โฟกัสพระเครื่อง : มงคลอนุสรณ์ 100 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม

(ซ้าย) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) (ขวา) เหรียญอนุสรณ์ 100 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

โคมคำ / [email protected]

 

มงคลอนุสรณ์ 100 ปี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

วัดระฆังโฆสิตาราม

 

“สมเด็จพระพุฒาจารย์” (โต พรหมรังสี) พระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย

เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร สมัยรัชกาลที่ 4-5

ธรรมะและวัตรปฏิบัติของสมเด็จโต วัดระฆังฯ ยังคงจับจิตตรึงใจผู้คนทุกยุคสมัย แม้กระทั่งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เป็นตำนานที่เล่ากี่ครั้งกี่หนก็บังเกิดแต่ความรู้สึกดี

ทั้งนี้ วัดระฆังโฆสิตารามได้จัดสร้าง “วัตถุมงคลอนุสรณ์ 100 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม” เนื่องในการบำเพ็ญกุศลและเพื่อเป็นอนุสรณ์ครบ 100 ปี แห่งมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ในวันที่ 22 มิถุนายน 2515

วัตถุมงคลที่ดำเนินการจัดสร้างครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.พระพุทธรูปบูชา 2.พระรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) 3.พระกริ่งพิมพ์พระประธาน 4.พระเครื่องพิมพ์สมเด็จสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก

และ 5.เหรียญพระรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

 

กล่าวสำหรับเหรียญพระรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จัดสร้างเป็น 2 แบบด้วยกันคือ ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 ซ.ม. และขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ซ.ม. โดยอาจารย์สนั่น ศิลากร เป็นผู้ออกแบบ มอบให้กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ เป็นผู้ผลิต

เหรียญทั้งสองขนาด มีเนื้อทองคำ 1,000 เหรียญ เนื้อเงิน 2,514 เหรียญ และเนื้อทองแดง 84,000 เหรียญ

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังดำเนินการจัดสร้าง “เหรียญชุดกรรมการ” ด้วยเนื้อทองคำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.1 ซ.ม. เพียงขนาดเดียว สำหรับนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ส่วนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 ซ.ม. และขนาด 4.1 ซ.ม. สร้างด้วยเนื้อทองแดง มอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณในการช่วยเหลือทั้งกำลังทรัพย์และกำลังกาย

ลักษณะเป็นเหรียญกลม ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต หันหน้าเฉียงครึ่งองค์

ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์ มีข้อความล้อมรอบว่า “อนุสรณ์ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๕”

ในครั้งนั้น คณะกรรมการจัดสร้างได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองเป็นปฐมมหามงคลราชาฤกษ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2514 ตามกำหนดฤกษ์ เวลา 15.35-16.12 น.

การจัดสร้างวัตถุมงคลอนุสรณ์ 100 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จึงถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญแห่งการสร้างวัตถุมงคลครั้งยิ่งใหญ่

 

สมเด็จฯ ถือกำเนิดตอนเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2331 ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก จุลศักราช 1150 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

บิดาไม่ปรากฏนาม มารดาชื่อ “เกศร์” หรือ “เกตุ” บางตำราว่าชื่อ “นางงุด” ดั้งเดิมเป็นชาวอุตรดิตถ์ ก่อนโยกย้ายมาให้กำเนิดท่านที่บ้าน ต.ไก่จ้น อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอินทรวิหาร พระบวรวิริยเถระ (อยู่) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม (วัดบางลำพูบน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นนาคหลวง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอุปัชฌาย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม เล่าเรียนจากสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) วัดระฆังฯ และได้เรียนต่อกับสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุฯ นอกจากนี้แล้วไม่มีบันทึกไว้ชัดเจน

แต่ที่ทราบคือ ครั้งเป็นสามเณรโต มักได้รับคำชมเชยจากครูบาอาจารย์ว่ามีความทรงจำดีเยี่ยม มีปฏิภาณเป็นยอด ยิ่งเมื่อเป็นพระภิกษุเต็มตัว ยิ่งทรงคุณ ทรงความรู้ ทรงภูมิธรรม มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม เฉลียวฉลาดแตกฉานในวิทยาการต่างๆ

สมเด็จโต นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน นอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิทยาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล “พระสมเด็จ” ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทย

ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน

 

ท่านยังปรากฏเกียรติคุณความเป็นพระนักเทศน์ระดับชั้นธรรมกถึก ในอดีตพระเถระผู้ใหญ่ระดับชั้นพระราชาคณะ ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าสวดฉันจังหันและแสดงธรรมเทศนาในพระบรมมหาราชวัง โดยมีในหลวงทรงเป็นองค์ประธาน

สมเด็จโต เทศน์กัณฑ์มัทรีได้ไพเราะเพราะพริ้ง จนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงโปรดฯ ให้เป็นนาคหลวง และรัชกาลที่ 2 พระราชทานเรือกราบกันยา หลังคากระแชง ซึ่งเป็นเรือทรงในพระองค์เจ้าให้ไว้ใช้ในกิจส่วนตัว

รัชกาลที่ 4 ก็ทรงโปรดการเทศน์ของสมเด็จฯ เป็นอย่างมาก ทรงตรัสว่า “ถ้าไม่ได้เห็นขรัวโตหลายๆ วันครั้งใด รู้สึกเหงาๆ ได้สนทนากับขรัวโตแล้วสบายใจดี”

รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิตติ

ถัดมาอีก 2 ปี ทรงสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์รูปที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบแทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศ

ในปีที่ 5 แห่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ไปดูการก่อสร้างพระโต วัดบางขุนพรหมใน เกิดอาพาธด้วยโรคชราภาพ และถึงแก่มรณภาพบนศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร) ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2415

สิริอายุ 85 ปี พรรษา 65