหนาวถูกล้มไปด้วยการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ของนักศึกษาประชาชน

 

ความหมาย

ในทางรัฐศาสตร์นั้น คำว่า “ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง” (political spring) ที่แม้จะมีการใช้มาก่อนกับการปฏิวัติยุโรปในปี 1848

แต่คำดังกล่าวถูกนำมาใช้อย่างมากในช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 และมีความหมายถึงกระแสการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา หรือขบวนปฏิวัติที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใด และอาจจะมิได้มีนัยถึงความสำเร็จ หรือการได้รับชัยชนะในการต่อสู้ แต่หากเป็นนัยของการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่ที่เกิดในสังคม

ในท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมือง เรามักจะมีความหวังเสมอกับความเป็นจริงของฤดูกาลว่า จะไม่มีปีไหนที่ฤดูใบไม้ผลิจะไม่มา

แม้ในบางปีฤดูใบไม้ผลิอาจจะมาช้าไปบ้าง…

แม้ฤดูหนาวจะแสนนานเพียงใด

แต่สุดท้ายฤดูใบไม้ผลิจะมาเยือน ซึ่งทำให้เกิดการเรียกความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดว่า เป็นเสมือนกับการมาของ “ฤดูใบไม้ผลิของชาติ” (The Spring of Nations)

หรืออาจเป็นดัง “ฤดูใบไม้ผลิของประชาชน” (Springtime of the People)

คำนี้จึงมีความหมายเชิงบวกในทางรัฐศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

ฤดูใบไม้ผลิในประวัติศาสตร์

การใช้คำว่า “ฤดูใบไม้ผลิ” เกิดขึ้นในบริบทของการเมืองยุโรปตั้งแต่การปฏิวัติของชนชั้นนายทุนในปี 1848 และการเกิดของวาทกรรมนี้ เป็นผลจากการต่อสู้ทางการเมืองที่นำไปสู่การสร้างพันธมิตรระหว่างชนชั้นกลางที่มีฐานะเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุน กับชนชั้นล่างที่เป็นกรรมาชีพ ที่ก่อตัวขึ้นจากการสร้างระบบอุตสาหกรรมของสังคมยุโรป

ในการต่อสู้ครั้งนี้ พวกเขาเรียกร้องให้ยกเลิก “ระบบศักดินายุโรป” เพราะไม่สอดรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เรียกร้องที่จะมีตัวแทนทางการเมือง ที่ไม่ใช่เป็นพวกชนชั้นสูงที่มาจากตระกูลขุนนางเท่านั้น การเปิดการเคลื่อนไหวเช่นนี้ ทำให้คนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบอบเก่า และถูกปราบปรามอย่างหนักในเวลาต่อมา

ฉะนั้น แม้การเรียกร้องทางการเมืองเช่นนี้ จะจบลงด้วยการปราบปราม อันเป็นเสมือนกับความพ่ายแพ้

แต่ผลด้านกลับเป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์ เพราะได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญกับการเมืองโลกและการเมืองยุโรป

โดยเฉพาะมรดกที่ถูกทิ้งไว้อย่างมีนัยสำคัญกับการเมืองสมัยใหม่คือการผลักดันแนวคิดที่รัฐต้องยอมรับการมีเสรีภาพของบุคคล และยอมรับหลักการพื้นฐานว่า การดำรงอยู่ในอำนาจของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับฉันทานุมัติจากผู้ถูกปกครอง

การเปิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 1848 (พ.ศ.2391) ที่แม้จะถูกปราบปราม แต่กลับกลายเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยในเวทีโลก ซึ่งทำให้นักวิชาการบางคนอาจจะเปรียบเป็นดังการมาของ “คลื่นประชาธิปไตยลูกแรก”

หรือถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ประชาธิปไตยสมัยใหม่” ในกระแสการเมืองโลก

ฤดูใบไม้ผลิในโลกสมัยใหม่

วาทกรรมฤดูกาลทางการเมืองถูกนำมาใช้อย่างมากในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเห็นอย่างชัดเจนจากการต่อสู้ของประชาชนกับระบอบอำนาจนิยม ซึ่งในช่วงหลังสงครามนั้น มีการลุกขึ้นสู้ในยุโรปที่จะต่อต้านกับการยึดครองของกองทัพสหภาพโซเวียต

เช่น การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนฮังการีในปี 1956 แต่ก็ไม่ได้ถูกเรียกว่าเป็นฤดูใบไม้ผลิ แน่นอนว่าพวกเขาไม่อาจเอาชนะอำนาจทางทหารของสหภาพโซเวียตได้เลย

ต่อมาในปี 1968 เกิดการเรียกร้องเสรีภาพของประชาชนที่เชโกสโลวะเกีย อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการหันกลับมาใช้คำนี้ และเรียกการลุกขึ้นสู้ในครั้งนี้ว่า “ปรากสปริง” (The Prague Spring) หรือ “ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงปราก”… การลุกขึ้นสู้ที่กรุงปรากเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้คำนี้ในศตวรรษที่ 20

แม้การต่อสู้ในการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยที่กรุงปรากจะพ่ายแพ้จากการปราบปรามของกองทัพโซเวียต

แต่ผลพวงของการต่อสู้กลับไม่ได้สูญสลายไปกับการพ่ายแพ้ในครั้งนั้น

การต้องเผชิญกับการปิดล้อมด้วยกำลังรถถังของกองทัพโซเวียต เป็นคำตอบในตัวเองของยุคสงครามเย็นว่า โอกาสที่ฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยจะชนะ

และนำไปสู่การปฏิรูปเพื่อสร้างประชาธิปไตยในเชคโกสโลวาเกีย แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และโซเวียตไม่มีทางที่จะปล่อยให้ “ปรากสปริง” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกอย่างแน่นอน

หากทดลองรวบรวมข้อมูลของการต่อสู้เรียกร้องจนทำให้เกิด “ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง” นับจากการลุกขึ้นสู้ที่กรุงปรากแล้ว เราจะเห็นถึงการต่อสู้ที่สำคัญในส่วนต่างๆ ของโลก ได้แก่

– ปรากสปริง : การลุกขึ้นสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกียในปี 1968

– โครเอเชียสปริง : การเรียกร้องขอสิทธิทางด้านภาษาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวโครเอเชียในยูโกสลาเวีย ในปี 1971

– โซลสปริง : ช่วงเวลาของการพาประเทศออกจากระบอบทหาร และเป็นเวลาของการสร้างประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980

– ปักกิ่งสปริง : การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนจีน ที่จบลงด้วยการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งในปี 1988

– ย่างกุ้งสปริง : การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนในเมียนมาเพื่อต่อต้านรัฐประหาร 1988 หรือที่เรียกว่า “การลุกขึ้นสู้ 8888” (วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88)

– กาฐมาณฑุสปริง : การก่อตัวของขบวนการประชาชน (The 1990 People’s Movement) ที่ต่อมาได้กลายเป็นขบวนการประชาธิปไตยในเนปาลในช่วงปี 1990

– เตหะรานสปริง : ช่วงเวลาของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเสรีนิยม และการปฏิรูปทางการเมืองในอิหร่านในระหว่างปี 1997-2005

ฤดูใบไม้ผลิในต้นศตวรรษที่ 21

การก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ของการเมืองโลก ยังเห็นถึงการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองที่มีความสำคัญ เช่น

– ดามัสกัสสปริง : การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในซีเรียหลังจากการเสียชีวิตของประธานาธิบดีอัสซาด (ผู้พ่อ) ในปี 2001 เป็นช่วงก่อนการเกิดของสงครามกลางเมือง

– ซีดาร์สปริง : การชุมนุมเรียกร้องอย่างต่อเนื่องในเลบานอนในปี 2005 โดยเฉพาะในเบรุต ขบวนการประท้วงเริ่มต้นจากประเด็นการสังหารนายกรัฐมนตรีฮารีรี และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และหันมาใช้วิธีอารยขัดขืน โดยมีเป้าหมายที่ต้องการให้ซีเรียถอนทหารออก

– ฮาราเรสปริง : การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในซิมบับเวในช่วงหลังจากปี 2008

– อาหรับสปริง : การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในช่วงปี 2010-2014

– ริยาดสปริง : เป็นอาหรับสปริงที่เกิดขึ้นในซาอุดีอาระเบียในช่วงปี 2011-2012 แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ได้กลายเป็นแรงกดดันให้ราชสำนักที่ริยาดต้องคิดเรื่องการปรับตัวของสถาบัน

– ควิเบกสปริงหรือเมเปิลสปริง : การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของขบวนนักศึกษาในเมืองควิเบกในปี 2012 และมีจุดเริ่มต้นจากการขึ้นราคาค่าหน่วยกิต

– บาเลนเซียสปริง : นักเรียนมัธยมปลายก่อการประท้วงใหญ่ที่เมืองบาเลนเซียในสเปนตอนต้นปี 2012 การชุมนุมเริ่มต้นจากปัญหาการตัดงบฯ การศึกษา และตำรวจใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้ประท้วง

– เวเนซุเอลาสปริง : การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเวเนซุเอลาในช่วงปี 2014

– ฮ่องกงสปริง : การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในชื่อของ “ขบวนการร่ม” ในฮ่องกงในปี 2014 และเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งในปี 2019

 

มิติร่วมสมัย

สําหรับฤดูใบไม้ผลิทางการเมืองของโลกร่วมสมัยนั้น คงต้องถือว่า “อาหรับสปริง” หรือ “ฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับ” เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของฤดูกาลทางการเมืองในศตวรรษที่ 21 แม้อียิปต์จะถอยกลับด้วยรัฐประหารในปี 2013 และเกิดสงครามในบางประเทศ เช่น ในซีเรีย และลิเบีย

การลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนฮ่องกงในปี 2014 เป็นจุดเริ่มต้นของ “ฮ่องกงสปริง” ในการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมปักกิ่ง และเปิดการเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งในปี 2019 พวกเขาอาจจะไม่ชนะ และแกนนำหลายคนถูกจับกุม แต่ผลพวงของ “ฤดูใบไม้ผลิในฮ่องกง” ยังดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้รัฐบาลจีนจะพยายามลดทอนความเป็นเสรีนิยมในฮ่องกงให้เหลือน้อยที่สุด

การต่อต้านรัฐประหารของนักศึกษาประชาชนอย่างเข้มแข็งในเมียนมาในต้นปี 2021 เป็นสัญญาณการมาของ “เมียนมาสปริง” อย่างชัดเจน แม้จะต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่พวกเขายังต่อสู้ไม่หยุดยั้ง จนสถานะทางการเมืองของรัฐบาลทหารถูกสั่นคลอนอย่างมาก

ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะหรือไม่ก็ตาม แต่เผด็จการทหารไม่อาจดำรงอยู่ด้วยความเข้มแข็งได้เหมือนกับรัฐประหารครั้งก่อน

จนเสมือนกระแสลมอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิกำลังพัดมาเยือนเมียนมาอีกครั้ง

 

ฤดูใบไม้ผลิในอนาคต

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา 2021 เป็นตัวแทนอย่างชัดเจนว่า กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยกำลังหวนกลับมาเป็นประเด็นสำคัญในเวทีโลกอีกครั้ง และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การต่อสู้ในประเทศหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อการก่อตัวของกระแสประชาธิปไตยในอีกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การต่อสู้ในเมียนมาจึงเป็นคำยืนยันที่ว่า ฤดูใบไม้ผลิไม่เคยห่างหายไป แม้ว่าผู้ปกครองพยายามจะสร้าง “อาณาจักรน้ำแข็ง” เพื่อดำรงฤดูหนาวไว้ต่อไป

แต่สุดท้ายก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของอากาศ ที่ประชาชนจะลุกขึ้นเรียกร้องหาฤดูใบไม้ผลิ…

แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากอยู่กับฤดูหนาว!