เศรษฐกิจ/ตลาดยางป่วน…กวนใจ “บิ๊กฉัตร” ไอ้โม่งทุบราคาเก็งกำไรหรือการเมือง วัดฝีมือจัดการอยู่หมัดหรือขายผ้าหน้ารอดก่อน

เศรษฐกิจ

ตลาดยางป่วน…กวนใจ “บิ๊กฉัตร”

ไอ้โม่งทุบราคาเก็งกำไรหรือการเมือง

วัดฝีมือจัดการอยู่หมัดหรือขายผ้าหน้ารอดก่อน

เวียนมาอีกครั้ง สำหรับประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นแทบทุกปีกับปัญหาราคายางพาราร่วง

ที่ครั้งนี้ดูเหมือนจะผิดปกติกว่าหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคายางร่วงลงเร็วและแรงกว่า 12 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ภายในเพียงไม่กี่สัปดาห์

ส่งผลให้ราคายางแผ่นรมควัน ลดลงจาก 70 บาทต่อกิโลกรัม เหลือเพียง 50 บาทปลายๆ เท่านั้น

ส่วนน้ำยางก็เหลือเพียง 40 บาทต่อกิโลกรัม สร้างความหวาดเสียวไม่น้อย เพราะอีกนิดเดียวราคาก็จะกลับไปแตะเหลือกิโลกรัมละ 30 บาทกว่า หรือตก 3 โลร้อย ซ้ำรอยฝันร้ายในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในหลายจังหวัดในภาคใต้ เริ่มรวมตัวกันแสดงความไม่พอใจ ยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อไปยังรัฐบาล โดยสาระสำคัญส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ 5 บริษัทผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของประเทศ หรือที่เรียกกันว่า 5 เสือ เป็นผู้ที่ทำให้ราคายางตก จากการบิดเบือนกลไกราคาตลาดภายในประเทศหรือไม่

รวมทั้ง เหตุใด การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่จัดตั้งขึ้นมาเพียงดูแลชาวสวนยางโดยเฉพาะ จึงปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้โดยไม่ทำอะไร

เล่นเอา “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ไม่สุข สั่งด่วนให้ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. และ “บิ๊กเบี้ยว” พล.อ ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด กยท. ใช้ความขึงขังของทหาร เรียก 5 เสือมาเคลียร์ใจประเด็นการทุบราคายางตามที่ปรากฏเป็นข่าวหรือไม่

หลังเสร็จสิ้นการประชุมเคลียร์ใจ ก็ได้เห็นภาพบิ๊กเบี้ยว นายธีธัช และบรรดา 5 เสือ ถ่ายรูปร่วมกันอย่างชื่นมื่น

โดย นายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) 1 ใน 5 เสือ ออกมาให้ข่าว และตั้งข้อสังเกตว่า การร่วงลงของราคาครั้งนี้ผิดปกติจริง

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากการเก็งกำไรของกองทุนข้ามชาติในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์มาร์เก็ต) โดยเฉพาะในตลาดเซี่ยงไฮ้ ซึ่งแต่ละวันซื้อขายกันไม่ต่ำกว่า 6 ล้านตันต่อวัน ซึ่งถือเป็นปริมาณที่มหาศาลมาก เมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตยางที่สามารถผลิตจริงได้เพียง 12 ล้านตันต่อปี

ดังนั้น หากจะมองว่า 5 เสือเป็นต้นเหตุ จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ถึงขนาดเอาเงินที่มีรวมกันก็ยังสู้ทุนต่างชาติไม่ได้ แล้วจะทุบราคายางได้อย่างไร

สวนทางกับนายธีธีช เมื่อถามประเด็นที่มาเคลียร์ใจได้ความว่าอย่างไร กลับอ้ำอึ้ง บ่ายเบี่ยงที่จะฟันธง เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในวงการยางล้วนมีแต่เสือ สิงห์ ตอบอะไรไปก็ล้วนแต่จะเจ็บตัว โดนทั้งขึ้นทั้งร่อง ถูกนำมาเป็นประเด็นโจมตีได้หมด

ไม่แน่ว่าหากพูดตรงๆ แรงๆ ออกไปราคายางอาจโดนบรรดาเหล่าเสือสิงห์กระหน่ำทุบให้ร่วงลงหนักกว่าเดิม

เมื่อพูดความจริงไม่ได้ นายธีธัช ก็รู้จักเล่นกับกระแสเล่นข่าวให้เกิดประโยชน์ โดยประกาศจับมือกับเหล่า 5 เสือ ร่วมกันออกมาตรการดันราคายางให้สูงขึ้น

หากดูเนื้อในของมาตรการที่ประกาศออกมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน จะเห็นว่าเป็นมาตรการที่จัดทำไว้เป็นมาตรการประจำอยู่แล้วตามฤดูกาลราคาร่วง ไม่ได้มีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติมให้มาตรการเข้มขึ้นแต่อย่างใด

แต่ใช่ว่าวิธีที่ทำอยู่จะเปล่าประโยชน์เสียทีเดียว เมื่อกระทรวงเกษตรฯ ประกาศลั่นผ่านสื่อ แสดงจุดยืนแข็งขันเอาจริงต่อการแก้ไขปัญหาราคายาง โดยจะเลื่อนถกระดับรัฐมนตรี 3 ชาติ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกให้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมคือช่วงปลายปี เป็นกลางปีนี้เพื่อออกมาตรการหยุดขายยางพาราพร้อมกัน

ส่งผลจิตวิทยาให้พวกไอ้โม่งที่ปล่อยข่าวลือเพื่อบิดเบือนราคาหวังผลเก็งกำไรราคายาง เกิดอาการตกใจ ราคาดีดตัวกลับมาดีขึ้นต่อเนื่องกัน 2-3 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เข็นอีก 4 มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายกรอบเวลาของมาตรการที่เคยนำมาใช้ในปีก่อนออกไปอีก 1-3 ปี อาทิ ขยายเวลามาตรการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ไปจนถึงเดือนเมษายน 2562 ขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ ออกไปจนถึงเดือนมีนาคม 2563

แม้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐแสดงท่าทีเร่งแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว แต่ดูเหมือนยังไม่เป็นที่ถูกใจของชาวสวนยาง บางกลุ่มยกพวกมาหาบิ๊กฉัตรถึงกระทรวงเกษตรฯ และมีบางกลุ่มที่ยังรีรอ แค่ทำท่าข่มขวัญว่าเตรียมออกมาเคลื่อนไหว เพราะยังไม่พอใจนโยบายที่ออกมายังแก้ไม่ตรงจุด ชาวสวนที่เดือดร้อนยังไม่ได้ประโยชน์แท้จริงจากนโยบายรัฐ และยังไม่เชื่อว่าจะช่วยยกระดับราคายางให้เพิ่มขึ้นได้

ที่แสดงจุดยืนชัดเจนแล้ว คือ นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกเรียกร้องให้บิ๊กฉัตรลาออก เพราะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา เหมือนกับสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เคยล้มเหลวในการแก้ไขปาล์มน้ำมันมาแล้ว

แต่ดูเหมือนแรงกดดันยังไม่มากพอ เพราะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดชัดเจน ไม่ปรับบิ๊กฉัตรออกจาก ครม. แน่นอน

สิ้นคำนายกฯ วันต่อมา พล.อ.ฉัตรชัย ตั้งโต๊ะแถลงข่าว กระทรวงเกษตรฯ ออกมาตรการเพิ่มอีก 2 ข้อ ซึ่ง 1 ใน 2 ข้อ คือเร่งรัดให้มีการใช้ยางในประเทศและยางในภาครัฐอย่างจริงจัง

แถมมีข้อสรุปความต้องการใช้ยางของ 10 หน่วยงาน กระทรวงต่างๆ เรียบร้อย รวม 3.5 หมื่นตัน

ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย 21,299.308 ตัน กระทรวงคมนาคม 5,357 ตัน กระทรวงกลาโหม 857.65 ตัน กระทรวงศึกษาธิการ 748.749 ตัน กระทรวงเกษตรฯ 212.69 ตัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 187.47 ตัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 15 ตัน และกรุงเทพมหานคร 14.247 ตัน ซึ่งจะใช้งบประมาณภายใต้งบประมาณที่เหลืออยู่อีกเพียง 3 เดือนของปีงบประมาณ 2560

ส่วนจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ต้องตามดูกันต่อ เพราะ พล.อ.ฉัตรชัย ยังเอ่ยปากเองว่า ค่อนข้างหนักใจ เพราะเรื่องการใช้ยางในภาครัฐมีการพูดกันมาร่วมปี แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการตั้งงบประมาณ

ดังนั้น ปีงบประมาณ 2560 เหลือแค่ 3 เดือนนิดๆ พล.อ.ฉัตรชัย ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทันหรือไม่

หรือต้องผลักดันการใช้ยางในภาครัฐต่อสำหรับปีงบประมาณ 2561 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 หรือขั้นแปรญัตติ ก่อนจะโหวตมีผลบังคับใช้ในวาระ 3

คงต้องวัดกึ๋นกันดูว่า บิ๊กฉัตร จะทำได้สำเร็จเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบแดงหรือไม่ นอกเหนือจากการทุ่มงบประมาณปรับปรุงกระทรวงเกษตรฯ ที่ร่ำลือกันว่าสวยงาม เว่อร์วังมาก

หรือทำได้แค่ลมปาก ช่วยขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน!!