สันโดษ / นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

สันโดษ

 

สมมุติว่าวันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง (ตำรวจ, ทหาร, หรือ กอ.รมน.) ไปพบท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะอธิการบดี เพื่อขอให้ท่านเลิกจ้างนักวิชาการต่างประเทศคนหนึ่ง เพราะเขาเป็นสายลับของต่างชาติ และเป็นภัยต่อความมั่นคง อาจารย์ป๋วยจะทำอย่างไร

ผมเชื่อว่า อาจารย์ป๋วยคงขอให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงหลักฐานและเหตุผลการกล่าวหานั้น ถ้าหลักฐานมีเพียงว่านักวิชาการนั้นเคยรับทุนการวิจัยหรืออื่นๆ จาก NED ท่านก็คงอธิบายให้เจ้าหน้าที่นั้นเข้าใจว่า NED เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐสภาอเมริกัน มีงบประมาณของตนเองต่างหาก ไม่เกี่ยวอะไรกับ CIA ส่วน CIA จะแทรกเข้ามาในโครงการใดของ NED บ้าง ท่านคงไม่สามารถบอกได้ แต่ทุกโครงการที่ NED ให้การสนับสนุน ต้องกระทำโดยมีรายงานเปิดเผยแก่สาธารณะเสมอ CIA จะนำความรู้ที่ได้จากโครงการเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์อย่างไร ย่อมทำได้เท่าๆ กับหน่วยสืบราชการลับของจีนและรัสเซีย (และไทยด้วย หากหน่วยข่าวกรองของเราทำงานเป็น)

หน้าที่หนึ่งของอธิการบดีซึ่งอาจารย์ป๋วยไม่เคยล้มเหลวเลย คือการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ไม่ใช่เฉพาะตัวเสรีภาพเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่า “บรรยากาศ” ที่ทำให้นักวิชาการของมหาวิทยาลัย (รวมทั้งนักศึกษา) ไม่รู้สึกเลยในการปฏิบัติงานของตน ว่าถูกคุกคามจากอำนาจใดๆ การเลิกจ้างนักวิชาการ (ไม่ว่าจะทำเองหรือผ่านคณบดีคู่สัญญาก็ตาม) เพราะการตัดสินใจของหน่วยงานอื่นนอกมหาวิทยาลัย ย่อมทำลายบรรยากาศของการทำงานอย่างสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยเอง อันเป็นหน้าที่ของอธิการบดีในการผดุงและส่งเสริมให้แข็งแกร่ง

ผมจะไม่พูดล่ะครับว่า ทั้งนี้เพราะอาจารย์ป๋วยเป็นผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม, เป็นคนเก่งคนฉลาด, เป็นคนดี ฯลฯ แต่ที่แน่นอนก็คืออาจารย์ป๋วยเป็นผู้มี self-satisfaction หรือแปลอย่างที่ชาวพุทธไทยคุ้นเคยคือมีสันโดษ

…พอใจในสิ่งที่ตนมีและเป็น

 

คํานี้ถูกสอนในวงการพุทธไทยแบบพิลึกๆ อยู่ ประหนึ่งว่าเมื่อสามารถทำความพอใจกับสิ่งที่ตนมีและเป็นได้แล้ว ก็เสวยสุขที่เกือบจะวิมุตติไปเรื่อยๆ จนตาย เป็นอันจบ ดังนั้น พระภิกษุรูปใดบรรลุสันตุฏฐีธรรมแล้ว ก็นอนอยู่ในกุฏิรอฉันและทำวัตรเย็นไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรอีกนอกจากออกบิณฑบาตและกวาดลานวัด

ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่นะครับ สันโดษน่าจะหมายความว่า จากสถานะที่มีและเป็นอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นอธิการบดี, คณบดี หรือคนกวาดถนน ล้วนเป็นโอกาสที่จะทำอะไรอันยิ่งใหญ่ ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวมได้มากทั้งนั้น เช่น เป็นแรงงานที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ก็สามารถใช้สถานะนั้นเพื่อรวบรวมพลังของแรงงานด้วยกัน สร้างอำนาจต่อรองให้แรงงานทั้งหลายได้รับสวัสดิการที่มั่นคง, ปลอดภัย และเป็นธรรมโดยเสมอหน้ากัน ทั้งจากนายจ้างและจากรัฐ

นี่เป็นงานอันยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่มีใครสามารถทำได้โดยไม่มีสันโดษ คือพอใจในสิ่งที่ตนมีและเป็นเสียก่อน จึงจะสามารถทุ่มเทตนเองไปสู่อะไรอื่นที่ไม่ใช่ไต่เต้าไปแสวงหาอำนาจราชศักดิ์ส่วนตนเท่านั้น

ด้วยความรู้ในพุทธศาสนาเท่าหางอึ่ง ผมคิดว่าเป็นแนวโน้มในพุทธไทยที่มักตีความพุทธธรรมไปในทาง “นกรรม” หรือ inaction แทนที่จะเป็น “สกรรม” หรือ action เสมอ อาจเป็นเพราะ “นกรรม” ทำให้รัฐกำกับควบคุมได้ง่ายดี

 

ที่ผมยกอาจารย์ป๋วยเป็นตัวอย่างสมมุติ ก็เพราะประวัติของท่านที่รู้กันดีว่า ท่านเลือกจะเป็นคณบดี และอธิการบดี แทนที่จะเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติ ซึ่งมีอำนาจราชศักดิ์เหนือกว่าตำแหน่งที่ท่านเลือกอย่างเทียบกันไม่ได้ ทั้งนี้เพราะท่านต้องการทำสิ่งยิ่งใหญ่ให้แก่วงการอุดมศึกษาไทย และหลายอย่างที่ท่านได้ทำด้วยเวลาอันสั้นในตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย นอกจากเป็นคุณประโยชน์มหาศาลแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ยังมีผลกระทบที่เป็นคุณต่อวงการอุดมศึกษาในวงกว้างด้วย

สิ่งที่ท่านล้มเหลวก็คือ ไม่มีอธิการบดีคนไหนอยากเป็นอาจารย์ป๋วยอีกเลย ยิ่งในสมัยปัจจุบันซึ่งท่านกลายเป็นปูชนียบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไปแล้ว อธิการบดีในแต่ละมหาวิทยาลัยคิดอยากไต่เต้าไปเป็นรัฐมนตรีหรือองคมนตรีเสียยิ่งกว่าเป็นอาจารย์ป๋วยคนที่สอง

ไปร่วมเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐประหารก็ทำกันมาหลายคนแล้ว

 

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เพียงแค่อธิการบดี แต่ในเวลานี้ระบบเจ้าพนักงานของรัฐทั้งระบบ ไม่มีใครพอใจกับสถานะที่ตนดำรงอยู่ว่า จะเป็นฐานให้แก่การทำสิ่งยิ่งใหญ่อันเป็นคุณแก่ส่วนรวม แม้แต่ที่ดำรงตำแหน่งสูงมากๆ แล้วก็ตาม

ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่คนระดับอธิบดีของกระทรวงสาธารณสุข จะต้องออกมาแถลงสิ่งที่จริงบ้าง จริงครึ่งเดียวบ้าง คลุมเครือจนไม่รู้ว่าความจริงอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อช่วยให้นโยบายสาธารณสุขที่ผิดพลาดของรัฐบาลดูดีขึ้น แม้ในชีวิตจะไม่ได้เป็นปลัดกระทรวง แต่จากฐานของความเป็นอธิบดี ก็สามารถ “ติดอาวุธ” ให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณสุข และอันที่จริงก็เคยมีทั้งอธิบดีและปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยทำอะไรที่เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง จนเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้อยู่หลายท่านเหมือนกัน และแม้ว่าในการกระทำเช่นนั้น ท่านก็เคยถูกกีดกันรังแกจากฝ่ายการเมืองมาไม่น้อยเหมือนกันด้วย

ผู้พิพากษาก็เช่นเดียวกัน ในหน้าที่การงานเช่นนั้นโดยตัวของมันเองก็ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในนามของปวงชนชาวไทย ไม่คิดจะสร้างคำพิพากษาที่ถูกอ้างถึงเป็นหลักกฎหมายนิรันดรบ้างหรือ ไม่ใช่เพียงคำพิพากษาฎีกาเท่านั้น คำพิพากษาในทุกระดับก็อาจกลายเป็นหลักการที่นักกฎหมายต้องอ่านไปชั่วลูกชั่วหลานได้ (และไม่ใช่อ่านเพียงเพื่อสอบผ่านเนฯ แต่ต้องอ่านตั้งแต่เรียนกฎหมายระดับปริญญาตรีขึ้นมาทีเดียว)

ตำรวจหรือทหารที่ทำตาม “นายสั่ง” ก็เช่นเดียวกัน มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างการปฏิบัติเพื่อเอาใจนาย กับการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากประเทศชาติบ้านเมืองจะมีอนาคตไปอีกไกลข้างหน้า ทุกคนต้องมั่นใจว่าเขาจะไม่ถูกล่วงละเมิดหรือเลือกปฏิบัติจากอำนาจรัฐ ถ้าผู้บังคับกองร้อยควบคุมหน่วยของตนให้ทำตามกฎหมาย เขาอาจได้เลื่อนขั้นช้า แต่เขากลับจะได้รับเกียรติยศจากประชาชนเร็ว เป็น “ความสำเร็จ” อีกอย่างหนึ่งในชีวิตการงานที่ไม่ใช่ดาวหรืออำนาจราชศักดิ์

ไม่เฉพาะแต่เจ้าพนักงานของรัฐ พ่อค้าซึ่งย่อมอยากรวยเป็นธรรมดา แต่เขาอาจรวยได้ในระดับหนึ่งที่น่าพอใจด้วยการค้าที่เป็นธรรม เช่น ไม่ผูกขาดตลาดค้าปลีก หรือเปิดให้ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้โดยไม่เอาเปรียบเขา หรือบริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยไม่ใช้เงินเป็นเครื่องมือห้อยโหนไปสู่การผูกขาดที่แน่นขึ้นไปอีก

 

จากที่ทุกคนมีและเป็นนั้น ย่อมเป็นฐานให้แก่การทำอะไรที่เป็นคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถานะอันเล็กหรือต้อยต่ำอย่างไร แม้เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในสังคมไทย ความก้าวหน้าในชีวิตการงานไม่ได้อยู่ที่ผลงานเท่ากับการเอาอกเอาใจเจ้านาย แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าต้องแลกกับความตกอับเสียจนชีวิตไม่ได้เงยหัวเอาเลย

แม้ความตระหนักเช่นนี้ แล้วร่วมมือกันจนเกิดพลังผลักดันให้ระบบต่างๆ ให้รางวัลแก่ผลงาน แทนการประจบประแจง ก็นับเป็นการทำคุณประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะสำเร็จทันตาเห็นหรือไม่ก็ตาม

ผมไม่ได้ต้องการแสดงธรรมเทศนาใดๆ นะครับ ยอมรับอย่างที่กล่าวกันโดยทั่วไปด้วยว่า ความมักใหญ่ใฝ่สูงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม แต่ปัญหาของไทยอยู่ที่ว่า ลู่วิ่งสำหรับความมักใหญ่ใฝ่สูงมีอยู่ลู่เดียว คือลู่ที่จะนำผู้วิ่งไปใกล้อำนาจรัฐมากขึ้น

เป็นคณบดีแล้วก็อยากเป็นอธิการบดี เป็นอธิการบดีแล้วก็อยากเป็นรัฐมนตรี เป็นผู้พิพากษาแล้วก็อยากเป็นอธิบดีศาล เป็นอธิบดีศาลแล้วก็อยากไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการศาลฎีกา เป็นสาธารณสุขจังหวัดก็อยากไต่ไปถึงอธิบดีจนถึงปลัดกระทรวง จนเกษียณแล้วยังอยากได้เป็น ส.ว.แต่งตั้ง ทำไมชีวิตคนไทยจึงหาความนิ่งไม่ได้ (restless) ตลอดไปเช่นนี้

ทำไมเราจึงมีลู่วิ่งทางเดียว ตอบอย่างเร็วๆ ง่ายๆ ก็คือ เพราะรัฐไทยประสบความสำเร็จในการทำให้ลู่วิ่งทางอื่นหายไป หรือหากทำให้หายไม่ได้ก็หาทางผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของลู่วิ่งเดียวกับของรัฐ ชะตากรรมของผู้ที่ไม่ยอมวิ่งอยู่ในลู่เดียวของรัฐไทยเป็นอย่างไรก็เห็นๆ กันอยู่ หนึ่งในนั้นคืออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งคุณความดีและความสามารถของท่านยากที่จะกลบลบเลือนได้ ดังนั้น เขาจึงดึงแต่ตัวท่านเข้ามาบูชากราบไหว้ในลู่ของรัฐ แต่กลบเกลื่อนเลือนลบลู่วิ่งอิสระของท่านไปเสีย

 

ด้วยเหตุดังนั้น สันโดษที่จะเกิดแก่ชีวิตผู้คนในสังคมได้จริง จึงต้องเป็นสังคมที่มีลู่วิ่งอันหลากหลายที่ไม่ถูกรัฐครอบงำอยู่ทางเดียวดังที่เป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

ลู่วิ่งทางเศรษฐกิจ, ทางการเมือง, ทางวัฒนธรรม, ทางวิทยาศาสตร์, ทางสิ่งประดิษฐ์, ทางวรรณกรรม ฯลฯ ที่มีหลายเส้นทาง และจากสถานะอันหลากหลายที่แต่ละคนมีและเป็นอยู่ ก็สามารถวิ่งไปบนลู่ที่เขาเลือกได้ เกิดความพอใจหรือภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำ อาจเป็นเรื่องเล็กๆ ในสายตาคนอื่น แต่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา

เราได้ยินเรื่องราวของคนหนุ่มสาวอเมริกันในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถสร้างธุรกิจใหม่ๆ ของตนเอง จนกลายเป็นมหาเศรษฐีหลายต่อหลายคน เบื้องหลังความสำเร็จของบุคคลเหล่านี้ ยังมีคนที่ไม่มีชื่อเสียงเช่นนั้น แต่ก็สร้างและค้นพบเส้นทางใหม่ๆ ของตนเอง ที่ทำให้ได้ใช้ชีวิตทางเศรษฐกิจตามความปรารถนาของตนเอง ไม่รวยล้นฟ้าแต่ก็อยู่ได้อย่างสบายพอสมควร โดยไม่ต้องวิ่งในลู่วิสาหกิจขนาดใหญ่เพื่อไต่เต้าขึ้นไปเป็น CEO เงินเดือนแพงเพียงเส้นทางเดียว

จะทำให้เกิดลู่วิ่งอันหลากหลายชนิดในทางเศรษฐกิจได้จริง ก็ต้องสร้างเงื่อนไขที่อำนวยให้เกิดความเป็นไปได้จริงในสังคม เช่นหาทางกำจัดการกินหัวคิวของรัฐออกไปให้หมด นับตั้งแต่เทศกิจขึ้นไปถึงกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งกำอำนาจ “อนุมัติ” ไว้เต็มมือ

ผมขอพูดถึงลู่วิ่งเพียงลู่เดียวเป็นตัวอย่าง ในประเทศไทยปัจจุบัน ระบบเกียรติยศเกือบทั้งหมดถูกผูกขาดโดยรัฐ แม้แต่ “รางวัล” ต่างๆ ที่เอกชนเป็นผู้ให้ ก็ไม่วายที่จะเดินตามระบบเกียรติยศที่รัฐวางไว้ เช่น นักร้องรางวัลทุกคนล้วนเปล่งเสียงภาษาไทยได้ตรงกับที่ราชบัณฑิตกำหนด อันเป็นสำเนียงภาษาไทยที่มีคนไทยใช้จริงในชีวิตน้อยมาก จิตรกรรมรางวัลเอกชนก็วนอยู่กับภาพวังและวัดไปทุกปี

ใครคิดสร้างรางวัลอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา สิ่งแรกที่มักจะทำกันคือนำเอาไปถวายเจ้านายชั้นสูงก่อน

 

ระบบเกียรติยศภายใต้ฉายาอำนาจของรัฐเพียงระบบเดียวที่มีอยู่ ย่อมไม่ทำให้เกิดลู่วิ่งอันแตกต่างหลากหลาย อันจะเปิดให้คนในทุกสถานะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตามความสนใจและความถนัดของตนได้ เรามักพูดถึง “น้ำเน่า” กับละครทีวี แต่ที่จริงแล้วอะไรอื่นๆ ในสังคมของเราก็มีลักษณะ “น้ำเน่า” ไม่ต่างกันนัก เช่น จนกลายเป็นทุนข้ามชาติกันไปไม่น้อยแล้ว พ่อค้าไทยก็ยังแข่งขันกันด้วยการอิงหรือซื้ออำนาจรัฐอยู่เหมือนพ่อค้าหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง หรือข้าราชการจำนวนมากต่างพากันดีใจที่เกิดการรัฐประหาร เพราะจะเกิดการเสียกระบวนในลู่วิ่งอย่างใหญ่ จึงเปิดโอกาสให้มีการเกาะกลุ่มวิ่งกันใหม่ ผมอยากเดาว่าก็เหมือนข้าราชการจำนวนไม่น้อยคงดีใจอย่างนี้แหละในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

การสร้างความหลากหลายให้เกิดการลู่วิ่งต่างๆ นานาในชีวิตของผู้คน จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งของความสันโดษ อันเป็น “ความดี” ที่เกิดขึ้นได้ทั้งเพราะบุคคลและสังคม